จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ อ้างป่วยหนักไม่ปรากฏตัวในการพิจารณาคดีครั้งสุดท้ายในอังกฤษ ที่จะส่งเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐ เพื่อดำเนินคดีข้อหาเผยแพร่ความลับของสหรัฐผ่านเว็บไซต์
เมื่อวานนี้ ทนายความของนาย จูเลียน อัสซานจ์ ผู้ก่อตั้งวิกิลีกส์ ชาวออสเตรเลียวัย 52 ปี ที่ขณะนี้ถูกขังเดี่ยวในเรือนจำของอังกฤษมาตั้งแต่ปี 2562กล่าวว่า อัสซานจ์นั้นป่วยหนัก จนไม่สามารถปรากฏตัวต่อศาล ในการพิจารณาคดีชั้นอุทธรณ์ ที่อังกฤษจะส่งเขาในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปสหรัฐ ตามที่สหรัฐต้องการ เพื่อลงโทษข้อหาจารกรรม 17 กระทง ซึ่งเขาอาจได้รับโทษจำคุกสูงสุด 175 ปี จากกรณีที่เขาตีพิมพ์เผยแพร่เอกสารลับของกระทรวงต่างประเทศและกระทรวงกลาโหมสหรัฐในเว็บไซต์เมื่อปี 2553
นางสเตลลา อัสซานจ์ ภรรยาของเขา กล่าวที่ด้านนอกศาลว่า สหรัฐกำลังใช้ระบบกฎหมายในทางที่ผิดเพื่อ ไล่ล่า ดำเนินคดี และข่มขู่ และเธออ้างว่า สหรัฐวางแผนสังหารสามีของเธอ โดยอ้างถึงหลักฐานที่ซีไอเอพยายามสังหารอัสซานจ์ในปี 2560 ขณะเขาพักพิงในสถานทูตเอกวาดอร์ ในลอนดอน.
ส่วนกลุ่มผู้ประท้วงที่มาสนับสนุนเขาหลายสิบคนก็มารวมตัวกันนอกศาลในลอนดอนเมื่อวานนี้ โดยผู้ประท้วงถือธงออสเตรเลียและป้ายที่ระบุว่า “ปล่อยตัวจูเลียน อัสซานจ์” และ “ถอนข้อกล่าวหา” ซึ่งรัฐสภาออสเตรเลียได้ผ่านญัตติโดยได้รับการสนับสนุนจากนายกรัฐมนตรี แอนโธนี แอลบาเนซี เรียกร้องให้ปล่อยตัวอัสซานจ์จากการถูกขังของอังกฤษ นักเคลื่อนไหวนอกศาลต่างตะโกนว่า “สหรัฐ อังกฤษ ปล่อยตัวอัสซานจ์” และ “ยกเลิกส่งผู้ร้ายข้ามแดน” ท่ามกลางคำขวัญอื่นๆ
การพิจารณาคดีในสัปดาห์นี้จะตัดสินว่า อัสซานจ์จะได้รับอนุญาตให้ อุทธรณ์คำตัดสินของรัฐบาลอังกฤษในปี 2565 ที่ให้ส่งอัสซานจ์ในฐานะผู้ร้ายข้ามแดนไปยังสหรัฐหรือไม่ ทนายความของเขาแย้งว่า การส่งผู้ร้ายข้ามแดนจะถือเป็นการลงโทษผู้ที่เห็นต่างทางการเมือง และละเมิดอนุสัญญายุโรปว่าด้วยสิทธิมนุษยชน ซึ่งหากการอุทธรณ์ล้มเหลว อัสซานจ์จะยื่นคำร้องต่อศาลสิทธิมนุษยชนแห่งยุโรป และขอคำสั่งตามกฎข้อ 39 เพื่อยุติการส่งผู้ร้ายข้ามแดนในขณะที่พิจารณาคดีนี้
ทั้งนี้ในปี 2553 วิกิลีกส์ได้เผยแพร่เอกสารและภาพลับต่างๆ ซึ่งกลายเป็นข่าวดังไปทั่วโลก หลังเผยแพร่วิดีโอทหารสหรัฐ กราดยิงจากเฮลิคอปเตอร์ สังหารพลเรือนอิรักเสียชีวิต 18 ราย ต่อมาในปีเดียวกัน อัสซานจ์ถูกควบคุมตัวในอังกฤษ หลังประเทศสวีเดนออกหมายจับข้ามชาติ ในข้อหาล่วงละเมิดทางเพศ เขาได้รับการประกันตัวเมื่อ ธันวาคม 2553 แต่ในเดือน พฤษภาคม 2555 ศาลสูงสุดอังกฤษพิพากษาให้ส่งตัวเขาไปพิจารณาคดีที่สวีเดน จากนั้นเขาได้สถานะผู้ลี้ภัยอยู่ในสถานเอกอัครราชทูตเอกวาดอร์ในกรุงลอนดอนอยู่เกือบ 7 ปี ก่อนที่จะถูกตำรวจอังกฤษจับตัวในที่สุดวันที่ 11 เมษายน 2562 หลังเอกวาดอร์เรียกเรียกคืนสถานะผู้ลี้ภัย