“สปสช.กทม.” ออก 6 หลักเกณฑ์ แก้ปัญหาส่งตัวผู้ป่วยคลินิกอบอุ่น ยันงบเพียงพอ – Top News รายงาน
(15 มี.ค.67) นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุขฝ่ายการเมือง กล่าวถึงกรณีที่มีการร้องเรียนเรื่องการรับบริการที่คลินิกอบอุ่น ส่งตัวผู้ป่วยนอกไปรักษาที่โรงพยาบาล แต่ถูกโรงพยาบาลปฏิเสธนั้น ตนได้ตรวจสอบกับสำนักงานหลักประกันสุขภาพ (สปสช.) พบว่า สาเหตุเกิดจากช่วงรอยต่อของการปรับรูปแบบบริการและการจ่ายเงินเป็นแบบ “จ่ายล่วงหน้าให้เงินก้อนแบบเหมารายหัว” มีผลเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา จึงเกิดความสับสนระหว่างคลินิกกับโรงพยาบาล ซึ่งล่าสุด สปสช.ได้แก้ไขปัญหาในเบื้องต้นภายใต้หลักการ “ผู้ป่วยโรคซับซ้อนที่เกินศักยภาพคลินิก ต้องได้รับการรักษาที่โรงพยาบาล ผู้ป่วยโรคเรื้อรังที่ดูแลโดยคลินิกได้ ต้องได้รับการดูแลที่คลินิก”
พร้อมออก 6 เกณฑ์ในการดูแลรักษาผู้ป่วยบัตรทองในเขต กทม.ดังนี้
1.ผู้ป่วยมีบัตรนัดโรงพยาบาล แต่ไม่มีใบส่งตัวของคลินิกต้นสังกัด : สปสช.ขอให้โรงพยาบาลให้บริการประชาชน (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกองทุนอื่น )
2.ผู้ป่วยมีบัตรนัดของโรงพยาบาล แต่ได้ใบส่งตัวจากหน่วยบริการอื่น : ให้โรงพยาบาลรับรักษา (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน และกองทุนอื่นๆ
3.ผู้ป่วยไม่มีบัตรนัด ถ้าเจ็บป่วยฉุกเฉิน : โรงพยาบาลต้องให้บริการโดยเร็ว ไม่ต้องขอใบส่งตัว (ให้โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉิน)
4.ผู้ป่วยที่ไม่ใช่อุบัติเหตุฉุกเฉิน และโรงพยาบาลประเมินว่าไม่ควรรอ : ให้โรงพยาบาลบริการไปก่อน (โรงพยาบาลเบิกค่ารักษาจากกองทุนเจ็บป่วยฉุกเฉินและอื่นๆ )
5.ผู้ป่วยมีใบส่งตัวจากคลินิก สามารถส่งต่อหน่วยบริการอื่นได้ (ให้เบิกค่ารักษาพยาบาลตามระบบ FS จากคลินิกอบอุ่นหรือกองทุนที่เกี่ยวข้อง)
6.กรณีผู้ป่วยเกินศักยภาพของโรงพยาบาลรับส่งต่อแห่งที่ 1 : ให้ส่งตัวผู้ป่วยไปรักษาต่อยังโรงพยาบาลแห่งที่ 2 ที่มีศักยภาพได้ โดยไม่ต้องกลับไปรับใบส่งตัวที่คลินิกต้นสังกัด (ให้แจ้งที่คลินิกต้นสังกัดและเบิกค่ารักษาจากกองทุน OP Refer หลังจากนั้น) หากโรงพยาบาลแห่งที่ 2 เห็นว่ามีความจำเป็นต้องรักษาต่อเนื่อง : ให้ส่งประวัติการรักษากลับไปยังคลินิกต้นสังกัด พิจารณาส่งตัวมายังคลินิกที่ 2 โดยขอให้ออกหนังสือส่งตัวอย่างน้อย 90 วัน