วันที่ 22 ม.ค.67 นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ลงพื้นที่ติดตามโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเล อ่าวไทย – อันดามัน (โครงการLand Bridge ชุมพร – ระนอง) ที่อุทยานแห่งชาติแหลมสน โดยบริเวณทางเข้าอุทยานฯมีกลุ่มเครือข่ายรักษ์พะโต๊ะ หรือผู้คัดค้านโครงการแลนด์บริดจ์ ติดป้ายผ้าขนาดใหญ่สีขาว ขึ้นข้อความว่า “No Landbridge”
จากนั้นนายกรัฐมนตรี ได้เดินทางมาบริเวณชายหาดทะเล สถานที่ก่อสร้างท่าเรือบริเวณแหลมอ่าวอ่าง ใกล้ๆ กับเกาะพยาม ในการดำเนินโครงการแลนด์บริดจ์ และรับฟังรายงานจากสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.
โดยนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า วันนี้เป็นครั้งแรกที่ได้มารวมพื้นที่บริเวณพื้นที่แลนด์บริดจ์ และรับฟังผลของ สนข. ว่าภาพรวมในการถมที่ และระยะห่างจะออกไปเท่าไหร่ ร่องน้ำเป็นอย่างไร ซึ่งจากการนำเสนอ จะต้องมีการสร้างตอหม้อเป็นสะพานออกไป ทำให้เป็นที่ชัดเจนว่า พี่น้องประชาชนสามารถประกอบอาชีพทำประมงได้ ซึ่งก็เห็นถึงศักยภาพ ที่ทางคณะกรรมาธิการแลนด์บริดจ์ ได้นำเสนอมา
ส่วนการทำความเข้าใจกับผู้ที่คัดค้านโครงการฯ ดังกล่าว นายกรัฐมนตรี ระบุว่า การทำโครงการใหญ่ๆ เป็นธรรมดาที่จะมีคนเห็นด้วยและไม่เห็นด้วย ซึ่งรัฐบาลจะต้องมีการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนทั้งในพื้นที่ และนอกพื้นที่ โดยบริเวณด้านหน้าก็มีคนมารอยื่นหนังสืออยู่
โดยตอนนี้โครงการเพิ่งเริ่มอย่าเพิ่งทำเป็นเรื่องใหญ่ ขอรับฟังความคิดเห็นของพี่น้องประชาชนก่อน หากจำได้เมื่อ 20 ปี มีการทำโครงการเมกะโปรเจกต์ขนาดใหญ่ระดับชาติ อย่างสนามบินสนามบินสุวรรณภูมิ ที่แต่ก่อนเรียกสนามบินหนองงูเห่า ในสมัยรัฐบาลของนายทักษิณ ชินวัตร และขณะนั้นนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ ก็ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยช่วงที่ผ่านมาประเทศไม่มีโครงการใหญ่เลย ซึ่งปัจจุบันเราได้รับประโยชน์จากการสร้างสนามบินฯ ดังกล่าวอย่างมหาศาล
ส่วนผลประโยชน์ของคนในพื้นที่ หากเกิดโครงการนี้จะได้ผลประโยชน์อย่างไรนั้้น นายกรัฐมนตรีกล่าวว่า โครงการนี้เป็นโครงการเชื่อมต่อระหว่างทะเลอันดามัน และอ่าวไทย ซึ่งจะเป็นการลดระยะทางขนถ่ายสินค้า ที่บริเวณช่องแคบมะละกา โดยปัจจุบันการขนถ่ายสินค้าบริเวณนั้นเริ่มหนาแน่น และมีอุบัติเหตุเกิดขึ้นหลายครั้ง ดังนั้นการสร้างโครงการดังกล่าว เพื่อเชื่อมต่อส่งสินค้าไปทั่วโลกจึงเป็นสิ่งสำคัญ และเป็นการจูงใจบริษัทต่างๆ ให้เข้ามาลงทุน สร้างแหล่งผลิตส่งออกทั้งรถยนต์ อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งถือเป็นเรื่องสำคัญ และหากไปดูในรายละเอียด การขนขนส่งสินค้าน้ำมันทั่วโลกกว่า 60 เปอร์เซ็นต์ ผ่านช่องแคบมะละกา ก็ถือเป็นความมั่นคงทางเศรษฐกิจอย่างหนึ่ง ที่เราต้องผลักดันให้ประเทศมีการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน