วันที่ 4 ก.ย. 2564 ที่ หอผู้ป่วยชุมชนอำเภอทุ่งตะโก (C I) จ.ชุมพร ตั้งอยู่ที่ วิทยาลัยเทคโนโลยี่และเกษตรกรรมชุมพร หมู่ที่ 8 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อดีตผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด19 เป็นชาย2 คน นำถุงอาหารสำหรับคนไข้โควิดในหอผู้ป่วยชุมชน ออกมาให้ผู้สื่อข่าวดู เนื่องจากคาดว่างบประมาณไม่สอดคล้องกับปริมาณและ คุณภาพอาหาร
นายฤทธิชัย ทางเลือก อายุ36 ปี บ้านเลขที่ 142 หมู่ 5 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อาชีพรับจ้างทั่วไป และ นายโสภณ บุญช่วย อายุ 36 ปี บ้านเลขที่ 213/4 หมู่ที่ 5 ต.ตะโก อ.ทุ่งตะโก จ.ชุมพร อาชีพ ทำสวนทุเรียน ได้หิ้วถุงใส่อาหาร2 ถุง ภายในมีอาหารในถุงพลาสติคเล็กๆ พบว่าในถุงแรก เป็นเพียงข้าวสวยและไข่ต้มผัดเผ็ดที่มีแต่ผักและหมูสามชั้น3ชิ้น ชุดที่สองเป็นข้าวผัดไส้กรอกที่มีไส้กรอก3ชิ้น พร้อมแกงจืดฟักเขียว1ชิ้น และถั่วเขียวต้ม และน้ำปลาพริก1 ซอง ชายหนุ่มทั้งสองเล่าให้ฟังว่า ทั้ง2 คนเป็นอดีตผู้ป่วยติดเชื้อโควิด เมื่อช่วงวันที่ 14 สค.64 หลังจากตรวจพบว่าตัวเองติดเชื้อโควิด19 เข้ารับการรักษาตัว ที่ รพ.ทุ่งตะโก 2วัน ต่อมาในวันที่ 17 สค.64 ได้ถูกย้ายมาอยู่ที่ หอผู้ป่วยชุมชนอำเภอทุ่งตะโก หรือ Community Isolation (C I ) ได้รับการรักษา 14 วัน จนหายเป็นปกติ ในระหว่างรักษาในหอผู้ป่วยฯซึ่งมีทั้ง เด็ก คนหนุ่มสาว คนแก่ ทั้งหญิงชายร้อยกว่าคน ช่วงเปิดใหม่ๆมีบุคคลระดับสูงใน จังหวัด ฝ่ายต่างๆเดินทางมาเยี่ยม ตรวจ อาหารที่ได้รับวันละ 3 มื้อ อยู่ในเกณฑ์ดี มีทั้งข้าวพร้อมกับข้าว บางวันก็เป็นข้าวผัด ราดหน้า แต่ผ่านพ้นไปได้เพียงสี่ห้าวันทั้งคุณภาพ และปริมาณ อาหารก็เปลี่ยนไปมาก ในแบบที่นำมาให้ดูในวันนี้ แทบทุกวัน ซึ่งเป็นอาหารของมื้อเช้าและมื้อเที่ยงของวันนี้ ที่ผู้ป่วยไม่กิน จนทำให้ ผู้ป่วยกินไม่ลงหันไปกินอาหารแห้งที่มีผู้บริจาคแทน ในแต่ละมื้อจึงมีอาหารเหลือจำนวนมาก รวมถึง ภาชนะที่ใส่อาหารก็เป็นเพียงถุงพลาสติคบางๆ ทำให้ไม่แน่ใจในความปลอดภัยของอาหาร แทนที่จะใส่กล่องอาหาร ผู้ป่วยหลายคนยอมรับไม่ได้กับอาหารในลักษณะดังกล่าว ที่ส่วนใหญ่จะเป็น ข้าวสวยกับไข่ต้ม หรือ ผัดไข่กับผัก ผัดเผ็ดกับเศษหมู หรือช้าวผัดกับเนื้อหมูเพียงเล็กน้อย วนเวียนซ้ำซากทุกวัน ทั้งที่งบประมาณอาหารมีถึงคนละ 150บาทต่อวัน แต่คุณภาพและปริมาณอาหารไม่น่าจะถึง 60บาท จึงอยากให้มีการตรวจสอบ เพราะในขณะนี้ยังมีผู้ป่วยมากกว่าร้อยคนในหอผู้ป่วยแห่งนี้ ผู้ป่วยทั้งหมดไม่ได้ต้องการอาหารที่หรูหรา แต่อย่างใด เพียงขอให้เปลี่ยนประเภทอาหารบ้างเช่นราดหน้า ข้าวมันไก่ ที่ขายกันเพียง 30-40 บาท มีปริมาณที่กินแล้วอิ่ม พออยู่ได้ในแต่ละมื้อก็พอใจแล้ว เพราะเมื่ออยู่ในสถานที่รักษาตัว จนท.ก็ ไม่อนุญาตให้ รับอาหารจากบุคคลภายนอกไม่ว่าจะเป็นญาติ ถ้ามีก็เป็นอาหารแห้งที่ได้รับบริจาคมาบ้าง เพราะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกมาเยี่ยม เนื่องจากกลัวจะติดเชื้อ
ที่น่าเห็นใจและน่าสงสารมาก คิอ เด็กๆ และ คนชรา ที่ไม่สามารถกินอาหารที่จัดมาให้ได้ จนผู้ป่วยหลายคนต้องคอยแบ่งอาหารที่มีเนื้อหมู หรือไข่ ให้แก่กลุ่มเด็กๆและคนแก่ จนตัวผู้ป่วยต้องกินเพียงน้ำแกงหรือน้ำปลา เป็นที่น่าสังเวชใจมากต่อมาผู้สื่อข่าวได้เดินทางไปตรวจสอบสถานที่ทำอาหารพบว่า ใช้สถานที่ภายในลานรับซื้อผลปาล์ม ข้างถนนลูกรังภายในลานปาล์ม ไมได้มีลักษณะเป็นสถานที่ประกอบอาหารที่ถูกสุขลักษณะแต่อย่างใดอีกทั้งผู้ประกอบอาหารก็ ไม่สวมหน้ากาก ไม่สวมถุงมือด้วย ทั้งที่งบประมาณในการจัดหาอาหารที่ใช้งบของทางราชการมีมากถึง วันละ 15000 บาท ขึ้นอยู่กับจำนวนผู้ป่วย ในบางวันมีผู้ป่วยมากกว่า 150 คน เหตุการณ์ดังกล่าว ทำให้ ผู้ที่ทราบเรื่องพากันวิพากษ์วิจารณ์ว่า ผู้จัดทำอาหารให้กับผู้ป่วยใน หอผู้ป่วยแห่งนี้เป็นหน่วยงานไหน จึงพยายามสอบถามไปยังหน่วยงานระดับจังหวัดชุมพรแต่เนื่องจากเป็นวันหยุดจึงไม่มีผู้ใดรับโทรศัพท์ ทราบเบื้องต้นว่า มีจนท.หน่วยงานหนึ่งให้คนใกล้ชิดรับเหมาไปทำ แต่มีการหักหัวคิวกันหลายระดับกว่าจะถึงผู้ป่วยจึงทำให้มีสภาพอาหารแบบที่นำออกมาแฉให้สังคมได้รับทราบ
สาธิต ศรีหฤทัย ผู้สื่อข่าวภูมิภาค จ.ชุมพร