วันที่ 12 กุมภาพันธ์ 2567 เวลา 11.00 น. ณ ตึกสันติไมตรี ทำเนียบรัฐบาล นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง พร้อมด้วยนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง พลตำรวจเอก ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ พร้อมด้วยตัวแทนผู้บริหารหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ร่วมแถลงข่าวแก้ไขปัญหาหนี้ทั้งระบบ
นายกฯ กล่าวว่า ตามที่ได้มอบนโยบายเมื่อวันที่ 28 พฤศจิกายน 2566 และเมื่อวันที่ 12 ธันวาคม 2566 กำหนดให้การแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน ทั้งหนี้นอกระบบและหนี้ในระบบ เป็นวาระแห่งชาติ ได้มอบหมายให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นกระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงการคลัง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สถาบันการเงินของรัฐ บูรณาการและประสานงานร่วมกันในการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาหนี้ให้กับประชาชนอย่างครบวงจร และแก้ปัญหาอย่างเบ็ดเสร็จให้จบภายในรัฐบาลนี้
นายกฯ กล่าวว่า ผ่านมาประมาณ 2 เดือน หน่วยงานต่าง ๆ ได้ดำเนินการคืบหน้าไปมาก จึงขอถือโอกาสแถลงความคืบหน้าของการแก้ไขปัญหาหนี้สินให้กับประชาชน เพื่อชื่นชมการทำงานของทุกหน่วยงาน ชี้แจงปัญหาอุปสรรคที่เกิดขึ้น พร้อมแนวทางแก้ไข และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนที่กำลังประสบปัญหา แต่ยังไม่ได้เข้าร่วมโครงการ ให้เร่งติดต่อหน่วยงานภาครัฐเพื่อขอรับความช่วยเหลือต่อไป ซึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จ หรือ KPI ของการแก้ไขปัญหาหนี้สินประชาชน ประกอบไปด้วย 3 ข้อหลัก ๆ คือ 1. หนี้สินที่ได้รับการแก้ไขปัญหาจะต้องครอบคลุมทั้งในส่วนหนี้นอกระบบ และหนี้ในระบบไปพร้อมกัน 2. เจ้าหนี้และลูกหนี้ที่มีการลงทะเบียนครบถ้วนจะต้องได้เข้าสู่กระบวนการไกล่เกลี่ย 100% และ 3. ลูกหนี้ที่ผ่านการไกล่เกลี่ยแล้วทุกรายจะต้องได้รับการพิจารณาสินเชื่อพิจารณา หรือปรับโครงสร้างหนี้ รวมทั้งได้รับการช่วยเหลือพื้นฟูศักยภาพในการหารายได้
สำหรับการแก้หนี้นอกระบบ นายกฯ กล่าวว่า ได้มอบภารกิจให้กระทรวงมหาดไทย มีบทบาทในกระบวนการไกล่เกลี่ยระหว่างเจ้าหนี้และลูกหนี้ สำนักงานตำรวจแห่งชาติมีบทบาทในการดำเนินคดีอาญา หากเจ้าหนี้มีพฤติการณ์ข่มขู่ ใช้ความรุนแรง รวมทั้งมอบหมายให้กระทรวงการคลัง และสถาบันการเงินของรัฐเข้ามามีส่วนร่วมในการเป็นแหล่งเงินทุนช่วยเหลือลูกหนี้ที่ผ่านกระบวนการไกล่เกลี่ยแล้ว ส่วนผลของการแก้หนี้นอกระบบ ตั้งแต่เปิดรับลงทะเบียน เมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2566 มียอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย ยอดมูลหนี้รวมทั้งสิ้นประมาณ 9,800 ล้านบาท ยอดของรายการที่มีข้อมูลครบและสามารถเข้ากระบวนการไกล่ได้ 21,000 ราย และไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้ว 12,000 ราย คิดเป็น 57% ของจำนวนที่เข้าสู่กระบวนการ และผลจากการไกล่เกลี่ยทำให้มูลหนี้ลดลงกว่า 670 ล้านบาท จากยอดผู้ลงทะเบียนที่เป็นลูกหนี้มากกว่า 140,000 ราย และสามารถไกล่เกลี่ยสำเร็จแล้วประมาณ 12,000 พันราย ถือว่าหนทางข้างหน้ายังท้าทายมาก สำหรับทุกหน่วยงาน