โพลิติโก สื่อทางการเมืองของสหรัฐรายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าวภายในที่ไม่เปิดเผยชื่อว่า แคนาดาและญี่ปุ่นมีโอกาสเข้าร่วมเป็นหุ้นส่วนด้านความมั่นคงของออคัส กับ 3 ประเทศที่ก่อตั้งอันได้แก่สหรัฐ สหราชอาณาจักร และออสเตรเลีย ภายในสิ้นปีนี้ โดยพวกเขาจะร่วมมือกับสมาชิกผู้ก่อตั้ง ในการพัฒนาเทคโนโลยีทางทหารขั้นสูง เช่น ปัญญาประดิษฐ์ โดรนใต้ทะเล และขีปนาวุธที่มีความเร็วเหนือเสียง ซึ่งนอกเหนือจากแคนาดาและญี่ปุ่นแล้ว อินเดีย นิวซีแลนด์ และเกาหลีใต้ ก็ยังสนใจและได้รับการเสนอชื่อให้เป็นสมาชิกด้วยเช่นกัน
ด้านดร. แมเรียน เมสเมอร์นักวิจัยอาวุโสในโครงการความมั่นคงระหว่างประเทศ ของชาแธมเฮาส์ในสหราชอาณาจักรได้กล่าวว่า เป็นเรื่องสมเหตุสมผลที่จะขยายหลักที่ 2 ให้กับออคัส เพราะเป็นสิ่งที่ประเทศอื่นๆ สนใจกันเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งญี่ปุ่น ซึ่งก็สมเหตุสมผลดีเมื่อพิจารณาจากที่ตั้งในแปซิฟิก ทั้งนี้ ถือเป็นเรื่องที่ดีในการมุ่งพัฒนาทางเทคโนโลยี และสิ่งที่ตนต้องการเห็นก็คือ ประเทศต่างๆ กำลังค้นหาสิ่งที่พวกเขาอาจจะเก่งเป็นพิเศษ และแลกเปลี่ยนในเรื่องนั้นกันและกัน
ออคัสก่อตั้งขึ้นในปี 2021 ภายใต้ข้อตกลงในหลักที่ 1 ที่ว่า สหรัฐและสหราชอาณาจักรให้คำมั่น จะช่วยออสเตรเลียจัดหาเรือดำน้ำพลังงานนิวเคลียร์ ในขณะที่หลักที่ 2 คือข้อตกลงการแบ่งปันเทคโนโลยีที่กว้างขึ้น จากสมาชิกใหม่ที่จะเข้ามาร่วมเป็นพันธมิตรต่อไป ทั้งนี้ แหล่งข่าวได้บอกด้วยว่า ทางสหรัฐกำลังพยายามเร่งรัดให้แคนาดาและญี่ปุ่น ได้เป็นสมาชิกให้เสร็จสิ้น ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีที่จะมีขึ้นในเดือนพฤศจิกายน เนื่องจากเกรงว่าเรื่องจะไม่เดินหน้า หากการเลือกตั้งเป็นชัยชนะของโดนัล ทรัมป์ เพราะเป็นไปได้ที่ทรัมป์อาจจะยกเลิกข้อตกลงออคัส โดยทรัมป์นั้น ไม่ได้มีจุดยืนที่ชัดเจนเกี่ยวกับออคัส และไม่เคยมีการพูดถึงเรื่องนี้ในการหาเสียงเลย
สำหรับสนธิสัญญาออคัส ที่วางแผนจะเพิ่มญี่ปุ่นเข้าเป็นสมาชิกนั้น ได้ถูกจีนประณามว่า เป็นความพยายามที่จะสร้างนาโต ในเวอร์ชั่นเอเชีย-แปซิฟิก และด้านของนายหวาง เหวินปิน โฆษกกระทรวงการต่างประเทศของจีนก็ได้เคยกล่าวไว้เมื่อช่วงต้นเดือนว่า ออคัสมีพื้นฐานมาจากความคิดแบบสงครามเย็น ที่จะกระตุ้นให้เกิดการแข่งขันด้านอาวุธ และต่อไปก็จะเป็นอันตรายต่อเสถียรภาพและสันติภาพของภูมิภาคด้วย