เมื่อวันที่ 6 ก.ย. 2564 องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) หรือ ACT ร่วมกับสำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน), สถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ, สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล, สำนักงานพัฒนารัฐบาลดิจิทัล และสถาบันเพื่อการยุติธรรมแห่งประเทศไทย จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชัน 2564 ภายใต้แนวคิด “คบเด็กสร้างชาติ” ในรูปแบบ Virtual Event ถ่ายทอดสดผ่านเฟซบุ๊กองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน โดยเชิญชวนหน่วยงาน องค์กรทั้งราชการ รัฐวิสาหกิจ และเอกชน ร่วมแสดงพลังต่อต้านคอร์รัปชัน ด้วยการแชร์ Live พร้อมติด hashtag #ชื่อหน่วยงาน #วันต่อต้านคอร์รัปชัน2564 #คบเด็กสร้างชาติ มีหลายหน่วยงาน หลายองค์กรให้ความสนใจร่วมทำกิจกรรมอย่างคึกคัก
นายวิเชียร พงศธร ประธานองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวเปิดงานว่า องค์กรต่อต้านคอร์รัปชันฯร่วมกับองค์กรสมาชิก และเครือข่าย ได้จัดงานวันต่อต้านคอร์รัปชันในวันที่ 6 กันยายน เป็นประจำทุกปี ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา เพื่อเป็นเวทีแสดงออกถึงพลังของทุกภาคส่วนในการร่วมแก้ปัญหาการโกงกินที่กัดกร่อนประเทศไทยมาอย่างยาวนาน หลายปีที่ผ่านมาองค์กรฯให้ความสำคัญและผลักดันการเปิดเผยข้อมูลของภาครัฐเพื่อให้เกิดความโปร่งใสตรวจสอบได้ ช่วยในการต่อต้านการโกงในทุกระดับ จึงได้พัฒนาฐานข้อมูลขนาดใหญ่ภายใต้โครงการ ACT Ai และในปีนี้องค์กรฯได้จัดกิจกรรม ACTkathon 2021 ชวนคนรุ่นใหม่มาร่วมแข่งขันออกไอเดียสร้างเครื่องมือต้านโกงพัฒนาต่อยอดการใช้ข้อมูลและเทคโนโลยี เพิ่มความโปร่งใส สร้างการมีส่วนร่วม จากพลังที่เต็มเปี่ยมด้วยความสามารถและความตั้งใจของคนรุ่นใหม่ทุกทีม ได้จุดประกายความหวังว่า พลังของคนรุ่นใหม่จะสืบทอด ขยายผล ขยายฐานการมีส่วนร่วมของคนรุ่นใหม่อีกจำนวนมาก โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่จะร่วมสร้างอนาคตประเทศไทยให้ดีขึ้น จึงอยากเรียกร้องหน่วยงานภาครัฐ ภาคเอกชน องค์กรอิสระ หรือภาคประชาสังคม ร่วมทำงานกับคนรุ่นใหม่ทั้งในองค์กร หรือในสังคมภายนอก โดยองค์ประกอบความเป็นเด็กสร้างชาติ มี 3 ข้อ คือ 1. ออกแบบอย่างเป็นระบบ จากการเริ่มตั้งคำถามเชิงลึกของเหตุการณ์ที่ไม่ปกติที่เกิดขึ้นในสังคมรอบตัว 2. เข้าถึงและประมวลผลจากฐานข้อมูลที่เป็นความจริง เพื่อวิเคราะห์และค้นหาคำตอบโดยใช้ฐานข้อมูล อย่างโปร่งใส 3. สามารถขยายผล “ขนาดใหญ่” จากที่คนจำนวนมากสามารถใช้ประโยชน์จากเครื่องมือเหล่านั้น เป็นจุดเริ่มต้นของการร่วมป้องกันเหตุการณ์ที่ไม่ปกติในสังคม
“ ดังนั้น “คนรุ่นใหญ่” จะต้องร่วมผนึกกำลังกับ “คนรุ่นใหม่” ให้มากขึ้น เพื่อร่วมพัฒนาประเทศไปด้วยกัน อันเป็นที่มาของชื่องานวันต่อต้านคอร์รัปชันในปีนี้ว่า “คบเด็กสร้างชาติ” ผม และทุกคนใน องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) “คบเด็กสร้างชาติ” เราเชื่อเป็นอย่างยิ่งว่า คนรุ่นใหญ่พร้อมที่จะจับมือคนรุ่นใหม่ “สร้างการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน” ให้เป็น “พลังสังคมขนาดใหญ่” ที่ขับเคลื่อนให้คนไทยและสังคมไทยไม่ยอมรับ และออกมาร่วมต่อต้านคอร์รัปชัน ร่วมเดินไปด้วยกันให้ถึงเป้าหมายปลายทางเดียวกัน คือ การได้เห็นประเทศไทยของเราที่ปราศจากการคอร์รัปชันในอีกไม่ไกล” นายวิเชียรกล่าว
ในงานได้มีการเปิดไอเดียของ “เด็ก” ในการคิดค้นเครื่องมือ “สร้างชาติ” โดยนำ 3 ทีมที่ชนะเลิศการนำเสนอไอเดีย ACTkatron 2021 คือ ทีมกินยกแก๊ง Corruption Analysis ที่มาของโครงการคือ ความพยายามจัดการกับข้อมูลของรัฐที่กระจัดกระจาย มีข้อมูลจำนวนมาก ขาดการเชื่อมโยงกัน โดยได้สร้างเครื่องมือเพื่อวิเคราะห์ ว่าโครงการไหนมีโอกาสจะเกิดคอร์รัปชันบ้าง บริษัทที่ได้งบประมาณไปมีเบื้องหลังเกี่ยวข้องกับนักการเมืองหรือไม่ และโครงการที่เราสนใจมีโอกาสที่จะเกิดการฮั้วประมูลหรือไม่
ทีมของบ้านเรา สนใจงบประมาณของท้องถิ่นที่คนมักจะมองข้าม การนำฐานข้อมูลที่มีอยู่แล้วบน ACT Ai มาออกแบบใหม่และนำเสนอให้เข้าใจง่ายขึ้น เลือกเฉพาะข้อมูลในส่วนของการบริหารส่วนท้องถิ่น โดยมีเป้าหมายหลักอยู่ที่การ “ให้คนในชุมชนรู้จักชุมชนของตัวเองให้ดียิ่งขึ้น”
ทีม PICA เรดาร์จับโกง แอปพลิเคชั่นร้องเรียนที่เปิดโอกาสให้ภาคประชาชนตรวจสอบความไม่ชอบมาพากลของโครงการ โดยผู้ที่ต้องการร้องเรียนลงทะเบียนเพื่อยืนยันตัวตนและเก็บข้อมูลไว้ในบล็อกเชน PICA สามารถทำงานได้ทั้งออนไลน์และออฟไลน์ ข้อมูลที่ได้จะส่งต่อให้ภาคีต่อต้านการคอร์รัปชัน
5 องค์กรเทคโนโลยีภาครัฐพร้อมสนับสนุนผลักดัน เครื่องมือปราบโกง ให้ใช้งานได้จริงทางองค์กรต้านคอร์รัปชันฯยังได้เชิญ 5 องค์กรเทคโนโลยีและนวัตกรรมมาพูดคุยในหัวข้อ Mentors Perspective:แผนการต่อยอดเครื่องมือ-What’s Next for ACTkathon เพื่อมาพูดคุยถึงการทำให้ไอเดียของคนรุ่นใหม่ใช้งานได้จริง โดย รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) กล่าวว่า จีบีดีไอเป็นหน่วยงานที่ดูเรื่องข้อมูลเกี่ยวกับบิ๊กดาต้าภาครัฐ ดังนั้น ถ้าทีมใดต้องการข้อมูลในการต่อยอด สิ่งที่ให้ความช่วยเหลือได้ คือ การสนับสนุนผู้เชี่ยวชาญสาย AI ที่สามารถเข้ามาช่วยแนะนำได้ หรือกลุ่มที่ต้องการเชื่อมโยงประวัติของนักการเมือง จีบีดีไอพอจะมีคนช่วยให้คำแนะนำ รวมทั้งการสนับสนุนในส่วนของเทคโนโลยี
ดร.มานะ นิมิตร มงคล เลขาธิการองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน (ประเทศไทย) กล่าวว่า ทุกหน่วยงานการสนับสนุนเครื่องมือต้านโกง เรื่องเงินและเทคโนโลยีไม่ใช่หัวใจสำคัญ การสนับสนุนด้วยการเปิดเผยข้อมูลและการนำเครื่องมือไปใช้จะเกิดประโยชน์มากกว่าในการทำให้เครื่องมือมีความสมบรูณ์มากมากขึ้น หากทุกหน่วยงานมาร่วมกันพัฒนาเครื่องมือให้เข้มแข็งและทรงพลังมากขึ้นคือการสนับสนุนที่เราต้องการ คนรุ่นใหม่ได้มาให้ไอเดียแล้วถึงเวลาที่คนรุ่นใหญ่จะช่วยสนับสนุนเพื่อให้การสร้างเครื่องมือต่อต้านการคอร์รัปชั่นเกิดขึ้นได้จริง
ทีมพัฒนา ACT Ai ต่อยอดพัฒนาตัวตรวจงบโควิด -19 โครงการก่อสร้างภาครัฐ พร้อมตั้งเป้าสร้างระบบนิเวศน์ปราบโกงเชื่อมโยงเครื่องมือไฮเทคตรวจทุจริต โดย ผศ.ดร.ต่อภัสสร์ ยมนาค และ นายณัฐภัทร เนียวกุล ผู้ดูแลโปรเจ็กต์ ACT Ai
นายณัฐภัทร กล่าวว่า ACT Ai คือ ทำให้มีช่องทางในการเข้าถึงข้อมูลที่เกี่ยวกับการต่อต้านการคอร์รัปชัน การเอาข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการสร้างความโปร่งใสและการแก้ปัญหาคอร์รัปชัน โดยเริ่มจากข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ และข้อมูลนิติบุคคลที่มีความสำคัญมาก จากนั้นจึงพัฒนาต่อจน ACT Ai ใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพความสำเร็จของ ACT Ai คือการมีประชาชนเข้ามาใช้เครื่องมือ 40,000 – 50,000 ราย การตรวจสอบเสาไฟฟ้ากินรี ก็เป็นสิ่งที่ค้นพบด้วย ACT Ai ยังได้พัฒนาตัวจับโกงงบโควิด-19 เพราะการแก้ไขปัญหาโควิด -19 เกี่ยวกับโครงการเงินกู้ 4 แสนล้านบาท และยังได้พัฒนาเครื่องมือตรวจสอบงบประมาณก่อสร้างร่วมกับกรมบัญชีกลาง เพื่อนำข้อมูลมาเป็นส่วนเชื่อมและส่วนขยายของ ACT Ai ตัว ACT Ai จึงเป็นเครื่องมือที่เป็นส่วนประกอบหนึ่งของการตรวจสอบการคอร์รัปชันรอให้มีการเชื่อมโยงข้อมูลกับเครื่องมือใหม่ๆ สำหรับระบบนิเวศน์ของ ACT Ai ในภาพใหญ่ ตัว ACT Ai ชุดข้อมูลที่เราเตรียมไว้สามารถนำไปใช้ได้กับไอเดียที่เกิดขึ้นใหม่สามารถเชื่อมโยงกับ ACT Ai ได้ทันที โดยเอาข้อมูลที่เราเตรียมไว้ไปใช้ได้ทันที