“สุรพงษ์” ชี้ขนส่งทางรางไทยเฟื่องฟู BTS ฝากรัฐปี 67 วางแผนเชื่อมระบบโดยสารครบวงจร

“สุรพงษ์” บีทีเอส เผยระบบรถไฟฟ้าของไทยใกล้สมบูรณ์ ปี 67 ฝากรัฐบาลเชื่อมต่อระบบโดยสารสาธารณะครบวงจร เพิ่มความสะดวกประชาชน ส่วนรถไฟฟ้าสายสีเขียว ยอดหนี้รวมภาระดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท ระบุกทม.อยู่ระหว่างเดินเรื่องตามกฎหมาย และเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้กับบีทีเอส

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC เปิดเผยกับทีมข่าว TOPNEWS ถึงวิสัยทัศน์เกี่ยวกับระบบการขนส่งทางราง โดยเฉพาะระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทย ว่า วันนี้ระบบราง หรือ ระบบรถไฟฟ้าของประเทศไทยถือว่า เกือบจะสมบูรณ์ ซึ่งเหลือเพียงไม่กี่เส้นทาง อย่าง รถไฟฟ้าสายสีเทา ช่วงวัชรพล-ทองหล่อ สีน้ำตาล ช่วงแคราย – ลำสาลี (บึงกุ่ม) สีเงิน บางนา-สุวรรณภูมิ ซึ่งหากระบบหลักเหล่านี้เเล้วเสร็จ การเดินทางโดยรถไฟฟ้าก็จะครบถ้วนสมบูรณ์

ทั้งนี้ เมื่อระบบรถไฟฟ้าของไทยมีความครอบคลุมตามเส้นทางต่างๆ สิ่งที่รัฐบาลควรดำเนินการคือ การสนับสนุนส่งเสริมระบบเสริมต่างๆ มากขึ้น ทั้งรถโดยสารสาธารณะ รถจักรยานยนต์รับจ้าง เนื่องจากรถไฟฟ้าไม่สามารถที่จะให้บริการ แบบถึงหน้าบ้าน หรือ door to door ได้ จะต้องมีการเชื่อมระบบขนส่งรูปแบบอื่นๆ ร่วมด้วย เพื่อให้ประชาชนเดินทางสะดวก และเปลี่ยนมาใช้บริการระบขนส่งสาธารณะ แทนการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล เพื่อลดการใช้พลังงานและลดมลพิษที่เกิดขึ้นได้

 

 

นายสุรพงษ์ ระบุว่า สำหรับแผนการให้บริการของบีทีเอส ในปี 2567 มีความมุ่งมั่นในเรื่องของคุณภาพและความปลอดภัยมาตั้งแต่เริ่มให้บริการรถไฟฟ้า และเป็นเรื่องสำคัญที่ทำให้บริษัทได้รับความไว้วางใจและได้รับใบรับรองมาตรฐานจากหน่วยงานทั้งในและต่างประเทศ และที่สร้างความภาคภูมิใจให้กับบริษัท คือ ในเรื่องของการพัฒนาคุณภาพและสิ่งแวดล้อมที่จะนำไปสู่การพัฒนาที่ยังยืน โดยบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ได้รับคัดเลือกให้เป็นสมาชิกดัชนีความยั่งยืนดาวโจนส์ หรือ Dow Jones Sustainability Indices (DJSI) 2023 ในกลุ่มตลาดเกิดใหม่ (Emerging Markets) เป็นปีที่ 6 ติดต่อกัน และในปีนี้ บีทีเอส กรุ๊ปฯ ยังได้รับการจัดอันดับให้เป็นอันดับหนึ่งของโลก ในกลุ่มอุตสาหกรรมคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม (Transportation and Transportation Infrastructure) ต่อเนื่องเป็นปีที่ 4 แสดงให้เห็นถึงการทำงานที่มีประสิทธิภาพ และจะดำเนินการในเรื่องนี้ต่อไป

 

ขณะเดียวกัน ในส่วนของแผนการลงทุน เนื่องจากในปี 2567 ในส่วนของรถไฟฟ้าสายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี จะเปิดให้บริการเต็มระบบ พร้อมเร่งดำเนินการส่วนต่อขยายที่เชื่อมไปยังเมืองทองธานี โดยจะเร่งดำเนินการให้เร็วที่สุด รวมถึงการติดตามและให้ความสนใจกับโครงการรถไฟฟ้าสายใหม่ๆ ที่รัฐบาลจะเร่งดำเนินการ ทั้งโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม โครงการรถไฟฟ้าสายสีเทา โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล โครงการรถไฟฟ้าสายสีเงิน ซึ่งหากบริษัทจะสามารถเข้าร่วมได้ก็จะดำเนินการทันที

 

ข่าวที่น่าสนใจ

นายสุรพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของการให้บริการรถไฟฟ้าสายสีเหลือง (ลาดพร้าว-สำโรง ) และสายสีชมพูนั้น ค่อนข้างได้รับการตอบรับที่ดีจากประชาชนที่มาใช้บริการ โดยเฉพาะช่วงที่เปิดให้ประชาชนได้ทดลองใช้บริการฟรี พบว่าทั้งสองเส้นทางมีประชาชนมาใช้บริการเฉลี่ยเกือบ 1 แสนคนต่อวัน ซึ่งหลังจากนี้ เพื่อให้ประชาชนหันมาใช้บริการมากขึ้น บริษัทจึงได้มีเเผนทำการตลาดเพื่อตอบโจทย์ประชาชนที่มาใช้บริการทั้ง การเดินทางระยะสั้น และการเดินทางระยะยาว โดยขณะนี้ อยู่ระหว่างการศึกษารายละเอียด

 

แต่เชื่อว่า การให้บริการรถไฟฟ้า ไม่ว่าจะเส้นทางไหน จะต้องใช้ระยะเวลาเนื่องจากประชาชนจะต้องมีการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และขณะนี้บริษัทได้เปิดให้บริการเพียง 4-5 เดือน จึงยังต้องใช้ระยะเวลาในการดำเนินการ รวมถึงขณะนี้จำนวนนักท่องเที่ยวยังไม่ได้กลับเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศ 100% เชื่อว่า หากสถานการณ์กลับมาปกติจำนวนผู้ใช้บริการจะใกล้เคียงกับที่คาดการณ์ไว้ที่ 1 แสนคนต่อวัน

 

นายสุรพงษ์ ระบุว่า ในส่วนของการเชื่อมต่อการเดินทางของรถไฟฟ้าแต่ละสายนั้น เนื่องจากรถไฟฟ้าสายสีเขียวและสายสีชมพู เป็นคนละเจ้าของโครงการ โดยรถไฟฟ้าสายสีเขียวเป็นของกรุงเทพมหานคร (กทม.) บริษัทเป็นเพียงผู้รับจ้างเดินรถ ขณะที่รถไฟฟ้าสายสีชมพู เป็นของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย(รฟม.) บริษัทเป็นผู้รับสัมปทาน ในการเชื่อมต่อการเดินทางโดยใช้สถานีร่วมที่วัดพระศรีมหาธาตุ อยู่ระหว่างการประสานทั้งสองหน่วยงานในการให้ความยินยอมเห็นชอบการเชื่อมต่อระบบ ซึ่งประตูเชื่อมต่อจะเปิดให้บริการได้ช่วงก่อนปีใหม่

 

ส่วนนโยบายค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสายนั้น ขณะนี้บริษัทได้มีการหารือเป็นการภายในถึงมาตรการนี้ ทั้งในเรื่องทางเทคนิค ผลกระทบที่จะเกิดขึ้น รวมถึงความช่วยเหลือจากรัฐบาล หากจะมีการดำเนินนโยบายนี้ รอเพียงรัฐบาลเชิญเข้าหารือร่วมกัน และมีความเป็นไปได้ที่จะเห็นการจัดเก็บค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย เพราะขณะนี้รัฐบาลได้มีการดำเนินการในเส้นทางที่รัฐบาลเป็นเจ้าของ อาทิ รถไฟฟ้าสายสีเเดง รถไฟฟ้าสายสีม่วง เป็นต้น

 

 

 

ส่วนการเก็บค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย ที่เปิดให้บริการประชาชนฟรีมากว่า 4 ปี นายสุรพงษ์ ระบุว่า ขณะนี้ได้รับ การประสานล่วงหน้าจากกทม. รวมถึงได้รับการรับแจ้งอย่างเป็นทางการ ว่าจะมีการเก็บค่าโดยสารประชาชนในช่วงเดือนมกราคม 2567 ซึ่งหลังจากได้รับแจ้ง บริษัทได้ดำเนินการปรับระบบเรียบร้อย รอเพียงวันที่แน่นอน กทม. จะประกาศให้เก็บค่าโดยสารเท่านั้น

 

 

สำหรับภาระหนี้ระหว่างบีทีเอส บริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด และ กทม. ในโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น นายสุรพงษ์ ระบุว่า ปัจจุบัน มียอดหนี้รวมภาระดอกเบี้ยอยู่ที่กว่า 5 หมื่นล้านบาท โดยเป็นค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) ส่วนต่อขยายที่ 1 (อ่อนนุช-แบริ่ง และสะพานตากสิน-บางหว้า) และส่วนต่อขยายที่ 2 (แบริ่ง-สมุทรปราการ และหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต) ประมาณ 30,000 ล้านบาท ค่าติดตั้งงานระบบไฟฟ้า และเครื่องกล (E&M) รวมประมาณ 23,000 ล้านบาท โดยกทม.อยู่ระหว่างการดำเนินการตามกฎหมาย และพยายามเร่งดำเนินการจ่ายเงินให้กับบีทีเอส

 

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น