ช่วงค่ำวันที่ 9 มกราคม พลโทปราโมทย์ พรหมอินทร์ แม่ทัพน้อยที่ 4 และรอง ผอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า กล่าวผ่านเพจเฟสบุ๊กศูนย์ประชาสัมพันธ์ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า ถึงสถานการณ์ในสามจังหวัดชายแดนใต้ว่า ในช่วง 2-3 ปีหลัง ผู้ก่อความไม่สงบพยายามฟอกตัว เพื่อให้สังคมเห็นว่าเขาไม่ใช่คนชั่วร้ายหรือสุดโต่ง จากก่อนหน้านี้ฆ่าครู ฆ่าพระ ฆ่าตัดคอ ฆ่าแล้วเผา ลอบวางระเบิดโดยไม่เลือกเป้าหมาย แต่ก็ไม่สามารถสร้างหลักประกันได้ เพราะสุดท้ายกลุ่มเปราะบางก็ยังถูกกระทำอยู่ดี เพียงแต่ระยะหลังผู้ที่ตกเป็นเป้าหมายก็จะเป็นเจ้าหน้าที่รัฐมากขึ้น ซึ่งการฟอกตัวเช่นนี้สังคมก็คล้อยตาม มีหลายคนพยายามให้เครดิตขบวนการว่าเขาไม่ทำร้ายเป้าหมายอ่อนแอ แต่ท่านต้องย้อนกลับไปดูและอย่าลืมเรื่องราวในอดีต ตนไม่อยากให้สังคมลืม มันเป็นบาดแผลที่อยู่ในความทรงจำของญาติหรือครอบครัวของผู้ที่สูญเสีย ถ้าไม่เจอกับตัวเองจะไม่รู้ บางคนบอกว่ารากเหง้าของปัญหาเกิดจากรัฐ ตนไม่เข้าใจว่าทำไมเขาแกล้งมองไม่เห็นสิ่งที่เป็นรากเหง้าของปัญหาจริงๆ ทำไมเราต้องส่งกำลังเข้ามาในพื้นที่ เพราะมันมีการก่อเหตุ และการก่อเหตุไม่สามารถที่จะใช้กฎหมายปกติในการเข้าดำเนินการได้ จึงเป็นที่มาของการส่งกำลังเจ้าหน้าที่ลงมาเพื่อดำเนินการควบคุมและแก้ไขปัญหาตรงนี้
แม่ทัพน้อยภาค 4 ลั่นคิดให้รอบคอบ ชี้ยุบกอ.รมน. ถอนทหาร ขบวนการร้ายยึดแดนใต้หมดแน่
ข่าวที่น่าสนใจ
พลโทปราโมทย์ กล่าวอีกว่า หากเราติดตามข่าวในช่วงหลัง ส่วนใหญ่จะมีการพุ่งเป้าว่าถ้าต้องการแก้ไขปัญหาในพื้นที่จังหวัดชายแดนใต้ให้ได้อย่างเบ็ดเสร็จ สิ่งที่ต้องทำก็คือยุบ กอ.รมน. ยกเลิกกฎหมาย ถอนทหารกลับ ตนถามว่าถ้าทำแบบนั้น วันเดียวกลุ่มขบวนการสามารถที่จะยึดได้ทุกพื้นที่ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ฉะนั้นจะทำอะไรก็ตามต้องคิดอย่างรอบคอบ อย่าเอามัน อย่าคิดแค่คะแนนเสียงทางการเมือง ต้องดูทุกปัจจัยอย่างรอบด้านและรอบคอบ ตนบอกแล้วว่าเรื่องความมั่นคง เรื่องชาติบ้านเมือง เราจะเอามาเป็นเครื่องมือล้อเล่นไม่ได้
พลโทปราโมทย์ ยังกล่าวถึงความคืบหน้าการพูดคุยสันติสุข ซึ่งมีนายฉัตรชัย บางชวด รองเลขาฯ สมช. เป็นหัวหน้าทีมคณะพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนใต้ว่า เราได้วางไทม์ไลน์การพูดคุยดังนี้ 23 มกราคม เราจะประชุมคณะพูดคุยครั้งที่ 2 เพื่อเตรียมความพร้อมในการส่งทีมทำงานทางเทคนิค ซึ่งตนเป็นหัวหน้าคณะ ไปพูดคุยกับคณะทำงานฝ่ายเทคนิคของบีอาร์เอ็น ที่กัวลาลัมเปอร์ มาเลเซีย ช่วงวันที่ 29 ถึง 31 มกราคม 67 โดยเราจะนำรายละเอียดที่ได้ศึกษาร่วมกันทั้งเรื่องลดความรุนแรง หารือสาธารณะ และการเปิดพื้นที่ทางการเมือง จากนั้นการพูดคุยแบบเต็มคณะน่าจะเกิดขึ้นได้ในเดือนกุมภาพันธ์ 67 ซึ่งเราคาดหวังว่าน่าจะบรรลุข้อตกลงเรื่องรายละเอียดการพูดคุยให้ได้ในเดือนเมษายน 67 จากนั้นจะเข้าสู่ขั้นตอนการปฏิบัติ ไม่ว่าจะมิติการลดความรุนแรง จะต้องปฏิบัติอย่างไรบ้าง เจ้าหน้าที่ต้องทำอย่างไร กลุ่มขบวนการต้องทำอย่างไร หรือเวทีการปรึกษาหารือสาธารณะ ใครเป็นเจ้าภาพ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง