เปิดเนื้อหาการประชุมคกก.คัดเลือกฯ ITD ยื่นเอกสารรถไฟฟ้าสีส้ม ไม่ครบ

เปิดเนื้อหาการประชุมคกก.คัดเลือกฯ ITD ยื่นเอกสารรถไฟฟ้าสีส้ม ไม่ครบ

ตามต่อเนื่องกับประเด็นปัญหา การพิจารณาโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี มูลค่าประมาณ 1.4 แสนล้านบาท หลังจากการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม. ประกาศเชิญชวนเอกชน ร่วมลงทุนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ตั้งแต่เมื่อวันที่ 3 ก.ค. 2562 จากนั้นคณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 แห่ง พ.ร.บ.ร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ. 2562 ได้ดำเนินการพิจารณา รื้อ แก้ไข ทีโออาร์ ในวันที่ 27 ส.ค. 2563 ตามด้วยการยกเลิประมูลโครงการ วันที่ 3 ก.พ. 2564 และ คณะกรรมการคัดเลือกฯ ตัดสินใจเปิดประมูลใหม่อีกครั้ง ในวันที่ 24 พ.ค. 2565 แต่จนถึงวันนี้ยังไม่มีความคืบหน้าใด ๆ เพิ่มเติม แม้ว่าโครงการดังกล่าวจะมีความสำคัญอย่างมากต่อการแก้ปัญหาจราจร และผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจของประเทศ

 

ซึ่งทางด้าน นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม ยอมรับว่าโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ยังไม่สามารถนำเข้าสู่การพิจารณาของครม.ได้ เพราะมีปัญหาข้อพิพาทที่ยังไม่มีข้อยุติ และต้องรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุดให้เป็นที่สิ้นสุด ก่อนตัดสินใจว่าจะดำเนินการอย่างไร ใน 2 ประเด็นสำคัญ คือ

1. เดินหน้าขั้นตอนประกวดราคาที่ค้างอยู่ให้แล้วเสร็จ

2. ยกเลิกการประกวดราคาเดิมและเปิดประกวดราคาใหม่อีกครั้ง

 

ขณะเดียวกัน Top News ยังพบปัญหาเพิ่มเติมจากการที่ กรมสอบสวนคดีพิเศษ มีหนังสือ ที่ ยธ. 0851 / 2803 ลงวันที่ 16 ต.ค. 2566 รายงานผลการสอบสวนการประมูลรถไฟฟ้าสายสีส้ม โดยระบุถึงความผิดที่เกิดขึ้นจากการทำหน้าที่้ของคณะกรรมการคัดเลือกฯ โดยไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติผู้เข้าร่วมประมูล อย่างครบถ้วนจนอาจเข้าข่ายไม่ชอบด้วยกฎหมาย

“ผลจากการสืบสวน พบว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งมีหน้าที่ต้องตรวจสอบคุณสมบัติของผู้เสนอราคาในขั้นตอนแรก ไม่มีการตรวจสอบคุณสมบัติเป็นเหตุให้ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ซึ่งเป็นผู้ยื่นเสนอราคาหนึ่งในสองราย ได้รับการประกาศให้เป็นผู้ผ่านคุณสมบัติ

ทั้งที่กรรมการผู้มีอำนาจลงนามของ บริษัทอิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ จำกัด (มหาชน) หรือ ITD ถูกศาลพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำคุกอันเป็นกรณีที่มีลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรให้ร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุน ตามประกาศคณะกรรมการนโยบายการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน เรื่อง ลักษณะของเอกชนที่ไม่สมควรร่วมลงทุนในโครงการร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 และ (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2564

ไม่เท่านั้น TOP News ยังตรวจพบข้อพิรุธอีกหนึ่งจุด จากเอกสาร รายงานการประชุม คณะกรรมการคัดเลือก ตามมาตรา 36 เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2565 ณ ห้องประชุม 1 ชั้น 9 อาคาร 1 การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย

ซึ่งมีกรรมการผู้เข้าร่วมประชุม ประกอบด้วย นายกิตติกร ตันเปาว์ รองผู้ว่าฯรฟม. ทำหน้าที่เป็นประธานกรรมการ ร่วมกับกรรมการ อีก 7 ท่าน ประกอบด้วย อธิบดีกรมท่าอากาศยาน (ผู้แทนกระทรวงคมนาคม) , อธิบดีอัยการ สำนักงานคณะกรรมการอัยการ (ผู้แทนสำนักงานอัยการสูงสุด) , รองผู้อำนวยการ สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (ผู้แทนสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ) , รองผู้อำนวยการสำนักงบประมาณ (ผู้แทนสำนักงบประมาณ) ตลอดจน 2 ผู้ทรงคุณวุฒิ คือ ดร.ไกร ตั้งสง่า กรรมการสภาวิศวกร , ศ.ดร.นพดล เพียรเวช จากสถาบันเทคโนโลยีแห่งเอเชีย (AIT) โดยมี ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาโครงการรถไฟฟ้า เป็นกรรมการและเลขานุการ

 

ข่าวที่น่าสนใจ

โดยเอกสารประชุม หน้า 13 ระเบียบวาระที่ 4 ว่าด้วย ผลการประเมินเอกสารข้อเสนอ ซองที่ 1 ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ อ้างถึงการประชุม ครั้งที่ 18/2565 มีใจความบางช่วงตอน ระบุว่า ประธานคณะกรรมการคัดเลือก ได้มีหนังสือด่วนที่สุด ที่ รฟม.007(คถก)/สม/45 ลงวันที่ 2 ส.ค. 2565 ขอความอนุเคราะห์ รฟม. ดำเนินการตรวจประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติผู้ประมูล เพื่อนำผลการประเมินเสนอต่อคณะกรรมการตัดเลือกฯ

และรฟม.ได้มอบหมายให้ที่ปรึกษา BMTO ดำเนินการตรวจประเมินข้อเสนอซองที่ 1 (ข้อเสนอด้านคุณสมบัติ) เสร็จเรียบร้อย พร้อมนำเสนอคณะกรรมการคัดเลือกฯ ซึ่งในรายละเอียดของเอกสารการประชุม ยังระบุถึงผู้ยื่นเอกสาร หรือ ซองเอกสารประประมูลโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม (รอบใหม่) ประกอบด้วย 1.บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ (BEM) และ 2. บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD)

 

แต่ประเด็นสำคัญคือ ในเอกสารการประชุม หน้า 14-15 ระบุว่า ขั้นตอนการประเมินคุณสมบัติ กำหนดไว้ชัดเจนว่า ผู้ยื่นข้อเสนอจะต้องมีคุณสมบัติตามที่ได้กำหนดไว้ในเอกสารข้อ 10 และ สอดคล้องตามข้อกำหนด , การประเมินข้อเสนอด้านคุณสมบัติ จะเป็นการประเมินว่าผ่าน หรือ ไม่ผ่าน และ สุดท้าย ต้องมีความครบถ้วน ความถูกต้องของเอกสาร ตามข้อเสนอแนะการตัดทำข้อเสนอด้านคุณสมบัติ มิฉะนั้นจะถือว่าไม่ผ่านเกณฑ์การพิจารณาข้อเสนอซองที่ 1 และจะไม่เปิดข้อเสนอซองที่ 2 และ ซองที่ 3 โดยจะส่งข้อเสนอซองที่ 2 , ซองที่ 3 และ ซองที่ 4 คืน

 

 

 

ซึ่งหลังจากคณะกรรมการคัดเลือกฯ ทำการเปิดซองข้อเสนอด้านคุณสมบัติ เมื่อวันที่ 1 ส.ค. 2565 ทาง ที่ปรึกษา BMTO อ้างว่า จากการตรวจสอบคุณสมบัติของ ITD เอกสารส่วนใหญ่มีความถูกต้อง ครบถ้วน มีการรับรองเอกสารถูกต้อง และ มีเอกสารเพียงบางรายที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลที่นำเสนอ รวมถึงจากเว็บไซด์ทางการของ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ซึ่งโดยนัยก็คือความนำเสนอข้อมูลต่อคณะกรรมการคัดเลือกฯโดยไม่ครบถ้วนนั่นเอง

ยิ่งไปกว่านั้น ที่ปรึกษา BMTO ยังระบุด้วยว่า ถ้า ITD เป็นผู้ชนะการคัดเลือก ก่อนลงนามสัญญา ITD Group จะจัดตั้งบริษัทที่เป็นนิติบุคคลไทยขึ้นใหม่ โดย ITD ถือหุ้น 90 % และ ITC ถือหุ้น 10% ตามที่ยื่นไว้ในหนังสือรับรองของ ITC ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565

และหนังสือของ ITC ลงวันที่ 11 ก.ค. 2565 ระบุว่า กรณี ITD ได้งาน ITC จะเป็นสมาชิกที่รับผิดชอบการให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง

 

 

แต่ สถานะทางการเงินของ 2 บริษัท พบว่า ITD ซึ่ง อ้างว่าจะเป็นผู้ถือหุ้น 90 % มีทุนจดทะเบียน 5,280 ล้านบาท และ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Worth) ในรอบระยะเวลา 3 ปี ล่าสุด เฉลี่ยนเป็นบวก 15,738 ล้านบาท ส่วน ITC ซึ่งถูกกำหนดเป็นถือหุ้น 10 % มีทุนจดทเบียนสูงถึง 124,028 ล้านบาท และ มีมูลค่าสินทรัพย์สุทธิ (Net Worth) มากถึง 111,368 ล้านบาท

จากข้อมูล ข้อเท็จจริง ที่ปรากฎในบันทึกการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกฯ และ ข้ออ้างของ ที่ปรึกษา BMTO ว่าด้วย “การจัดหาเอกสาร ที่ต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมจากข้อมูลที่นำเสนอ รวมถึงจากเว็บไซด์ทางการของ Incheon Transit Corporation หรือ ITC ” ยืนยันชัดเจนว่า บมจ.อิตาเลียนไทย ดีเวล๊อปเมนต์ (ITD) มีเอกสารไม่ครบถ้วน ตามข้อกำหนดว่าด้วยขั้นตอนการประเมินคุณสมบัติ ตั้งแต่แรก ไม่นับรวมข้อพิรุธเรื่องการร่วมทุน ITD Group กลับปรากฎว่า ITC ที่มีสัดส่วนการถือหุ้น เพียง 10 % แต่กลายเป็นผู้รับผิดชอบให้บริการเดินรถและซ่อมบำรุง โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้่ม มูลค่ากว่า 1.4 แสนล้านบาท

 

 

และข้อพิรุธเหล่านี้ ล่าสุดถูกนำไปหารือ ในที่ประชุมคณะอนุกรรมการด้านกฎหมาย คณะกรรมการนโยบายการร่วมทุนระหว่างรัฐและเอกชน (PPP) ครั้งที่ 1/2567 โดยมีอัยการสูงสุดเป็นประธานประชุม เมื่อวันที่ 29 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมา เพื่อวินิจฉัยปัญหาเกี่ยวกับการปฏิบัติตาม พระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 โดยมีข้อสรุปว่า

“ปัญหาต่าง ๆ กระทรวงคมนาคม ทราบเรื่องอยู่แล้ว จึงควรทำเรื่องนี้ให้หายเคลือบแคลงสงสัยโดยเร็ว ว่าคณะกรรมการคัดเลือกฯ ใช้ดุลยพินิจที่ถูกต้อง หรือเป็นการทำผิดกฎหมาย หรือ ละเว้นหน้าที่ของคณะกรรมการฯ โดยการไม่ตรวจสอบคุณสมบัติอย่างครบถ้วนตามเงื่อนไขการเปิดซองคุณสมบัติหรือไม่”

ซึ่ง ทีมเศรษฐกิจ Top News เชื่อมั่นว่า กระทรวงคมนาคม โดย คุณสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.คมนาคม จะไม่ปล่อยให้ปัญหานี้คาราคาซังอีกต่อไปอย่างแน่นอน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน
สถาปนาเขตพื้นที่คุ้มครองฯ ชาติพันธุ์ชุมชนชาวเลโต๊ะบาหลิว
ผบ.ตร.สั่งสอบคลิปแก๊งต่างด้าว แสดงพฤติกรรมเย้ยกม. กำชับคุมเข้ม ใช้ยาแรง

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น