ภายหลังจากที่คณะกรรมาธิการวิสามัญศึกษาโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคมขนส่งเพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ (โครงการแลนบริดจ์) สภาผู้แทนราษฎร สัดส่วนพรรคก้าวไกล ประกอบด้วย นายจุลพงษ์ อยู่เกตุ นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ และนายประเสริฐพงษ์ ศรนุวัตร์ รวม 4 คนและ นายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ กรรมาธิการคนนอกที่เป็นนักวิชาการ ได้แสดงความจำนงลาออกจากกรรมาธิการ และให้มีผลทันทีในวันนี้
นายจุลพงษ์ กล่าวว่า วันนี้ได้มีการประชุมกรรมาธิการ ซึ่งได้รับแจ้งว่าเป็นการประชุมครั้งสุดท้ายและจะมีการพิจารณารับรองผลการศึกษาโครงการแลนบริดจ์ ซึ่งในการประชุมมีการ กมธ.ในสัดส่วนพรรค กก.ได้ทักท้วงในหลายเรื่องที่ยังไม่มีความชัดเจนและยังไม่ได้รับคำตอบ เช่นท่อส่งน้ำมัน ไม่มีการศึกษาการเปลี่ยนแปลงสภาพสิ่งแวดล้อม ความน่าเชื่อถือบางเรื่องทั้งเรื่องความต้องการของบริษัทเดินเรือที่จะมาใช้โครงการ ซึ่งมีความเกินจริง การประหยัดต้นทุน การเดินเรือผ่านช่องแคบมะละกาและการคำนวณผลตอบแทนทางการเงินทางเศรษฐกิจ ก็ไม่สามารถตอบให้ความชัดเจนได้ และรายงานที่ สนข. จัดทำก็ขัดแย้งกับรายงานการศึกษาของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมระบุว่าโครงการ แลนด์บริดจ์ ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน ขณะที่การศึกษาของ สนข.ระบุจะได้ผลตอบแทนร้อยละ 17 ซึ่งในการพิจารณาได้ให้น้ำหนักไปที่ผลการศึกษาของสนข.เป็นหลัก ทำให้ สส.พรรคก้าวไกลได้การทักท้วง แต่เนื่องจากมีเสียงน้อยเพียง 4 คน ประกอบด้วย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล นายประเสริฐพงษ์สุวัฒน์ ,นายศุภณัฐ มีนไชยนันท์และตนเอง รวมถึงนายสมพงษ์ ศริโสภณศิลป์ นักวิชาการ จึงขอถอนตัวและลาออกจากกรรมาธิการโดยมีผลทันทีในวันนี้ อีกทั้งไม่สามารถร่วมลงชื่อรับรองรายงานฉบับดังกล่าวได้
นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล กล่าวว่า เมื่อวันที่ 22 ธันวาคม 2566 ได้มีการตั้งตำถามในที่ประชุมจนเกิดข้อถกเถียงไม่จบต่อสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร(สนข.) ว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยแค่ไหน คุ้มค่ามากน้อยแค่ไหนในโครงการนี้ ไม่ว่าจะเป็นในเรื่องของประมาณการสินค้า หรือเส้นทางเดินเรือที่มีการโยงใยเส้นทางมากมาย แต่ไม่ได้คำตอบ เรือประเภทไหนที่จะมาเดินเรือหรือจะมีปริมาณสินค้าเท่าไหร่มีสมมติฐานอย่างไรบ้าง รวมถึงการเจริญเติบโตของท่าเรือ เดินในวันนั้นประธานในที่ประชุมได้ปิดการประชุมและบอกว่าจะเชิญ สนข.มาใหม่ แต่ในวันนี้ประธานไม่ได้เชิญสนข.มาใหม่ ซึ่งวันนี้เป็นวันประชุมครั้งสุดท้ายแล้ว และพยายามที่จะลงมติรับรองรายงานฉบับนี้ ดังนั้นจึงเป็นเหตุว่า ตนเองไม่สามารถพิจารณาตัวรายงานฉบับนี้ได้อย่างแท้จริงเพราะข้อเท็จจริงได้ไม่ครบถ้วนและไม่สามารถที่จะมีส่วนร่วม ในการที่จะอนุมัติหรือไม่อนุมัติรายงานฉบับนี้ได้ และท้ายที่สุดไม่ได้มีการขอต่อขยายอายุของคณะกรรมการชุดนี้ออกไปเพื่อที่จะให้มีการพิจารณาดังต่อเนื่องโดยการเชิญตัวแทนหน่วยงานสนข. หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาให้ข้อมูลเพิ่มเติม
ด้านนายสมพงษ์ ศิริโสภณศิลป์ หนึ่งในกรรมาธิการที่ลาออก กล่าวว่า ส่วนตัวเห็นด้วยที่จะต้องทำการพัฒนาเศรษฐกิจภาคใต้ แต่โครงการนี้ไปวางน้ำหนักไว้ที่สินค้าของไหหลำไว้ค่อนข้างมาก จึงมองว่าควรออกแบบโครงการนี้ใหม่ และควรเน้นไปที่สินค้าภาคใต้มากกว่าสินค้าไหหลำ แต่เรื่องนี้ยังไม่มีความชัดเจนเกิดขึ้นในชั้นกรรมาธิการ และหน่วยงานก็ไม่ได้มีการเข้ามาชี้แจงตัวเลขที่แน่นอน จึงพิจารณาไม่ได้ว่าตัวเลขที่ประมาณการนั้นสมเหตุสมผลมากน้อยแค่ไหน
ขณะที่นายศุภณัฐ มีนชัยนันท์ สส.พรรคก้าวไกล กล่าวว่า เจตนารมณ์หลักคือมาคำตอบให้กับประชาชนว่าจริงๆแล้วโครงการแลนด์บริดจ์ จะกำไรหรือขาดทุน ลดระยะเวลาได้จริงหรือไม่ ส่งผลต่อเศรษฐกิจไทยได้จริงหรือไม่ แต่สิ่งที่พยายามทำมาร่วม 90 วันเรายังหาคำตอบไม่ได้ ทำไมรายงานของสภาพัฒน์จึงแตกต่างกับรายงานของสนข. ข้อมูลที่อยู่ในรายงานที่จะมีการลงมติเห็นชอบใช้ข้อมูลของสนข.ทั้งหมด โดยที่ไม่มีเหตุผลว่าทำไมถึงตัดข้อมูลของสภาพัฒน์ ทิ้งในฐานะที่เราเป็นผู้ศึกษา เราไม่ควรเลือกที่จะหยิบข้อมูลไหนหรือไม่หยิบข้อมูลไหนมาใช้มีหน้าที่นำข้อมูลรอบด้านทั้งหมดใส่ลงไปในรายงานและอ้างอิงว่าข้อมูลที่ได้มานั้นได้มาจากหน่วยงานไหน สุดท้ายแล้ว จะเกิดความเสียหายต่อประเทศเพราะเรากำลังจะไปขายต่างประเทศจะนำข้อมูลด้านเดียวจากหน่วยงานของภาคราชการไปขายกับต่างประเทศ หากต่างประเทศย้อนกลับมาว่าเมื่อศึกษาแล้วไม่คุ้มทุนอย่างที่เราบอกจะเกิดอะไรขึ้นนั่นหมายถึงว่าการศึกษาของรัฐบาลไทยแย่หรือไม่หรือรัฐบาลไทยกำลังไปหลอกให้ต่างชาติมาลงทุนหรือไม่ ดังนั้นหากรายงานออกไปเป็นแบบนี้ จะสร้างความเสียหายต่อคณะกรรมาธิการ และต้องเสียหายต่อรัฐสภา รวมถึงผู้ที่หยิบยกข้อมูลนี้ไปอ้างอิงหรือนำไปใช้เพื่อขายให้กับต่างชาติ