ลับมีดรอเชือด "ส.ว." ล็อคเป้ารัฐบาล เตรียมซักฟอกปม "ดิจิทัลวอลเล็ต"
ข่าวที่น่าสนใจ
ในที่สุดรัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ก็ได้เวลาขึ้นเขียง เมื่อวุฒิสภากับรัฐบาลตกลงกันได้ถึงวันซักฟอกรัฐบาล หรือ อภิปรายทั่วไปคณะรัฐมนตรี (ครม.) โดยไม่ลงมติตามรัฐธรรมนูญมาตรา 153 ในวันที่ 25 มีนาคมนี้
สำหรับ “ส.ว.ตัวตึง” ที่เตรียมลับมีดรอเชือดรัฐบาล อาทิ เสรี สุวรรณภานนท์ , นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ , ถวิล เปลี่ยนศรี, สมชาย แสวงการ, คำนูณ สิทธิสมาน , ดิเรกฤทธิ์ เจนครองธรรม หรือ สายทหาร อย่าง พล.อ.อู๊ด เบื้องบน และ พล.อ.อกนิษฐ์ หมื่นสวัสดิ์ เป็นต้น
เวทีซักฟอกรัฐบาลครั้งนี้นับเป็นการโชว์ฟอร์มเหล่าบรรดา ส.ว.ตัวตึง ทิ้งทวนก่อนหมดวาระ และ ลบคำสบประมาทว่า สภาสูงแห่งนี้ไม่ใช่ “สภาตรายาง” ซึ่ง ส.ว.สายแข็งต่างพากันลับปังตอชำแหละรัฐบาล 7 ประเด็นใหญ่ ครอบคลุมการเมือง เศรษฐกิจ สังคม และการปฏิรูป แต่ที่ต้องโฟกัสน่าจะมี 2 เรื่องร้อนฉ่า คือ 1. ปัญหาเศรษฐกิจและปัญหาปากท้องประชาชน ล็อคเป้าถล่มนโยบายเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัลวอลเล็ต และ 2.ปัญหาด้านกระบวนการยุติธรรมและการบังคับใช้กฎหมายกระทบชิ่งถึงคนชั้น 14 โดยตรงอย่างแน่นอน
“สมชาย แสวงการ” พุ่งเป้าอภิปรายมาตราฐานกระบวนการยุติธรรมโดยเฉพาะประเด็นนักโทษเทวดา เรื่องความยุติธรรมที่ไม่เท่าเทียม เพราะเห็นว่า ฝ่ายค้านโดยเฉพาะ พรรคก้าวไกล ที่มีนายชัยธวัช ตุลธน ผู้นำฝ่ายค้านรูดซิปปากและไม่ทำหน้าที่เสียดายเป็นถึงคนรุ่นใหม่แต่กลับไม่กล้าพูดเรื่องคนชั้น 14 ถือว่า ผิดปกติมาก
อีกคนส.ว.ตัวตึง คือ นายกิตติศักดิ์ รัตนวราหะ ล็อคเป้าเรื่องปัญหาเศรษฐกิจ เพราะมองว่าเรื่องที่จะกำหนดความอยู่รอดของรัฐบาล คือ การแก้ปัญหาปากท้องประชาชนจะเป็นตัวกำหนดเสถียรภาพรัฐบาลและเสถียรภาพนายกรัฐมนตรี ซึ่งโครงการดิจิทัลวอลเล็ตที่ต้องจับตารัฐบาลจะกล้าเสี่ยงออก พ.ร.บ.กู้เงิน นำเงินมาแจกประชาชนหรือไม่ ดูแนวโน้มแล้วพรรคร่วมรัฐบาลยังไม่กล้าเสี่ยงออก พ.ร.บ.กู้เงินมาแจกประชาชน ที่สำคัญต้องจับตามอง คือ ถ้ากฎหมายไม่ผ่านในสภาฯ นายกรัฐมนตรีต้องรับผิดชอบด้วยการลาออกระวังรัฐบาลอาจต้องเปลี่ยนม้ากลางศึก
สอดรับกับวานนี้คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เปิดข้อเสนอแตะเบรกรัฐบาลกู้มาแจกต้องระมัดระวัง 3 เรื่อง คือ 1.ความเสี่ยงทุจริตเชิงนโยบาย 2.ความเสี่ยงด้านเศรษฐกิจ เพราะยังมีข้อกังขาว่าเศรษฐกิจไม่ได้วิกฤตจริงไม่จำเป็นต้องกู้มาแจก และหากจะแจกเงินจริง ๆ ควรแจกกลุ่มเปราะบางไม่ควรแจกแบบเหวี่ยงแห ยาจกยันมหาเศรษฐี และ 3.ความเสี่ยงด้านทำผิดกฎหมายการเงินการคลัง เพราะถ้าพลาดท่าขึ้นมา ครม.อาจจบเห่กราวรูด
ประเด็นข้อเสนอแนะของ ป.ป.ช. เหมือนกระตุกหนวดเสือรัฐบาล ทำให้วานนี้ นายกรัฐมนตรี ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อ ว่าต้องดูว่าหน้าที่ของ ป.ป.ช. ว่าอย่างไร และเหตุผลคืออะไร ซึ่งคือการตรวจสอบการทุจริตประพฤติมิชอบ ส่วนนโยบายจะให้ใครบ้างเป็นเรื่องของรัฐบาล เป็นหน้าที่ของรัฐบาลที่ต้องคำนึงถึง และน้อมรับข้อสังเกตเรื่องของการทุจริต ตนเองเน้นย้ำในส่วนนี้ เพื่อให้ทาง ป.ป.ช. มีความสบายใจ และตรวจสอบได้ทุกขั้นตอน แต่ถ้าถามเรื่องของคนเปราะบาง เป็นเรื่องที่รัฐบาลพูดคุยกันตั้งแต่วันแรกแล้ว
หากกำหนดว่ารายได้ต่ำกว่า 20,000 บาท เปราะบาง แต่ผู้ที่มีรายได้สูงกว่านั้นมีหนี้เยอะ ก็ต้องการกระตุ้นเศรษฐกิจเช่นเดียวกัน จึงถือว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องละเอียดอ่อน ดังนั้น ทาง ป.ป.ช. มีหน้าที่ดูเรื่องทุจริต รัฐบาลก็ระวังตรงนี้ และขอน้อมรับไว้
สำหรับความมั่นใจว่าจะฝ่าวิกฤตความเห็นต่างตรงนี้ไปได้หรือไม่ นายกรัฐมนตรี กล่าวอย่างมั่นใจว่า เป็นเรื่องสำคัญในสังคมไทย รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง มีพี่น้องประชาชนให้การสนับสนุน ความเห็นต่างเป็นเรื่องที่สังคมยอมรับได้ และต้องบริหารจัดการความหวังซึ่งกันและกัน อยู่ในกรอบของความไม่ก้าวร้าว พร้อมยืนยันว่าไม่มีความรู้สึกว่าถูกบีบให้ถอยเป็นหน้าที่ที่รัฐบาลต้องจัดการเรื่องนี้อยู่แล้ว
คอการเมืองต้องเกาะขอบจอรอดูว่า รัฐบาลจะฝ่ากระแสต้านแจกเงินดิจิทัลและเตรียมรับแรงกระแทกทางการเมืองจากประเด็นคนชั้น 14 รัฐบาลจะสามารถชี้แจง ส.ว.ผ่านไปได้ฉลุยหรือไม่ในวันที่ 25 มี.ค.ที่จะมาถึงนี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง