โฆษกอสส.แจงตร.ดูประกัน "ทักษิณ" คดี112 หลังพักโทษ ย้ำยึดกม.ปมขอความเป็นธรรม
ข่าวที่น่าสนใจ
6 ก.พ. 67 ที่สำนักงานอัยการสูงสุด นายประยุทธ เพชรคุณ โฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด รองอธิบดีอัยการ สำนักงานคดีพิเศษ , นายณรงค์ ศรีระสันต์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการพิเศษฝ่าย สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายแผนช่วยเหลือทางกฎหมาย , นายนาเคนทร์ ทองไพรวัลย์ รองโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด อัยการจังหวัดประจำสำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานอัยการพิเศษฝ่ายคดีพิเศษ 1 แถลงข่าว กรณีความคืบหน้าคดี นายทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ถูกกล่าวหาตามประมวลกฎหมายอาญา ม.112 รายละเอียดว่า
เมื่อวันที่ 16 ก.พ. 2559 สำนักงานอัยการสูงสุด ได้รับสำนวนคดีการกระทำความผิดนอกราชอาณาจักร จากพนักงานสอบสวน กองกำกับการ 3 กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเทคโนโลยี พ.ต.อ.โอฬาร สุขเกษม ผู้กล่าวหา นายทักษิณ ชินวัตร ผู้ต้องหา ข้อหาร่วมกันหมิ่นประมาท ดูหมิ่นหรือแสดงความอาฆาตมาดร้ายพระมหากษัตริย์ พระราชินี รัชทายาท และร่วมกันนำเข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ใด ๆ
เหตุเกิดเมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 2558 ที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลี (เกาหลีใต้) และประเทศไทยเกี่ยวพันกันอันเป็นความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 112 โดยคณะทำงานพนักงานสอบสวนมีความเห็นควรสั่งฟ้อง
เนื่องจากคดีนี้เป็นคดีความผิดซึ่งมีโทษตามกฎหมายไทย ได้กระทำลงนอกราชอาณาจักรไทย จึงเป็นคดีที่อยู่ในอำนาจของอัยการสูงสุดเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ซึ่ง ร.ต.ต.พงษ์นิวัฒน์ ยุทธภัณฑ์บริภาร อัยการสูงสุดในขณะนั้น ได้มีความเห็นเมื่อวันที่ 19 กันยายน 2559 ตรวจพิจารณาสำนวนแล้ว ได้มีความเห็นควรสั่งฟ้องนายทักษิณ ชินวัตร ตามข้อกล่าวหา แต่เนื่องจากขณะนั้นผู้ต้องหาหลบหนี อัยการสูงสุดจึงแจ้งให้พนักงานสอบสวนดำเนินการออกหมายจับและพนักงานสอบสวนได้มีคำขอต่อศาลอาญาและออกหมายจับเรียบร้อยแล้ว
ครั้นต่อมาเมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2566 นายทักษิณ ชินวัตร ได้เดินทางเข้ามาในราชอาณาจักรไทยและถูกควบคุมเพื่อรับโทษในคดีอาญาเรื่องอื่น พนักงานสอบสวนได้นำหมายจับไปแจ้งอายัดผู้ต้องหาไว้กับกรมราชทัณฑ์เรียบร้อยแล้ว
ต่อมาวันที่ 17 มกราคม 2567 นายกุลธนิต มงคลสวัสดิ์ อธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน และคณะ ร่วมกับพนักงานสอบสวนผู้รับผิดชอบคดี ได้เข้าแจ้งข้อกล่าวหา พร้อมกับพฤติการณ์และข้อเท็จจริงทางคดีให้กับนายทักษิณ ชินวัตร ทราบแล้ว ปรากฏว่า ผู้ต้องหาให้การปฏิเสธ พร้อมกับยื่นหนังสือร้องขอความเป็นธรรมต่ออัยการสูงสุด
ซึ่งอธิบดีอัยการ สำนักงานการสอบสวน ได้ส่งบันทึกคำให้การชั้นสอบสวน และหนังสือร้องขอความเป็นธรรมของผู้ต้องหาให้กับพนักงานอัยการผู้รับผิดชอบดำเนินคดี ประกอบสำนวนเพื่อส่งให้กับอัยการสูงสุดพิจารณา ขณะนี้สำนวนคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของสำนักงานคดีกิจการอัยการสูงสุด ตรวจพิจารณาและทำความเห็นเบื้องต้นเสนออัยการสูงสุดเพื่อพิจารณามีความเห็นและคำสั่งทางคดีต่อไป
งานโฆษกสำนักงานอัยการสูงสุด ขอเรียนเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พนักงานสอบสวนได้แจ้งอายัดตัวนายทักษิณ ชินวัตร ไว้กับทางกรมราชทัณฑ์ตามขั้นตอนของกฎหมายแล้ว ส่วนผลความคืบหน้าทางคดีเป็นประการใด สำนักงานอัยการสูงสุดจะแถลงให้ทราบต่อไป
เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่า ในวันที่ 17 มกราคม 2567 ที่อัยการได้เข้าไปแจ้งข้อกล่าวหากับนายทักษิณ ชินวัตร เป็นการแจ้งที่ชั้น 14 โรงพยาบาลตำรวจใช่หรือไม่ นายประยุทธ ชี้แจงว่ายังไม่ทราบรายละเอียด เพราะเป็นเรื่องของพนักงานสอบสวน แต่ยืนยันว่ามีการไปแจ้งข้อกล่าวหาแล้ว ย้ำว่าไม่ต้องไปสนใจรายละเอียด
ส่วนแนวทางการอายัดตัวของอดีตนายกฯ หลังถูกจับตาว่าจะมีการได้รับการพักโทษกรณีพิเศษ ผ่านการใช้สิทธิผู้ต้องขังสูงอายุ และมีโรคประจำตัวรุมเร้า จะมีผลในต่อการอายัดตัวในคดีนี้อย่างไรบ้าง นายประยุทธ ชี้แจงว่า ก่อนที่นายทักษิณจะได้รับการพักโทษ
กรมราชทัณฑ์ จะต้องทำการแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ และทางเจ้าหน้าที่ตำรวจ จะใช้ดุลพินิจว่า จะอายัดตัวนายทักษิณ ไปฝากขังในตามเงื่อนไข หรือพิจารณาปล่อยตัวโดยมีเงื่อนไข แต่ในระหว่างที่มีการปล่อยตัวตามเงื่อนไข นายทักษิณก็ต้องไปรายงานตัว ในคดีที่ได้รับการพักโทษ หากว่าไม่ไปรายงานตัว พนักงานสอบสวนก็สามารถออกหมายจับได้อีก
ส่วนกรอบเวลาณขณะนี้ยังไม่มีกรอบเวลาที่ชัดเจน แต่ขอให้มั่นใจว่า สำนักงานอัยการสูงสุด จะพิจารณาทุกอย่างตามพยานหลักฐานที่มี อยากขอให้เชื่อมั่น ในกระบวนการทำงานของอัยการ
สำหรับกรณี ที่อดีตนายกฯ ยื่นขอความเป็นธรรมหลังจากที่มีการเข้าแจ้งข้อกล่าวหาเมื่อวันที่ 17 มกราคม ที่ผ่านมานั้น จะมีผลต่อการพิจารณาคดีหรือไม่ นายประยุทธ์ ระบุ เรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกันกับการพิจารณาคดี และสามารถทำควบคู่กันได้ ซึ่งแนวทางการพิจารณาของอัยการสูงสุด มีอยู่ 3 แนวทางคือ 1.สั่งฟ้อง 2.สั่งไม่ฟ้อง 3.มีเรื่องที่ต้องสอบสวนเพิ่มเติมจึงยังไม่สั่งฟ้อง
ส่วนข้อกังวลว่าคดีนี้จะคล้ายกับกรณีของบอสกระทิงแดง ที่ยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมเป็นจำนวนหลายครั้ง จนทำให้คดีนั้นเกิดความล่าช้าถูกมองว่าเป็นการประวิงเวลาหรือไม่ นายประยุทธ กล่าวว่า จากคดีดังกล่าวสำนักงานอัยการ ได้มีการพิจารณาหลักเกณฑ์ใหม่แล้ว
ซึ่งการยื่นหนังสือขอความเป็นธรรมในปัจจุบัน ต้องให้เจ้าตัวเป็นคนยื่นด้วยตนเองเท่านั้น ไม่สามารถส่งตัวแทนหรือยื่นผ่านทนายความได้ และถ้าหากยื่นด้วยประเด็นเดิมซ้ำ ๆ
อัยการก็จะใช้ดุลพินิจของอัยการว่าจะรับคำร้องขอความเป็นธรรมนี้หรือไม่ ซึ่งจะรับหรือไม่รับก็ได้ ซึ่งเป็นดุลพินิจของทางอัยการ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง