ดร. ริชาร์ด พีเพอร์คอร์น ตัวแทนขององค์การอนามัยโลกในเขตยึดครองปาเลสไตน์ กล่าวในการแถลงข่าวว่า ตอนนี้ อัล-อาห์ลี เป็นโรงพยาบาลแห่งเดียวทางตอนเหนือของฉนวนกาซา ที่ผู้บาดเจ็บสามารถรับการผ่าตัดได้ และมีผู้ป่วยที่ต้องการการดูแลฉุกเฉินอย่างล้นหลาม จนกระทั่งเมื่อ 2 วันก่อน โดยขณะนี้ โรงพยาบาลแห่งนี้ไม่มีห้องผ่าตัดอีกต่อไป เนื่องจากขาดแคลนทั้งเชื้อเพลิง, พลังงาน, เวชภัณฑ์, และบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งผู้เชี่ยวชาญอื่นๆ มันหยุดทำงานโดยสิ้นเชิง และกลายเป็นเพียงบ้านพักรับรองเท่านั้น โดยได้รับการดูแลน้อยมาก
พีเพอร์คอร์นกล่าวต่อว่า สถานพยาบาลเพียง 9 แห่งจากทั้งหมด 36 แห่งเท่านั้น ที่ยังใช้งานได้บางส่วนในฉนวนกาซา แต่ทั้งหมดนี้อยู่ในทางตอนใต้ จริงๆ แล้วคือ ไม่มีโรงพยาบาลที่ใช้งานได้จริงเหลืออยู่ในทางตอนเหนือเลย อัล อาห์ลีเป็นโรงพยาบาลสุดท้ายในตอนนี้ ที่มีการใช้งานเพียงเล็กน้อย แต่ไม่รับผู้บาดเจ็บรายใหม่เลย อย่างไรก็ดี องค์การอนามัยโลกยังคงจะพยายามจัดหาสิ่งอำนวยความสะดวกด้านสุขภาพ ในฉนวนกาซาทางตอนเหนือ แต่ถ้าไม่มีเชื้อเพลิง, เจ้าหน้าที่, และความต้องการที่จำเป็นอื่นๆ อย่างยารักษาโรค ผู้ป่วยทุกคนก็จะเผชิญความเจ็บปวดและเสียชีวิตลงอย่างช้าๆ
ขณะที่นายฌอน เคซีย์ ผู้ประสานงานทีมแพทย์ฉุกเฉินขององค์การอนามัยโลก ก็ได้เล่าถึงสิ่งที่เกิดขึ้นและไม่อาจทนได้ว่า ที่โบสถ์แห่งหนึ่งในย่านอัล-อาห์ลี ซึ่งถูกดัดแปลงเป็นวอร์ดชั่วคราว โบสถ์แห่งนี้มีผู้ป่วยประมาณ 30 คน มีทั้งผู้ป่วยติดเตียง บางรายมีบาดแผลสาหัส เราเห็นผู้ป่วยจำนวนมากที่บอกว่า พวกเขาไม่ได้อาบน้ำหรือเปลี่ยนเสื้อผ้ามาหลายสัปดาห์แล้ว ผู้ป่วยร้องไห้ด้วยความเจ็บปวด และพวกเขาก็ร้องขอน้ำด้วย มันแทบเป็นเรื่องที่ทนไม่ไหวเลย ที่เห็นใครสักคนใส่เฝือก แล้วมีสายโยงยาง ต้องมาร้องขอน้ำดื่ม
เคซีย์กล่าวต่อว่า การบอกว่าอัล-อาห์ลีกลายเป็นบ้านพักรับรอง เป็นการบ่งบอกที่เป็นนัยถึงระดับการดูแล ตอนนี้ อัล-อาห์ลี กลายเป็นสถานที่ที่ผู้คนรอความตาย เจ้าหน้าที่ทางการแพทย์ที่เหลืออยู่ที่อัล-อาห์ลี เป็นแพทย์วัยรุ่น ที่ยังไม่สามารถทำการผ่าตัดได้ ขณะนี้องค์การอนามัยโลกกำลังเร่งทำงาน เพื่อพยายามในการเคลื่อนย้ายผู้ป่วยเหล่านี้ ให้ได้ไปรักษายังสถานพยาบาลทางตอนใต้ของฉนวนกาซาต่อไป