“มนัส โกศล” ชง “นายกรัฐมนตรี” ตั้ง “โรงพยาบาลประกันสังคม” ใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม

กดติดตาม TOP NEWS

"มนัส โกศล" ชง "นายกฯ" ตั้ง "โรงพยาบาลประกันสังคม" ใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม ผุด "ธนาคารแรงงาน" ให้คนงานเข้าถึงแหล่งทุน เลิกรีดเลือดกับปูเก็บภาษีเงินชดเชยเลิกจ้าง จี้ "รัฐบาล" สางปัญหาต่างด้าวแย่งงานคนไทย แนะทางออกกำหนดสัดส่วนจ้างงาน "ไทย" ผสม "ต่างด้าว" ต้องเหมาะสม

นายมนัส โกศล ประธานสภาองค์การลูกจ้างพัฒนาแรงงานแห่งประเทศไทย (สพท.) และประธานเครือข่ายประกันสังคมคนทำงาน (คปค.) เปิดเผยระหว่างการประชุมสามัญประจำปี ครั้งที่ 31/2566 โดยมีภาคีเครือข่ายสหภาพแรงงาน สพท.จากทั่วประเทศเข้าร่วม เพื่อยื่นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ผลักดันให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน

สำหรับข้อเสนอประกอบด้วยการปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.ประกันสังคม กองทุนชราภาพให้สอดคล้องต่อผู้ประกันตนและเสนอให้มี “โรงพยาบาลประกันสังคม” ที่ควรตั้งอยู่ใกล้เขตนิคมอุตสาหกรรม เพราะขนาดสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) ยังมีโรงพยาบาลตำรวจ ขณะที่ผู้ประกันส่งเงินเข้ากองทุนและมีเงินสะสมนับล้านล้านบาทโดยปัจจุบันตัวเลขเงินสะสมของกองทุน ณ เดือน ก.ค.2566 มีเงินสะสมอยู่กว่า 2.37 ล้านล้านบาท รวมดอกผลการลงทุนเฉพาะเดือนมกราคม- กรกฎาคม 2566 อยู่ที่ 31,940 ล้านบาท ทำไม “ประกันสังคม” จะมีโรงพยาบาลของผู้ประกันไม่ได้

ทั้งนี้ควรส่งเสริมให้สถานประกอบการและลูกจ้างจัดตั้ง “สหกรณ์ออมทรัพย์” และเสนอให้รัฐจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” เพื่อให้ลูกจ้างเข้าถึงแหล่งทุน พร้อมกับส่งเสริมให้ความรู้ลูกจ้างตั้งสหภาพแรงงานทุกภาคส่วนของแรงงานในสถานประกอบการ รวมถึง ปรับปรุงแก้ไข พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน ให้ครอบคลุมทั้งลูกจ้างหน่วยงานภาครัฐและภาคเอกชน

นอกจากนี้ภาคแรงงานต้องช่วยกันรณรงค์ส่งเสริมดูแลสุขภาพลูกจ้างในสถานประกอบการ ลด ละ เลิก เหล้า บุหรี่ การพนันทุกรูปแบบร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และควรเผยแพร่ความรู้ด้านกฎหมายแรงงานที่เกี่ยวข้องต่อสมาชิก และสาธารณชน , รณรงค์และส่งเสริมมาตรการป้องกันลดอุบัติเหตุจากการทำงาน หรือ โรคเนื่องจากการทำงานและไม่เนื่องจากการทำงาน , ส่งเสริมด้านแรงงานสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง และส่งเสริมพัฒนาทักษะฝีมือแรงงานร่วมกับ “กรมพัฒนาฝีมือแรงงาน” ร่วมกับองค์กรแรงงานและองค์กรภาคีเครือข่ายแรงงานเพื่อผลักดันเสนอให้รัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือผู้ใช้แรงงาน

นอกจากนี้ รณรงค์ให้ลูกจ้างใช้ชีวิตตาม “ปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง” กับสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบัน รณรงค์และหามาตรการป้องกันการใช้แรงงานเด็ก และผลักดันให้ภาครัฐกำหนดเป็นนโยบายเรื่องคณะกรรมการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคในสถานประกอบการ กรณีเจ็บป่วยเนื่องจากการทำงานไม่ต้องสำรองเงินก่อน สามารถใช้กองทุนเงินทดแทนได้ และ ในกรณีลูกจ้างถูกเลิกจ้างได้รับเงินค่าชดเชย หรือ เงินบำเหน็จงวดสุดท้าย ไม่ต้องนำมาหักภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา

ทั้งนี้นายมนัส ได้เปิดเวทีรับฟังข้อเสนอจากแกนนำสหภาพแรงงาน เห็นว่าควรทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาล ว่า ควรกำหนดสัดส่วนการจ้างงานระหว่างแรงงานไทยกับแรงงานต่างชาติ อาทิ กัมพูชา , เมียร์มา , สปป.ลาว เพื่อป้องกันปัญหาแย่งงานคนไทย ด้วยการกำหนดอาชีพให้ชัดเจนว่าอาชีพใดที่แรงงานต่างด้าวทำได้หรือทำไม่ได้ เช่น การจ้างงานในกิจการห้องเย็นอาหารทะเลแปรรูป แรงงานต่างชาติสามารถทำได้เนื่องจากเป็นอาชีพไร้ทักษะที่คนไทยไม่นิยมทำ หรือ อาชีพแบบใดควรสงวนไว้ให้กับคนไทย เช่น พนักงานโรงงานเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ หรือ จิวเวลรี่ ในอุตสาหกรรมอัญมณี ควรใช้แรงงานที่เป็นคนไทย เนื่องจากตั้งแต่มีการเปิดเสรีให้ผู้ประกอบการสามารถจ้างแรงงานต่างชาติได้โดยตรงไม่จำเป็นต้องผ่านนายหน้า แนวโน้มนายจ้างเริ่มจ้างแรงงานต่างชาติเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ บางโรงงานสัดส่วน 50/50 โดยเฉพาะโรงงานที่เจ้าของกิจการเป็นชาวต่างชาติ หรือ ปัญหาบางโรงงานที่เป็นนักลงทุนต่างชาติ ทิ้งขยะพิษทำลายสิ่งแวดล้อม แต่หน่วยงานภาครัฐไทยไม่สามารถดำเนินการเอาผิดใดๆ ได้ เป็นต้น

 

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น