ยิ่งกูรูทางกฎหมายเลือกตั้งไม่พลาดต้องออกมาสวมบทโหรทำนายชะตาวันยุบพรรค พร้อมชี้ทางรอดให้กับบรรดากรรมการบริหารพรรค และ ส.ส.ที่กำลังจะกลายเป็นผึ้งแตกรัง นั้นคือ นายสมชัย ศรีสุทธิยากร อดีตกรรมการการเลือกตั้ง ขั้นต่อไป ในขั้นศาลรัฐธรรมนูญ ไม่น่าจะเกิน 2 เดือนจากนี้ คือ อยู่ในราวต้นเดือนพฤษภาคม 2567 การยุบพรรค จะมีผลต่อการตัดสิทธิกรรมการบริหารพรรค ซึ่งพรรคก้าวไกลต้องประเมินว่า จะรักษาหลักการที่รอผลคำวินิจฉัย หรือ จะให้ สส.บัญชีรายชื่อที่เป็นกรรมการบริหารลาออกเพื่อเลื่อนลำดับคนขึ้นมาแทนที่เพื่อรักษาจำนวน สส.หลังยุบพรรคให้มีจำนวนเท่าเดิม และ การย้ายไปสังกัดพรรคใหม่ ของ สส. ต้องทำภายใน 60 วัน จึงเป็นเรื่องที่ต้องพยายามรักษา สส. ให้อยู่ให้มากที่สุด ท่ามกลางข้อเสนอที่เย้ายวนจากพรรคการเมืองอื่น ที่ต้องมีข้อเสนอเชิญชวนให้สังกัดพรรคอย่างมากมายแน่นอน
ทั้งนี้หากเปรียบเทียบกับชะตากรรม พรรคอนาคตใหม่ ยุค นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ ไล่ไทม์ไลน์ยุบพรรคได้ดังนี้
-11 ธันวาคม 2562 กกต. มีมติยื่นคำร้องต่อศาลรัฐธรรมนูญพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าการกู้ยืมเงินจากนายธนาธรของพรรคอนาคตใหม่ เป็นการกระทำฝ่าฝืน มาตรา 72 แห่ง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมือง
– 25 ธันวาคม 2562 ศาลรัฐธรรมนูญรับคำร้องเพื่อพิจารณายุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมให้พรรคอนาคตใหม่ชี้แจงข้อกล่าวหา
-27 มกราคม 2563 ทีมทนายความอนาคตใหม่ นำหลักฐานยื่นชี้แจงศาลรัฐธรรมนูญ
– 5 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญเผยแพร่เอกสารนัดอ่านคำวินิจฉัยยุบหรือไม่ยุบพรรคอนาคตใหม่
– 12 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญให้พยานบุคคลรวม 17 ปาก ของพรรคอนาคตใหม่ จัดทำบันทึกถ้อยคำยืนยันข้อเท็จจริงหรือความเห็นหนังสือยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญ และให้เลขาธิการ กกต.ในฐานะผู้เกี่ยวข้อง จัดทำความเห็นเป็นหนังสือและส่งเอกสารต่อศาลรัฐธรรมนูญในวันเดียวกัน
-21 กุมภาพันธ์ 2563 ศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัยยุบพรรคอนาคตใหม่ พร้อมเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งของคณะกรรมการบริหารพรรค เป็นเวลา 10 ปี
ดังนั้นจะเห็นได้ว่านับตั้งแต่วันที่ กกต.มีมติส่งเรื่องไปให้ศาลรัฐธรรมนูญ และจนกระทั่งศาลรัฐธรรมนูญมีคำวินิจฉัย ใช้ระยะเวลารวมทั้งสิ้นไม่ถึง 3 เดือน ซึ่งต้องจับตาว่าคดียุบพรรคก้าวไกลจะใช้เวลาใกล้เคียงกับคดียุบพรรคอนาคตใหม่หรือไม่ หรืออาจจะใช้เวลารวดเร็วกว่า เพราะอย่าลืมว่าศาลรัฐธรรมนูญเป็นผู้วินิจฉัยเองว่าพรรคก้าวไกล มีการกระทำเข้าข้ายล้มล้างการปกครองตามรัฐธรรมนูญมาตรา 49 จึงมีพยานหลักฐานครบถ้วนในมือ
สำหรับกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลที่ต้องลุ้นระทึกว่าจะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิตหรือไม่ หากศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยยุบพรรคก้าวไกล มีทั้งหมด 10 คนด้วยกัน โดยเป็นกรรมการบริหารพรรคก้าวไกลในช่วงที่พรรคเสนอร่างกฎหมายแก้ไขมาตรา 112 ซึ่งมีรายชื่อ ดังนี้
1.นายพิธา ลิ้มเจริญรัตน์ หัวหน้าพรรคในขณะนั้น 2.นายชัยธวัช ตุลาธน เลขาฯพรรคในขณะนั้น 3.นางสาวณธีภสร์ กุลเศรษฐสิทธิ์ เหรัญญิกพรรคในขณะนั้น 4.นายณกรณ์พงศ์ ศุภนิมิตตระกูล นายทะเบียนสมาชิกพรรคในขณะนั้น 5.นายปดิพัทธ์ สันติภาดา กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคเหนือในขณะนั้น
6.นายสมชาย ฝั่งชลจิตร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคใต้ในขณะนั้น 7.นางอมรัตน์ โชคปมิตต์กุล กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคกลางในขณะนั้น 8.นางสาวเบญจา แสงจันทร์ กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคตะวันออกในขณะนั้น 9.นายอภิชาติ ศิริสุนทร กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนภาคอีสานในขณะนั้น และ10.นายสุเทพ อู่อ้น กรรมการบริหารพรรคสัดส่วนปีกแรงงานในขณะนั้น
ส่วน 44 สส.ก้าวไกล ซึ่งรวมถึงนายพิธา ที่ร่วมเสนอชื่อแก้ไขกฎหมาย 112 อยู่ระหว่างการดำเนินการตรวจสอบของป.ป.ช.ว่าเป็นการกระทำเข้าข่ายฝ่าฝืน และไม่ปฏิบัติตามมาตรฐานจริยธรรมอย่างร้ายแรงหรือไม่ ตามที่นายธีรยุทธ สุวรรณเกษร ทนายความ ได้ไปยื่นเรื่องไว้ เมื่อวันที่ 2 กุมภาพันธ์ 67 ซึ่งหากป.ป.ช.มีมติชี้มูล จะต้องส่งเรื่องให้ศาลฎีกาพิจารณา หากศาลฎีการับฟ้องและหากถูกวินิจฉัยว่าผิดจริยธรรมขั้นร้ายแรง 44 สส.พรรคก้าวไกล จะถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งตลอดชีวิต และตัดสิทธิเลือกตั้งเป็นระยะเวลา 10 ปี