ซีอีโอ เครือซีพี “คุณศุภชัย เจียรวนนท์” ฉายภาพการศึกษาในมุมมองเอกชน บนเวทีสัมมนานักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ

กดติดตาม TOP NEWS

เมื่อวันที่ 16 มีนาคม 2567 – กระทรวงการศึกษาธิการ จัดโครงการสัมมนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์ ซึ่งจัดขึ้นโดยมี พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ เป็นประธานเปิดสัมมนาครั้งสำคัญนี้  เพื่อพัฒนาผู้บริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรในกำกับ สามารถขับเคลื่อนนโยบายการศึกษา กำหนดทิศทางแนวทางการทำงาน แลกเปลี่ยนความคิดเห็นร่วมกัน มีการบูรณาการและสร้างภาคีเครือข่ายทางการบริหารจัดการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ตามนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ภายใต้แนวทางการทำงาน “จับมือไว้ แล้วไปด้วยกัน” ในการนี้ นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์ ได้รับเชิญให้นำเสนอมุมมองด้านการศึกษาในฐานะภาคเอกชน นอกจากนี้ยังมีตัวแทนองค์กรเอกชนร่วมเสนอแนวคิดในหัวข้อการมีส่วนร่วมในการจัดการศึกษาของภาคเอกชนอีกด้วย  ได้แก่ นายศุภกร รัตนวราหะ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด นายอุกฤษณ์ ภาควิวรรธ รองผู้จัดการใหญ่ ด้านวางแผนการตลาด บริษัท ไทยยามาฮ่ามอเตอร์ จำกัด ดร.อารักษ์ พรประภา ประธาน บริษัท ไทยฮอนด้า จำกัด  ทั้งนี้เพื่อเป็นการเสริมสร้าง Mindset สำหรับนักบริหาร การเสริมสร้างความรู้เพื่อการปรับเปลี่ยนเป็นองค์กรดิจิทัลของกระทรวงศึกษาธิการ (MoE Digital Transformation) โดยมีนักบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาฯและองค์กรในกำกับ รวมทั้งสิ้น 75 คนร่วมงานสัมมนาในครั้งนี้

พลตำรวจเอก เพิ่มพูน ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า การจัดงานในครั้งนี้มุ่งหวังในการทรานฟอร์มกระทรวงศึกษาธิการให้ทันโลก  ซึ่งจะทำได้ ต้องเปิดโลก ต้องออกนอกกรอบ ด้วยเหตุนี้จึงเชิญภาคเอกชนมาร่วมฉายภาพการพัฒนาด้านการศึกษา เพื่อเปิดมุมมอง ปรับวิธีคิดและวิธีการทำงาน  นอกจากนี้เวทีสัมมนานี้ถือเป็นการเตรียมพร้อมในการเป็นเจ้าภาพในการจัดประชุมรัฐมนตรีด้านการศึกษาอาเซียน ครั้งที่ 13 ที่จะมีขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร เครือเจริญโภคภัณฑ์  กล่าวว่า ปัจจุบันโลกเปลี่ยนแปลงแต่การศึกษาไทยยังอยู่ในยุค 2.0 ขณะที่โลกเผชิญกับความท้าทาย ภาคการศึกษาจะต้องปรับเปลี่ยนให้ทันต่อการเปลี่ยนแปลง  ความท้าทายดังกล่าวมี 6 ประเด็น ได้แก่ 1. ความเหลื่อมล้ำ การทำอย่างไรให้ทุกคนมีความเสมอภาคด้านการศึกษา 2.การปฎิรูปดิจิทัล หรือ Digital Transformation ถ้าในองค์กรเอกชนคือเรื่อง Digitalization การนำเอา Computing Technology และเอาศักยภาพของความเชื่อมโยงมาใช้ เพราะทุกวันนี้ใช้ชีวิตอยู่บนออนไลน์ โลกระหว่างออนไลน์กับโลกจริงเกือบเสมือน สมัยนี้ห้องสมุดที่ใหญ่ที่สุดคือคอมพิวเตอร์และโลกอินเตอร์เน็ต เราจึงต้องการให้เด็กมีคอมพิวเตอร์ ในเรื่องนี้จึงชื่นชมท่านรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการที่ขับเคลื่อนเรื่องคอมพิวเตอร์ให้แก่เด็กและเยาวชน ซึ่งคอมพิวเตอร์มีทั้งของดีและของเสีย ถ้าเราคัดกรองของเสีย ให้เด็กทุกคนมีคอมพิวเตอร์ที่สกรีนของเสียได้ ก็จะเป็นแรงขับเคลื่อนของเด็กในการอยากเรียนรู้ ทั้งความรู้ ความสามารถและคุณธรรม

3.ความผันผวนภูมิอากาศ (Climate Chance) เรื่องโลกร้อน มนุษย์มีส่วนไปเร่งภาวะเรือนกระจก ทำให้อุณหภูมิสูงขึ้น สูงขึ้นในอัตราเร่งซึ่งไม่เคยเป็นมาก่อน 80 ปีอุณหภูมิเราเพิ่มขึ้นมา 1% ในระยะเวลา 10 ปีหลังที่ผ่านมาเพิ่มขึ้นมาตอนนี้อยู่ที่ 1.2  องศาเซลเซียส ในทางวิทยาศาสตร์จึงมีการรณรงค์ว่าขออย่าให้เกิน 1.5 องศาเซลเซียส หากเกิดขึ้นก็ยังทำนายไม่ได้ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าเป็นโรคใหม่ในอัตราเร่ง ความสามารถในการผลิตธัญญาพืชหรืออาหารของมนุษยชาติลดลง การเปลี่ยนถิ่นฐานของคนมากขึ้น เพราะฉะนั้นเราควรมาร่วมกันดูแลโลกของเรา ลองนึกภาพว่าบ้านเราเต็มไปด้วยขยะและมลพิษเราจะอยู่ได้อย่างไร โลกนี้ก็คือบ้านเรา เรื่องของความยั่งยืนจึงเป็นเรื่องที่น่าจะนำเข้ามาบรูณาการกับระบบการศึกษา เป้าหมายความยั่งยืนทั้ง 17 ข้อ เป็นปัญหาของมวลมนุษยชาติทั้งสิ้น 4.โลกของขั้วอำนาจที่กำลังเปลี่ยน เรากำลังเห็นจุดประกายของสงครามในพื้นที่ต่างๆ เพราะว่าการเปลี่ยนขั้วอำนาจ 5.พฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็วมาก ต้องปรับตัวให้ทัน ทำอย่างไรเราจะสามารถสร้างกรอบความคิดหรือระบบการศึกษาให้เด็กนักเรียนมีความคิด มีศักยภาพในการปรับตัว ไม่ย่อท้อ ไม่ยอมแพ้และยังคงมีความมุ่งมั่น 6.สุขภาพมนุษย์และสังคมสูงวัย เมื่อประชากรลดลง Automation และ AI ก็มีบทบาทมากขึ้น

วิวัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมสู่ยุค 5.0 ประเทศไทยต้องกำหนดทิศทางการพัฒนาด้านการศึกษาให้สอดคล้องกับความท้าทายและการเปลี่ยนแปลงของโลก โดยปัจจุบันโลกก้าวสู่ยุค 5.0 แต่การศึกษาไทยยังอยู่ในระบบ 2.0 เราไม่ได้เปิดให้เด็ก “ตั้งคำถาม ค้นหาคำตอบ ลงมือทำร่วมกัน  อภิปรายด้วยเหตุผล ปรับปรุงพัฒนาสู่ความเป็นเลิศ” การศึกษาเป็นเรื่องใหญ่ของประเทศในการนี้ต้องเปลี่ยนเป็นการศึกษามาสู่ระบบ 5.0 ตามการเปลี่ยนแปลงของโลกและเทคโนโลยี  เราอาจเรียกยุค 5.0 ใหม่ที่เราควรสร้างร่วมกันนี้ว่า Sustainable Intelligence-Based หรือ SI Society แปลว่า “สังคมแห่งภูมิปัญญาที่ยั่งยืน” โรงเรียนควรปรับระบบการสอนให้เป็น Learning Center เด็กจะได้เรียนรู้ผ่านการลงมือทำจริง และเด็กทุกคนต้องมีคอมพิวเตอร์ เพราะเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่องค์ความรู้ทั้งโลก และมีการเรียนภาษาคอมพิวเตอร์ และ Computer Science เป็นวิชาหลัก

ปิดท้ายด้วย โมเดล Sustainable Intelligence Transformation (SI Transformation Model) หรือ SI  Model โดยมี 5 เสาหลัก ประกอบด้วย 1. Transparency ความโปร่งใส โรงเรียนต้องมีตัวชี้วัด 2.Market Mechanism สร้างกลไกตลาดและวัฒนธรรมแห่งการเรียนรู้ พร้อมทั้งสร้างความร่วมมือกับทุกภาคส่วน ส่งเสริมสื่อคุณธรรมในช่วง Primetime โดยให้ Incentive เพราะห้องเรียนที่ใหญ่ที่สุดของประเทศคือ สื่อ จึงเป็นเครื่องมือสำคัญในการสร้างวัฒนธรรมการเรียนรู้ให้เกิดขึ้นในสังคม 3.Leadership &Talents สร้างผู้นำและครู/บุคลากรทางการศึกษาที่มีทักษะ 5.0 4.Child Centric / Empowerment เน้นให้เด็กเป็นศูนย์กลางให้อำนาจตัดสินใจ 5. Technology ควรมีการปรับสอนให้เกิดการประยุกต์เทคโนโลยีอย่างรู้เท่าทัน

อนึ่งโครงการโดยมีกลุ่มเป้าหมาย คือ กลุ่มบุคลากรที่ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูงของกระทรวงศึกษาธิการ และองค์กรในกำกับ รวมทั้งสิ้น 75 คน กำหนดจัดโครงการฯ ระหว่างวันที่ 15 – 17 มีนาคม 2567 ณ จังหวัดบุรีรัมย์

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น