"อุ้มบุญ" สบส. เตรียมออกเกณฑ์ใหม่ ผู้หญิงอายุมากกว่า 55 ปี ประสงค์จะให้หญิงอื่นตั้งครรภ์แทนได้ และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้
ข่าวที่น่าสนใจ
ปัจจุบันทั่วโลกมีอัตราการเจริญพันธุ์ หรือค่าเฉลี่ยการมีบุตรของหญิงลดลงอย่างต่อเนื่อง รวมถึงประเทศไทยเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ต้องเผชิญกับสถานการณ์อัตราเจริญพันธุ์รวมของประเทศลดลง จนส่งผลให้ประสบกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการก้าวเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ซึ่งภาครัฐก็ตระหนักและให้ความสำคัญต่อการแก้ไขปัญหาดังกล่าว โดยมีการตราพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ พ.ศ. 2558 เพื่อสนับสนุนให้คู่สามีและภริยาที่ชอบด้วยกฎหมาย ซึ่งมีบุตรยากได้มีบุตรตามที่คาดหวัง รวมทั้งส่งเสริมให้วิทยาการด้านการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทยมีความก้าวหน้า
โดยประเทศไทยมีการให้บริการทำเด็กหลอดแก้วกว่า 20,000 รอบ การผสมเทียมกว่า 12,000 รอบ มีการอนุญาตดำเนินการให้มีการตั้งครรภ์แทน หรือที่เรียกว่า “อุ้มบุญ” จำนวน 754 ราย สร้างรายได้ให้ประเทศกว่า 7,500 ล้านบาท แต่สิ่งที่น่ายินดีเป็นอย่างยิ่ง คือ การเพิ่มขึ้นของอัตราความสำเร็จในการให้บริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ตั้งครรภ์ของประเทศไทย ซึ่งจากการรวบรวมและวิเคราะห์ข้อมูลการให้บริการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ โดยกรม สบส. พบว่า ในปัจจุบันประเทศไทยมีอัตราความสำเร็จในการตั้งครรภ์ ร้อยละ 48.53 จากเดิมที่มีอัตราความสำเร็จร้อยละ 46 และยังคงจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเกิดจากปัจจัยความสำเร็จ ทั้งจากเทคโนโลยีที่ทันสมัย การมีกฎหมายเฉพาะในการควบคุมกำกับการใช้เทคโนโลยีฯ อย่างเคร่งครัด และการพัฒนาระบบประกันสุขภาพ
สำหรับในปีงบประมาณ พ.ศ. 2567 กรม สบส. ได้วางนโยบาย แผนการดำเนินงานสำคัญมากมายในการขับเคลื่อนระบบบริการสุขภาพ และส่งเสริมให้ผู้มีบุตรยากสามารถเข้าถึงบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของไทย เช่น
- การทบทวนและพัฒนากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองเด็กที่เกิดโดยอาศัยเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ เพื่อส่งเสริมการเข้าถึงบริการแก่คู่สามีภริยา เช่น การปรับแก้ไขคุณสมบัติผู้รับบริจาคไข่ ให้ญาติสืบสายโลหิตของภริยา ที่มีอายุระหว่าง 20 – 40 ปี และไม่จำเป็นจะต้องผ่านการสมรสสามารถเป็นผู้บริจาคไข่ได้ การตรวจวินิจฉัยโรคทางพันธุกรรมในตัวอ่อนของภริยาที่มีอายุ 35 ปี สามารถตรวจวินิจฉัยได้ตามที่แพทย์หรือผู้ให้บริการเห็นว่า มีความจำเป็นและสมควร และให้ยกเลิกเพดานอายุของภริยาที่ประสงค์จะให้หญิงอื่น อุ้ม บุญ ตั้งครรภ์แทน จากเดิมไม่เกิน 55 ปี ให้มากกว่า 55 ปีขึ้นไปได้
- การส่งเสริมสิทธิประโยชน์ในการรักษาภาวะผู้มีบุตรยาก โดยการส่งเสริมและผลักดันให้มีการสนับสนุนงบประมาณจากกองทุนที่เกี่ยวข้อง กรณีเข้ารับบริการรักษาภาวะผู้มีบุตรยากจากสถานพยาบาลภาครัฐ โดยกำหนดจำนวนเงินและเงื่อนไขที่เหมาะสมเพื่อให้ผู้รับบริการสามารถเบิกค่ารักษาได้
- การพัฒนาระบบประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ดำเนินการยกร่างหลักเกณฑ์และเงื่อนไขของกรมธรรม์ในการทำประกันสุขภาพ สำหรับกรณีการตั้งครรภ์แทน ซึ่งจะเป็นกลไกสำคัญในการสร้างความเชื่อมั่น และเป็นจุดดึงดูดในการตัดสินใจเข้ารับบริการเทคโนโลยีช่วยการเจริญพันธุ์ทางการแพทย์ของประเทศ ไทยจากคู่สามีภริยาทั้งไทยและต่างชาติ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง