เหมือนได้เวลาเอาคืนของ “พรรคเพื่อไทย” กรณี “รองอ๋อง” หรือ นายปดิพัทธ์ สันติภาดา ประธานสภาผู้แทนราษฎร ทำงานล้ำเส้นทำตัวเหมือนฝ่ายค้านร่างทรง “พรรคก้าวไกล” ถล่มรัฐบาล ด้วยการบุกไปที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 1 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อทวงถามร่างกฎหมายที่ยังรอให้ “นายเศรษฐา ทวีสิน” นายกรัฐมนตรี ลงนาม ก่อนส่งกลับมาเข้าสู่การพิจารณาของสภา
การกระทำเช่นนี้ของ “รองอ๋อง” ในทางการเมืองมองเป็นอย่างอื่นไม่ได้นอกเสียจากต้องการสร้างคอนเทนต์แล้วนำไปขยายผลต่อพุ่งเป้าโจมตีไปที่รัฐบาลและกระทบชิ่งไปยัง นายกรัฐมนตรี โดยตรงว่า “เตะถ่วงกฎหมาย” ทั้งที่ประเพณีปฏิบัติในทางการเมืองไม่ควรทำหรือ พูดง่ายๆ ภาษาชาวบ้าน ไร้มารยาททางการเมือง มิหนำซ้ำยัง กล่าวเชิงยกตนข่มท่านว่า ฝ่ายนิติบัญญัติ ต้องไม่อยู่ใต้อาณัติของฝ่ายบริหาร
จึงไม่ใช่เรื่องแปลกว่า เหตุใดวานนี้ บิ๊กเนมพรรคเพื่อไทย ตบเท้ากันออกมาประเคนหมัดใส่ “รองอ๋อง” รัวเป็นชุด อาทิ นายธีรชัย แสนแก้ว สส.อุดรธานี พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า
โดยส่วนตัวตนชื่อชมการปฏิบัติหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ มาโดยตลอด เพราะมาจากการเลือกตั้ง เป็นสส.เขต เหมือนกับตน แต่การที่จะเสนอกฎหมาย อย่างสมัยที่แล้วตนเสนอ ร่างพ.ร.บ.อ้อยและน้ำตาลทราย กว่าที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา อดีตนายกรัฐมนตรี ขณะนั้นจะลงนาม เป็นเวลาเกือบ 2 ปีฉะนั้นสิ่งที่นายปดิพัทธ์ ทำไปนั้นตนว่าลาออกเถอะ มันเสียศักดิ์ศรี หากท่านเข้าไปตามตรอกออกตามประตู ได้รับการต้อนรับอย่างดีในการประสานงาน แต่นี่มันเสียศักดิ์ศรีสถาบันรัฐสภา ไปแบบโคจร ไปไม่มีใครต้อนรับ มีเจ้าหน้าที่จากไหนไม่รู้มาต้อนรับ ผมไปตอนนั้น ท่านนายกฯประยุทธ์เลี้ยงกาแฟ แต่ครั้งนี้นายกฯ ก็ไม่ได้มา อย่างน้อยก็ต้องรองนายกฯ มาต้อนรับ
หลังนายธีรชัย ไล่ถลุงหมัดแล้วเสร็จ “นายไชยวัฒนา ติณรัตน์” สส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นตำหนิการทำหน้าที่ของนายปดิพัทธ์ ต่อทันที ด้วยการกล่าวว่า การบุกไปทำเนียบของรองอ๋อง ถือว่าไม่เหมาะสม ทั้งที่ประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจหน้าที่ดำเนินกิจการของสภานั้น ๆ ให้เป็นไปตามข้อบังคับ และต้องวางตนเป็นกลางในการปฏิบัติหน้าที่ แม้นายปดิพัทธ์จะบอกว่าไปในนามส่วนตัว แต่ก็สลัดไม่ออกว่าเป็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ หากตนไม่ลุกขึ้นมาพูดก็เดินกลับพื้นที่ไม่ได้ เพราะมันคือเกียรติยศ และศักดิ์ศรี ของสภาฯแห่งนี้ และในรัฐธรรมนูญมาตราที่ 1 มาตราที่ 3 แบ่งอำนาจนิติบัญญัติ บริหาร และตุลาการ ชัดเจน เราไม่ก้าวล่วงกัน เราเคารพซึ่งกันและกัน และที่สำคัญเกิดมาผมก็เพิ่งเคยพบเคยเห็นประมุขฝ่ายนิติบัญญัติบุกฝ่ายบริหาร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับพฤติกรรมของประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ ชื่อปดิพัทธ สันดิภราดา
สังเวียนรัฐสภาเดือดพล่าน ขณะที่ “รองอ๋อง” ก้นร้อนต้องลุกขึ้นชี้แจง ว่า การบุกไปทำเนียบรัฐบาลในวันนั้น ต้องการปกป้องเพื่อนสมาชิก เพราะร่างกฎหมาย เป็นของหลายพรรคการเมือง จึงตัดสินใจเดินทางไปที่ทำเนียบฯ โดยให้เลขาฯ และตำรวจประสานงานกันก่อนในช่วงเช้า แต่พอไปถึง ก็ไม่ได้รับการปฏิบัติอย่างที่ประสานงานไว้ เพราะฉะนั้น ภาพอาจจะดูทุลักทุเลไปสักนิด แต่ผมยืนยันว่าเป็นการเข้าพบโดยกระบวนการที่ถูกต้อง และมีการประสานงานล่วงหน้า ไม่ได้เป็นการบุก ไม่ได้ไปก้าวล่วง หรือล้ำเข้าไปในการตัดสินใจของนายกฯ จึงอยากเรียนข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง กับสมาชิกดังนี้ครับ
การชี้แจงของ “หมออ๋อง” ฟังไม่ขึ้น ยิ่งปลุกให้ พรรคเพื่อไทย ของขึ้น โดยเฉพาะ “ครูมานิตย์” หรือ นายมานิตย์ สังข์พุ่ม” สส.สุรินทร์ พรรคเพื่อไทย ลุกขึ้นอภิปรายว่าทันทีว่า
การที่รองประธานสภาฯ ไปทำเนียบฯ เป็นหน้าที่ตามข้อบังคับใด และ นายวันมูหะมัดนอร์ มะทา ประธานสภาฯ ได้มอบหมายหรือไม่ จึงอยากทราบเจตนา อีกทั้งไม่เชื่อว่า รองประธานสภาฯ จะไม่อ่านกฎหมายรัฐธรรมนูญ และข้อบังคับ โดยเฉพาะ มาตรา 133 ที่กำหนดไว้ชัดเจน ว่าคนที่จะบังคับใช้กฎหมาย คือ คณะรัฐมนตรี และคนที่รับผิดชอบคือ นายกรัฐมนตรี ทำให้มี สส.พรรคก้าวไกลประท้วง แต่ “นายปดิพัทธ์” ขออย่าประท้วง ทำให้ “ครูมานิตย์” กล่าวว่า “อย่าประท้วงเลย เอาความจริงมาพูด นั่งเถอะไอ้หนู นั่งเถอะๆ”
เมื่อ “ครูมานิตย์” พูดเช่นนั้น ทำให้ “นายชุติพงศ์ พิภพภิญโญ” สส.ระยอง พรรคก้าวไกล ลุกขึ้นประท้วง ขอให้ประธานควบคุมการประชุมให้อยู่ในระเบียบวาระ พร้อมอ้างว่า “ครูมานิตย์” ได้พาดพิงหัวหน้าพรรคภูมิใจไทย จึงขอให้ถอนคำพูด เพราะเห็นว่าเป็นการไม่สมควร
ขณะที่ “นายรังสิมันต์ โรม” สส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล กล่าวโต้ตอบ “ครูมานิตย์” ว่าเป็นสส.หลายสมัย ใช้คำว่า “ไอ้หนู” กับเพื่อนสมาชิกในห้องนี้ได้อย่างไร เพราะตนเองก็ให้ความเคารพ “ครูมานิตย์” มานาน แต่การใช้คำว่าไอ้หนูแบบนี้ ถือว่าไม่เคารพกัน เพราะจะเป็น สส. 1 สมัย 5 สมัย 10 สมัย เราเท่ากัน จะมาใช้คำพูดหยาบคายแบบนี้ เพื่อด้อยค่าเรื่องของคุณวุฒินั้นไม่ได้ จึงขอให้ประธานสั่งให้ “ครูมานิตย์ ถอนคำพูด” ซึ่ง “ครูมานิตย์” ก็ยินดีที่จะถอนคำพูด พร้อมกล่าวขออภัย ในที่สุดสงครามน้ำลายจึงได้ยุติลง แต่ในใจทั้งสองพรรคยังอารมณ์ค้างอยู่