"คุณภาพอากาศไทย" แย่ พุ่งติดอันดับ 2 ของโลก มลพิษทางอากาศภาคเหนืออ่วม อันดับ 1 ของประเทศ ทำอย่างไรถึงจะอยู่ร่วม PM2.5 ให้ปลอดภัย?
ข่าวที่น่าสนใจ
เว็บไซต์ iqair รายงาน คุณภาพอากาศในโลก ดัชนีคุณภาพอากาศ (AQI) และมลพิษทางอากาศ PM2.5 ในโลก วันที่ 7 มี.ค. ณ เวลา 10.52 น. 10 อันดับคุณภาพอากาศตามเมืองสำคัญของโลก “คุณภาพอากาศไทย” พุ่งทะยานรั้งอันดับ 2
- อันดับ 10 เสิ่นหยาง, จีน (AQI = 160)
- อันดับ 9 ปักกิ่ง, จีน (AQI = 161)
- อันดับ 8 มุมไบ, อินเดีย (AQI = 161)
- อันดับ 7 หางโจว, จีน (AQI = 162)
- อันดับ 6 ธากา, บังกลาเทศ (AQI = 172)
- อันดับ 5 ลาฮอร์, ปากีสถาน (AQI = 176)
- อันดับ 4 ย่างกุ้ง, เมียนม่าร์ (พม่า) (AQI = 179)
- อันดับ 3 เดลี, อินเดีย (AQI = 187)
- อันดับ 2 เชียงใหม่, ไทย (AQI = 190)
- อันดับ 1 โกลกาตา, อินเดีย (AQI = 190)
ขณะที่ อันดับเมืองที่มีมลพิษมากที่สุดของไทย (ณ เวลา 10.54 น.) 3 อันดับแรก ได้แก่ ดอยสะเก็ด เชียงใหม่ AQI 215, แม่เมาะ ลำปาง AQI 199 และ สันทราย เชียงใหม่ AQI 194 ตามลำดับ
“คุณภาพอากาศไทย” แย่ ปัญหาวิกฤติ PM2.5
เป็นเรื่องปกติที่เมืองใหญ่อย่างกรุงเทพฯ หรือเชียงใหม่ และเมืองหลวงของอีกหลายประเทศทั่วโลก ต้องเผชิญปัญหามลพิษจากฝุ่นละอองในอากาศอยู่เสมอ ด้วยประชากรหนาแน่น ความคับคั่งของการจราจร รวมถึงเขม่าควัน และฝุ่นผงจากการก่อสร้าง
แต่ปัญหาวิกฤติที่ชาวเมืองกำลังวิตกคือ ฝุ่นละอองขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ซึ่งไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ทำให้ขาดความตระหนักถึงอันตรายต่อสุขภาพอย่างใหญ่หลวง ฝุ่นละอองจิ๋ว PM 2.5 ส่วนใหญ่เกิดจากการเผาไหม้เครื่องจักร โดยเฉพาะเครื่องยนต์ของทั้งรถยนต์ใหม่และเก่า มักมีปริมาณสูงสุดช่วงรถติดมาก ๆ ในช่วงเช้าและเย็นของวันทำงาน โดยมากจะเกิดในช่วงฤดูหนาวที่อากาศนิ่งและแห้ง ส่งผลให้ฝุ่นไม่ลอยขึ้นที่สูง อีกทั้งปัญหาลมพัดผ่านได้ยาก อากาศหยุดนิ่ง เนื่องจากมีตึกสูงปิดกั้นทางลม รวมถึงฝุ่นจากการก่อสร้าง การลักลอบเผาที่มีอยู่แทบทุกพื้นที่ ก็เป็นปัจจัยเกื้อหนุนทำให้คุณภาพอากาศเลวร้ายลง
ภัยร้ายแรงของฝุ่นจิ๋ว?
ด้วยขนาดที่เล็กมาก ทำให้ฝุ่นพิษ PM2.5 สามารถถูกสูดเข้าลึกถึงทางเดินหายใจและปอด บางอนุภาคยังอาจเข้าสู่กระแสเลือดไหลเวียนไปทั่วร่างกาย ก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพมากมาย อาทิ ส่งผลให้ผู้ป่วยโรคหอบหืดกำเริบ หรือเป็นสาเหตุให้คนปกติเป็นหอบหืดได้เช่นกัน หากไม่รีบแก้ไข หรือไม่รู้ตัวว่าได้สูดเอามลพิษขนาดเล็กเข้าสู่ระบบทางเดินหายใจและปอดจนสะสมเป็นเวลานาน อาจเป็นปัจจัยให้เกิดมะเร็งปอดได้ในที่สุด
ขณะที่ การสูดหายใจเอาฝุ่นละอองพิษเล็กจิ๋วติดต่อกันระยะหนึ่ง ก็จะส่งผลให้เกิดการตกตะกอนภายในหลอดเลือด จนทำให้เกิดหัวใจวาย หรือหลอดเลือดสมองตีบได้ ทั้งนี้ การสัมผัสมลพิษทางอากาศยังมีผลต่อเซลล์กล้ามเนื้อหัวใจ ทำให้เต้นผิดจังหวะ และอาจรุนแรงจนส่งผลให้หัวใจวายเฉียบพลัน
รวมทั้ง เมื่อฝุ่นผงขนาดเล็กสามารถผ่านเข้าสู่กระแสเลือดและเกิดการสะสมขึ้น จะส่งผลให้ความดันโลหิตสูง และเลือดมีความหนืด ซึ่งเพิ่มความเสี่ยงให้เกิดลิ่มเลือดในสมอง รวมถึงหลอดเลือดแดงในสมองแข็งตัว ทำให้เส้นเลือดในสมองตีบ หรือแตก เป็นสาเหตุของโรคอัมพฤกษ์อัมพาตและเสียชีวิตได้
กลุ่มเสี่ยงอันตรายจากฝุ่นพิษ?
ทุกคนที่กำลังเผชิญปัญหาฝุ่นพิษโดยที่ไม่ป้องกัน มีความเสี่ยงเกิดโรคมากน้อยขึ้นกับสุขภาพและความแข็งแรงของร่างกาย สำหรับเด็ก หญิงมีครรภ์ ผู้สูงอายุ และผู้มีโรคประจำตัว โดยเฉพาะโรคปอดหรือโรคหัวใจ ถือเป็นผู้มีความเสี่ยงสูงขึ้น อาจถึงกับชีวิตได้
สังเกตตัวเอง?
โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัว ควรพกยาติดตัวเสมอ หรือพบแพทย์เพื่อรับคำปรึกษา
สำหรับผู้ที่ไม่สามารถหลีกเลี่ยงสถานที่หนาแน่นของมลพิษทางอากาศ หรือไม่แน่ใจการป้องกันตนได้ผลหรือไม่ โดยเฉพาะบุคคลในกลุ่มเสี่ยง หากพบอาการ เช่น หายใจลำบาก หน้ามืด อ่อนแรง หรือไอติดต่อกันรุนแรง ควรรีบพบแพทย์ เพื่อรับการรักษาให้ทันท่วงที
อยู่ร่วมฝุ่นพิษให้ปลอดภัย?
- สำหรับการอยู่ร่วมกับฝุ่นพิษตัวร้ายอย่างไรให้ปลอดภัยนั้น แนะนำให้ติดตั้งแอปพลิเคชันเพื่อตรวจวัดคุณภาพอากาศก่อนออกนอกบ้าน โดยค่าดัชนีคุณภาพอากาศ Air Quality Index หรือ AQI ที่ปลอดภัยสำหรับประชาชนทั่วไปต้องน้อยกว่า 100
- ควรงดทำกิจกรรมกลางแจ้งหรือใช้เวลาอยู่ภายนอกอาคารให้น้อยที่สุด
- หากจำเป็นต้องอยู่นอกอาคารให้สวมใส่หน้ากากป้องกัน PM2.5
- ปิดหน้าต่างและประตูบ้านเมื่อค่าฝุ่นพิษเกินมาตรฐาน ซึ่งคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ ได้กำหนดมาตรฐานฝุ่นละอองขนาดไม่เกิน 2.5 ไมครอน ในบรรยากาศทั่วไปใหม่ จากเดิมต้องไม่เกิน 50 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ถูกปรับลงมา โดยตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 66 จะต้องไม่เกิน 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร
- ใช้เครื่องกรองอากาศชนิดมีแผ่นกรอง HEPA Filter ภายในบ้านโดยเฉพาะบ้านที่มีเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้ที่เป็นโรคระบบทางเดินหายใจ
- หมั่นดูแลสภาพรถยนต์ ทำความสะอาดระบบปรับอากาศของรถให้อยู่ในสภาพดี งดการเผาไหม้ขยะหรือสิ่งของที่อาจก่อมลพิษมากขึ้น
ทั้งนี้ ต้องเน้นย้ำกันอีกครั้งว่า อย่ามองข้ามปัญหามลพิษร้ายแรงที่เรากำลังเผชิญ เพราะฝุ่นเล็กจิ๋วที่ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่านี้ อันตรายร้ายแรงถึงชีวิตทีเดียว
ข่าวที่เกี่ยวข้อง