จากกรณีรองโฆษกอัยการสูงสุด เปิดเผยว่า สํานักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีเยาวชนและครอบครัว 3 คืนสํานวนการสอบสวนคดีของ ด.ช.วัย 14 ปี ผู้ต้องหาก่อเหตุกราดยิงที่ห้างสรรพสินค้าพารากอน เมื่อวันที่ 3 ต.ค.66 ที่ผ่านมา หลังตรวจสํานวนการสอบสวนพบข้อเท็จจริงว่า พนักงานสอบสวนดำเนินการแจ้งข้อกล่าวหา ฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, พยายามฆ่าผู้อื่นโดยไตร่ตรองไว้ก่อน, มีอาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนไว้ในครอบครองโดยไม่ได้รับอนุญาต, พาอาวุธปืนติดตัวไปในเมือง หมู่บ้านหรือทางสาธารณะโดยไม่ได้รับอนุญาตให้มีอาวุธปืนติดตัวและยิงปืนในเมือง หมู่บ้าน หรือทางสาธารณะโดยไม่มีเหตุอันควร และดำเนินการสอบสวนคําให้การของผู้ต้องหาซึ่งเป็นเด็ก โดยไม่ได้รอผลการวินิจฉัยจากแพทย์ เป็นการไม่ชอบด้วยกฎหมาย เนื่องจากเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ จึงมีการส่งสำนวนกลับมาให้ทางพนักงานสอบสวน
"รอง ผบก.น.6" เผย พนักงานสอบสวนเจ้าของคดี อยู่ระหว่างเดินหน้าสำนวนเด็ก 14 กราดยิงพารากอน
ข่าวที่น่าสนใจ
ล่าสุด วันนี้ (29 ธ.ค.) พ.ต.อ.จิรพัฒน์ พรหมสิทธิการ รองผู้บังคับการตำรวจนครบาล 6 (รอง ผบก.น.6) เปิดเผยว่า ขณะนี้พนักงานสอบสวน อยู่ระหว่างรอผลวินิจฉัยจากแพทย์เพิ่มเติมว่า เด็กพร้อมจะต่อสู้คดีได้เมื่อไหร่ จึงจะเริ่มสอบปากคำ และสรุปสำนวนส่งอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งกรณีนี้ก่อนหน้าพนักงานสอบสวน จะเข้าไปแจ้งข้อกล่าวหา ได้รับอนุญาตจากแพทย์เจ้าของไข้แล้ว ทีมพนักงานสอบสวนจึงดำเนินการตามที่ได้รับอนุญาต ไม่ได้เข้าไปแบบพลการ หรือผิดขั้นตอนแต่อย่างใด มีหนังสือแจ้งมาตั้งแต่เมื่อวันที่ 27 ต.ค.66 ว่าแพทย์อนุญาตให้ไปสอบปากคำและการสอบปากคำมีอัยการ 3 คน เจ้าหน้าที่วิชาชีพและทนายความ ซึ่งเด็กสามารถตอบโต้ได้ทั้งหมด พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า อย่างไรก็ตาม ด้านความเห็นแพทย์ก็จะไม่ขอก้าวล่วง แต่ตามความเห็นของพนักงานสอบสวนนั้น ผู้ก่อเหตุสามารถต่อสู้คดีได้ จึงได้สรุปสำนวนส่งให้อัยการ โดยตามข้อเท็จจริงผู้ที่อนุญาตให้ทีมพนักงานสอบสวนเข้าไปสอบปากคำคือแพทย์เจ้าของไข้ แต่นอกจากแพทย์แล้วก็จะมีทีมนักจิตวิทยามาร่วมประเมิน
อย่างไรก็ตาม หากพนักงานสอบสวน ยังสอบปากคำและไม่ส่งสำนวนให้อัยการ ภายในวันที่ 31 ธ.ค.66 อาจจะต้องปล่อยตัวเด็กออกจากสถานที่รักษาตัวนั้น เบื้องต้น พนักงานสอบสวนได้ร่างหนังสือถึงสถาบันกัลยาณ์ฯ เพื่อขอให้รับตัวเด็กไว้รักษาต่อไปได้ โดยอาศัยอำนาจตาม ป.วิอาญามาตรา 14 และ พ.ร.บ.สุขภาพจิต มาตรา 36 เนื่องจากเห็นว่าเด็กยังไม่สามารถต่อสู้คดีได้ พนักงานสอบสวน จึงต้องขอให้รับตัวเด็กไว้จนกว่าอาการจะทุเลา หรือจนกว่าจะต่อสู้คดีได้ ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายที่รองรับ
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวอีกว่า ในส่วนของพยานหลักฐานนั้นพนักงานสอบสวน ได้รวบรวมไว้ทั้งหมดตั้งแต่ต้นแล้ว สาเหตุที่ล่าช้าเนื่องจากต้องรอรายงานจากสถานพินิจ ซึ่งการสอบปากคำนั้นครบถ้วนแล้ว จึงได้มีการสรุปสำนวนส่งไปให้อัยการ ส่วนกรณีที่แพทย์รายงานว่า เด็กไม่สามารถต่อสู้คดีได้นั้น พนักงานสอบสวน ก็จะนำวีดีโอกระบวนการสอบปากคำเด็ก มอบให้แพทย์พิจารณา เพื่อให้เห็นว่า ด.ช.มีการตอบคำถามกับทางพนักงานสอบสวนได้อย่างดี แต่หากเป็นคำถามที่เกี่ยวข้องกับคดี ด.ช.จะบอกว่า “จำไม่ได้” แต่สามารถตอบโต้ประเด็นอื่นได้ ซึ่งแพทย์ก็จะต้องมาประชุมร่วมกับคณะทำงานว่า จะต้องดำเนินการอย่างไรต่อ
พ.ต.อ.จิรพัฒน์ กล่าวด้วยว่า เบื้องต้นในวันที่ 11 ม.ค. 67 ทีมแพทย์ที่รักษาตัวเด็กจะมีการประชุมเพิ่มเติมอีกครั้ง โดยพนักงานสอบสวนจะต้องรอแพทย์สรุปความเห็นเพิ่มเติม จากนั้นหากแพทย์และทีมสหวิชาชีพสรุปมาว่าตัวของ ด.ช.สามารถต่อสู้คดีได้ ทางพนักงานสอบสวนจะเดินทางเข้าไปสอบปากคำเพิ่มเติมอีกครั้งต่อไป.
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
-