รศ.ดร.นงนุช ตันติสันติวงศ์ นักวิชาการด้านเศรษฐกิจ การเงินและการคลังและภาษี มหาวิทยาลัยนอตทิงแฮม เทรนต์ ประเทศอังกฤษ และ Visiting Academic, School of Electronics & Computer Science, University of Southampton ปัจจุบันเป็นผู้อำนวยการฝ่ายอาวุโส ทีมยุทธศาสตร์องค์กร ธนาคารกรุงไทย โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก “Dr. Nuch Tantisantiwong” ระบุว่า อัตราเงินเฟ้อติดลบเป็นเรื่องน่ากังวล หรือเป็นแค่การปรับเข้าสู่จุดที่เคยเป็นก่อนเจอวิกฤตราคาหมู ราคาน้ำมัน
หลายคนกังวลว่าอัตราเงินเฟ้อติดลบต่อกัน 3 เดือน เป็นสัญญาณบอกเกี่ยวกับเศรษฐกิจไทยว่ากำลังมีแรงซื้อลดลง
เดี๋ยวก่อนนะคะ ขอคิดต่างแบบนักเศรษฐศาสตร์ตัวเล็กๆ คนนึง
ทุกคนคงยังจำกันได้กับการขึ้นราคาหมูทอดมาเป็นโลละ 300 บาทหรือหมูย่าง 12-15 บาทขึ้นจากไม้ละ 10 บาท ถึงขั้นบางร้านเลิกขายหมูย่างมาขายไก่ย่างแทน
ราคาอาหารต่างพากันขึ้นเมื่อช่วงปลายปี 2564 ต่อเนื่องยาวมาในปี 2565 เป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการที่มีโรคระบาดหมู (Swine Flu) ในหลายประเทศรวมถึงประเทศไทย ทำให้หมูขาดแคลน จนมีราคาเพิ่มสูงขึ้นมาก
ราคาเนื้อหมูขายปลีก กิโลกรัมละกว่า 200 บาท จากที่เคยราคากิโลกรัมละ 130-150 บาท ในปี 2563 ราคาหมูที่เพิ่มสูงขึ้นในปี 2565 ทำให้หน่วยงานรัฐออกมาขอความร่วมมือให้ตรึงราคาหน้าฟาร์มให้ไม่เกินกิโลกกรัมละ 100 บาท ราคาที่เพิ่มสูงขึ้นกว่า 30% นี้ ทำให้ราคาเนื้อสัตว์ประเภทอื่น เช่น ไก่และกุ้ง มีการปรับตัวเพิ่มสูงขึ้นตามด้วย (เราเลยโพสต์อธิบายเรื่องหมู ไก่ กุ้ง)
ในปี 2565 ยังมีราคาพืชผลเกษตรกรรมที่เพิ่มสูงขึ้นจากปีก่อนหน้า เช่น ดัชนีราคาพืชผลเพิ่มจาก 145.6 เป็น 156.4 (เพิ่มขึ้น 7.4%) ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิเพิ่มจาก 10.720.6 บาทเป็น 12,849.8 บาท (เพิ่มขึ้น 19.9%) ราคาข้าวโพดเพิ่มจาก 8,202.6 บาท เป็น 9,812.1 บาท (เพิ่มขึ้น 19.6%) และราคามันสำปะหลังเพิ่มขึ้น 22.0%
(อันนี้ถ้าใครไม่ค่อยเดินคลาดหรือตามราคาพืชผลอาจจะไม่สังเกต)
นอกจากนี้ ต้นปี 2565 เริ่มเกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน จนทำให้ราคาน้ำมันดิบโลกสูงขึ้นต่อเนื่องจนแตะจุดสูงสุดในเดือนพฤษภาคม ปี 2565 และคงอยู่ในระดับที่สูงกว่า 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลจนถึงสิ้นเดือนสิงหาคม 2565 และมีการปรับตัวลงระยะเวลาสั้นๆ ก่อนปรับมาสู่ระดับ 90 ดอลลาร์ต่อบาร์เรลอีกครั้งในเดือนตุลาคม 2565 และหลังจากนั้นก็ลงมาเรื่อยๆ จนมาถึงระดับต่ำกว่า 70 ดอลลาร์ต่อบาร์เรล ในเดือนมิถุนายน 2566
ทั้งหมดนี้ ทำให้ประเทศไทยมีดัชนีราคาผู้บริโภคเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องจาก 101.86 ในเดือนธันวาคมปี 2564 มาอยู่ที่ 108.06 ในเดือนตุลาคมปี 2565 ค่ะ
แม้ราคาน้ำมันดิบโลกมีราคาที่ต่ำลงในช่วง พฤศจิกายน 2565 – มิถุนายน 2566 แต่ดัชนีราคาผู้บริโภคของไทยก็ยังคงอยู่ในระดับ 107-108 มาตลอด
ทั้งนี้เป็นเพราะราคาพืชผลที่ยังคงสูงขึ้น เช่น ดัชนีราคาพืชผลโดยรวมขึ้นต่อเนื่องมาถึงเดือนตุลาคม 2566 มาอยู่ที่ 163.7 ราคาข้าวเปลือกหอมมะลิแตะจุดสูงสุดที่เดือนกันยายน 2566 ที่ราคา 15,034 บาท ทำให้ในเดือนกันยายน 2566 ดัชนีผู้บริโภคมาอยู่ในระดับ 108.41 สูงที่สุดเป็นประวัติการณ์ สูงกว่าจุดสูงสุดในปี 2565 ไปอีก