นายสุนัย ผาสุก ที่ปรึกษาฮิวแมนไรต์วอตซ์ ประเทศไทย ทวิตข้อความผ่านทวิตเตอร์ว่า บ้านพี่เมืองน้อง! ถ้ายุบ “พรรคก้าวไกล” และตัดสิทธิ์ 44 สส. จากกรณีเสนอแก้ มาตรา 112 ไทยก็จะเดินตามรอยเท้าสิ่งที่ “ฮุนเซน”ประธานคณะองคมนตรีกัมพูชา อดีตนายกรัฐมนตรีกัมพูชาทำในกัมพูชา คือมีรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้ง แต่ฝ่ายค้านถูกนิติสงครามกวาดล้าง ประชาธิปไตยถูกทำลายย่อยยับ
อย่างไรก็ตามคำกล่าวของ “นายสุนัย” สอดคล้องกับแนวคิดของ “นายปิยบุตร แสงกนกกุล” แกนนำคณะก้าวหน้าที่เคยปลุกใจ”พรรคก้าวไกล” อย่าได้ถอยเรื่องมาตรา 112 โดยโพสต์ลงในเฟสบุ๊กมีในหัวข้อ “ข้อเสนอถึงพรรคก้าวไกลภายหลังศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครอง” ระบุว่า ภายหลังจากศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยคดีล้มล้างการปกครองเมื่อวันที่ 31 มกราคม ที่ผ่านมา ค่ำวันเดียวกัน ผมได้วิจารณ์และแสดงความไม่เห็นด้วยกับคำวินิจฉัยดังกล่าว ตั้งแต่หัวยันท้าย ไปแล้วนััน วันนี้ ผมจะขอวิจารณ์พรรคก้าวไกลและเสนอแนะต่อสาธารณะ
ผมเคยผ่านสถานการณ์เช่นนี้มาสมัยพรรคอนาคตใหม่ ผ่านประสบการณ์ความขัดแย้งทางความคิดในพรรคในเรื่องแหลมคม จึงขอใช้ประสบการณ์เหล่านี้ แนะนำไปถึงพรรคก้าวไกล คณะแกนนำ ส.ส. พนักงาน สมาชิก รวมถึงกองเชียร์ผู้สนับสนุนพรรค ดังนี้
1.พรรคก้าวไกลต้องถือธงนำประชาชน ในฐานะพรรคก้าวไกลเป็นพรรคที่สืบทอดมาจากพรรคอนาคตใหม่ ต้องตระหนักเรื่องการเป็นพรรคการเมืองที่นำความคิดมวลชน ความเป็นพรรคอะวองการ์ดด้วย มิใช่ ปล่อยให้มวลชนนำโดยลำพัง แล้วรอเก็บดอกผลความนิยมจากการเลือกตั้งเพื่อให้ตนเองเข้าไปมีอำนาจแต่เพียงอย่างเดียว
ในช่วงเวลาที่ “นิติสงคราม” รุมกระหน่ำซัดพรรคก้าวไกลในช่วงเวลานี้ ผมอยากให้พรรคตั้งสติ ตั้งหลักให้ดี อย่าลนลานตระหนกตกใจ จนเดินสะเปะสะปะ ไร้ทิศทาง ไร้แนวคิดรากฐาน แน่นอน มีความกลัว มีความกังวล ถึงภัยทางกฎหมายที่จะตามมาเป็นลูกระนาด ความกลัวเหล่านี้เกิดได้เป็นธรรมดา เรา ปุถุชนคนทั่วไป ก็รู้สึกเช่นนี้ได้
แต่เมื่อตั้งหลักได้แล้ว ขอให้กลับมายืนหยัดนำความคิดประชาชนให้ได้ อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่รอคอยความช่วยเหลือจากมวลชนให้ปกป้องตนเอง ถึงเวลาก็เรียกใช้มวลชนให้ปกป้อง แต่กลับไม่คิดอ่านขยับขยายการต่อสู้เลย อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกลกลายเป็นพรรคที่ไม่ว่าจะตัดสินใจทำอะไร ก็จะมีกองเชียร์ผู้สนับสนุนคอยปกป้อง โดยไม่คิดชี้นำความคิดมวลชนของพรรค แล้วก็กอบโกยเอาความนิยมจากมวลชนไปอย่างเดียว อย่าปล่อยให้พรรคก้าวไกล เปลี่ยนจาก “ยานพาหนะของการเปลี่ยนแปลง“ ไปเป็น “ยานพาหนะให้คนกลายเป็นอำมาตย์รายใหม่” กลายเป็นที่รวมตัวกันของคนทึ่อยากเป็น ส.ส. เป็น รมต.
2.หาช่องทางที่ยังพอเป็นไปได้ในการผลักดันการแก้ไข 112 ต่อไป ตามสภาพองค์ประกอบของพรรคการเมืองที่มีอยู่ในสภา ณ เวลานี้ ไม่น่าจะมีพรรคการเมืองพรรคไหนกระตือรือร้นกับการแก้ไขปัญหาเรื่อง 112 หากพรรคก้าวไกลยังคงยืนยันว่า มาตรา 112 เป็นปัญหาสำคัญในการเมืองไทย กระทบต่อเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น กลายเป็นเครื่องมือในการกลั่นแกล้งกัน จำเป็นต้องแก้ไขปรับปรุง เพื่อสร้างความเป็นประชาธิปไตย ความยุติธรรม และปกปักรักษาสถาบันกษัตริย์ พรรคก้าวไกลก็ต้องรับภารกิจนี้เดินหน้าต่อไป หากอ่านคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญโดยละเอียด จะเห็นได้ว่า ศาลรัฐธรรมนูญไม่ได้ห้ามการแก้ไข 112 อย่างสัมบูรณ์เด็ดขาด ต่อให้เราจำเป็นต้องยอมรับคำวินิจฉัย จำเป็นต้องทำตามคำวินิจฉัยนี้ มันก็ยังพอมีช่องทางให้ผลักดันแก้ไข 112 ได้อยู่
นั่นคือ การเสนอร่างพระราชบัญญัติแก้ไขประมวลกฎหมายอาญา ในประเด็น ดังต่อไปนี้ ลดอัตราโทษ ยกเลิกโทษจำคุกขั้นต่ำ
แบ่งแยกความผิด ออกเป็น 3 ฐาน ได้แก่ หมิ่นประมาท ฐานหนึ่ง ดูหมิ่น ฐานหนึ่ง แสดงความอาฆาตมาดร้าย อีกฐานหนึ่ง และแบ่งแยกตามตำแหน่งที่คุ้มครอง กำหนดให้นายกรัฐมนตรีทำหน้าที่ร้องทุกข์กล่าวโทษในความผิดตาม ป อาญา มาตรา 112 แต่เพียงผู้เดียว เมื่อประตูการแก้ไข 112 ยังคงเปิดอยู่ ยังพอมีพื้นที่ให้ขยับขยายอยู่บ้าง พรรคก้าวไกลก็ไม่ควรละทิ้ง โดยอ้างแต่เรื่องความอยู่รอดปลอดภัยขึ้นบังหน้า
3.กล้าหาญยืนยันโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ หลังจากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัย ผมแทบไม่เห็นคนของพรรคก้าวไกลออกมาตอบโต้ศาลรัฐธรรมนูญเลย เท่าที่เห็น ก็มีเพียงการแถลงสั้นๆของหัวหน้าพรรคเท่านั้น จุดยืนของพวกเราตั้งแต่พรรคอนาคตใหม่ คือ การต่อสู้กับขบวนการตุลาการภิวัฒน์ แต่ ณ วันนี้ ผมเห็นการต่อสู้ในเรื่องนี้น้อยมาก ผมยังดีใจ ที่หัวหน้าพรรคไม่ไปฟังคำวินิจฉัยในวันที่ 31
มกราคมที่ผ่านมา ผมดีใจ ที่พรรคแถลงโต้ศาลรัฐธรรมนูญออกมาบ้าง แต่ผมเห็นว่าน้อยเกินไป
ตามระบบรัฐธรรมนูญ ที่มีองค์กรตามรัฐธรรมนูญหลากหลาย มีแต่ ส.ส. มีแต่นักการเมืองที่ถืออำนาจรัฐนี่แหละ ที่จะต่อสู้กับศาลรัฐธรรมนูญได้อย่างพอฟัดพอเหวี่ยง การปล่อยให้ประชาชนคนทั่วไปรับภาระในการสู้กับศาล นั่นคือ การผลักภาระให้พวกเขาเสี่ยงโดนคดี ส.ส.ต่างหากที่มีอำนาจตรากฎหมาย อำนาจแก้ไขรัฐธรรมนูญอยู่ในมือ พรรคการเมืองต่างหากที่มีโอกาสเสนอนโยบายผ่านการเลือกตั้ง เข้าไปมีอำนาจรัฐ หาก ส.ส. และพรรคก้าวไกล ไม่คิดสู้กับศาลรัฐธรรมนูญบ้างเลย ตามหน้ากระดานตอนนี้ ก็คงไม่เหลือใครที่พอจะยันกับศาลรัฐธรรมนูญได้ ในท้ายที่สุด ศาลรัฐธรรมนูญก็จะขยับกินแดน สถาปนาตนกลายเป็นรัฐธรรมนูญเสียเอง การโต้กับศาลรัฐธรรมนูญ ทำได้ตั้งแต่วิจารณ์คำวินิจฉัยอย่างตรงไปตรงมา ใช้กลไกของสภาผู้แทนราษฎร อภิปราย หรือ ตั้งคณะกรรมาธิการ ศึกษาแนวคำวินิจฉัยศาลรัฐธรรมนูญที่เป็นปัญหาทั้งหมด เสนอร่าง พ.ร.ป. แก้ไข พ.ร.ป.ศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อยกเลิกเรื่องละเมิดอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ ตีกรอบอำนาจศาลรัฐธรรมนูญ
เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ตีกรอบมาตรา 49 มิให้รวมถึงการเสนอร่างกฎหมาย การใช้อำนาจนิติบัญญัติ อำนาจบริหาร ห้ามมิให้ศาลรัฐธรรมนูญเข้าแทรกแซงสกัดขัดขวางกระบวนการนิติบัญญัติในทุกขั้นตอน เว้นแต่ การตรวจสอบร่าง พ.ร.บ. ร่าง พ.ร.ป.ภายหลังจากผ่านรัฐสภาและก่อนทูลเกล้าฯเท่านั้นเสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม เปลี่ยนที่มาและองค์ประกอบศาลรัฐธรรมนูญเสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม กำหนดให้สภาผู้แทนราษฎรมีอำนาจถอดถอนศาลรัฐธรรมนูญได้เสนอร่าง รธน แก้ไขเพิ่มเติม ยกเลิกศาลรัฐธรรมนูญ และตั้งองค์กรอื่นทำหน้าที่พิทักษ์รัฐธรรมนูญแทน เป็นต้น ….ฯลฯ