"นอนดึกตื่นเที่ยง" นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน ทำให้มีอาการคล้ายกับ Jet Lag ในทุกวัน อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคร้ายมากกว่าคนที่เข้านอนในเวลาปกติด้วย
ข่าวที่น่าสนใจ
การเข้านอนดึกและตื่นนอนสาย ๆ แม้จะรู้สึกว่า ได้นอนเต็มอิ่ม แต่ก็ยังส่งผลเสียต่อสุขภาพอยู่ดี เพราะการนอนดึกทำให้นาฬิกาชีวภาพในร่างกายรวน ทำให้มีอาการคล้ายกับ Jet Lag ในทุกวัน คือมีอาการอ่อนเพลียในตอนกลางวัน และขาดสมาธิในการทำงาน นอกจากนี้ ยังส่งผลต่อการทำงานของอวัยวะต่าง ๆ ซึ่งรวมถึงสมอง หัวใจ และหลอดเลือด อีกทั้งยังเสี่ยงต่อการเป็นโรคเบาหวานและโรคหัวใจได้มากกว่าคนที่เข้านอนในเวลาปกติด้วย
โดยเมื่อมีรูปแบบการนอนที่เปลี่ยนแปลงไป จะส่งผลต่อกระบวนการเมตาบอลิซึม (Metabolism) ซึ่งเป็นกระบวนการทางเคมีที่ช่วยให้ร่างกายทำงานได้ตามปกติในด้านการซ่อมแซมส่วนที่สึกหรอในร่างกาย ระบบการเผาผลาญ การควบคุมปริมาณกลูโคส ความดันโลหิต ผิดปกติไป และคนที่นอนดึกเป็นประจำมักจะมีรูปแบบการกินที่ไม่ดีต่อสุขภาพ นอกจากจะละเลยการรับประทานอาหารในมื้อเช้า เพราะตื่นไม่ทันแล้ว ก็ยังกินอาหารไม่เป็นเวลา และมักมีการกินอาหารตอนดึก ๆ แทน จึงมีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ และเบาหวานชนิดที่ 2 นั่นเอง นอกจากนี้ ยังมีผลกระทบต่อการทำงานของสมองที่ทำงานไม่ได้ประสิทธิภาพเท่าคนนอนเร็ว
จากงานวิจัยโดยมหาวิทยาลัย Birmingham ของอังกฤษ พบว่า รูปแบบกิจกรรมหรือการทำงานของสมองในคนที่นอนดึกจะต่างจากคนที่นอนเร็วตื่นเช้า ซึ่งส่งผลต่อประสิทธิภาพในการเรียนและการทำงานได้ หลังจากทดลองกับกลุ่มอาสาสมัคร 2 กลุ่มที่มีสุขภาพดี กลุ่มหนึ่งนอนเร็วตื่นเช้า และกลุ่มหนึ่งนอนดึกตื่นสาย โดยให้กลุ่มอาสาสมัครเข้าเครื่อง MRI เพื่อสังเกตการทำงานของสมอง รวมถึงดูการทำงานของฮอร์โมนเมลาโทนินและคอร์ติซอล ซึ่งมีผลต่อวงจรการนอนหลับและตื่นของมนุษย์ด้วย ปรากฏว่า รูปแบบการทำงานของสมองของกลุ่มคนที่นอนดึกจะส่งผลให้ในช่วงกลางวันไม่ค่อยมีสมาธิในการจดจ่อกับสิ่งใดนาน ๆ และยังมีปฏิกิริยาการตอบสนองต่อสิ่งต่าง ๆ ลดลง รวมถึงมีระดับพลังงานที่ต่ำด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง