“หมูเถื่อน” ส่งต่อหลายหน่วยงาน : “คดีอืด” หวั่นจำเลยอาจพ้นผิด

กดติดตาม TOP NEWS

แม้วันนี้คดี “หมูเถื่อน” มีความคืบหน้าจับตัวนายทุน บริษัทนำเข้า ห้องเย็น และข้าราชการชั้นผู้น้อย ได้บางส่วนแล้ว แต่ก็ยังไม่สามารถดำเนินคดีจนถึงที่สุด นำตัวผู้กระทำผิดที่อยู่เบื้องหลังมาลงโทษตามกฎหมายได้แม้แต่รายเดียว ทั้งที่เอกสารหลักฐานและหมูเถื่อนที่จับกุมไดและที่ฝังทำลายแล้ว มีชื่อผู้นำเข้าและบริษัทชัดเจน คดีคืบหน้าไปมากกว่า 50-60% แต่คนผิดยังลอยนวลอยู่นอกคุก หนำซ้ำคดียังคืบหน้าช้าลงเป็นลำดับ

ที่สำคัญ คือ ขณะนี้ กรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) มีการส่งต่อคดีหมูเถื่อนไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายส่วน เช่น สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กองบังคับการปราบปรามการกระทำความผิดเกี่ยวกับการคุ้มครองผู้บริโภค(บก.ปคบ.) เป็นต้น ซึ่งแต่ละหน่วยงานทำหน้าที่สอบสวนและพิจารณาโทษต่างกรรมต่างวาระกัน และการรับไม้ต่อของหน่วยงานเหล่านี้จาก DSI ไม่ได้แปลว่าจะดำเนินคดีต่อเนื่องได้ทันที แต่หากต้องดูสำนวน สอบสวนข้อเท็จจริงและตีความตามข้อกฎหมายซ้ำอีกครั้ง เหมือนต้องมาตั้งต้นใหม่ซึ่งจะต้องใช้เวลาในการพิจารณมากบ้างน้อยบาง ตามสำนวนและหลักฐานที่ได้รับมาอย่างรอบคอบและครบถ้วน

เห็นได้ว่า 2 ปี ที่ผ่านมา คดีหมูเถื่อน ที่มีการประเมินมูลค่าความเสียหายไม่น้อยกว่า 50,000 ล้านบาท จากปริมาณหมูเถื่อนมากกว่า 60,000 ตัน (จับกุมแล้ว) ที่ทะลักเข้ามาในไทยช่วงปี 2565–2566 อยู่ระหว่างดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด ซึ่งคืบหน้าช้ามาก มีผลงานการดำเนินคดีเป็นรูปธรรม 2 คดี คือ 1.คดีตรวจค้นห้องเย็น 3 แห่ง ประกอบด้วย บริษัท นาสาครห้องเย็น จำกัด บริษัท เอ็มเคห้องเย็น จำกัด และคดีจับกุมหมูเถื่อนที่ด่านสะเดา จังหวัดสงขลา และ 2. คดีจับกุมหมูเถื่อนตกค้าง 161 ตู้ ที่ท่าเรือแหลมฉบัง เมื่อปี 2566 มีการขยายผลจับกุมบริษัทผู้นำเข้าและนายทุนใหญ่ที่เกี่ยวข้อง คือ บริษัท เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟูดส์ จำกัด และบริษัท ศิขัณทิน เทรดดิ้ง จำกัด ได้ผู้ต้องหา 3 คน แต่ยังอยู่ในขั้นตอนสอบสวน ผู้ต้องหายังไม่ถูกจับกุมทั้งหมด ซึ่งช่วงเวลานี้เป็นเวลาที่ผู้ต้องหาสามารถรวบรวมหลักฐานมาแก้ต่างเพื่อให้พ้นผิดได้ ทั้งที่หลักฐานมัดแน่น สามารถตัดตอนเอาผิดตามกฎหมายและปิดคดีได้ แต่ก็ส่งคดีให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องดังกล่าว…คดีจึงย่ำอยู่กับที่

ส่วนคดีหมูเถื่อนที่หลุดลอดออกมาจากท่าเรือแหลมฉบัง 2,385 ใบขน รวมหมูเถื่อนกว่า 60,000 ตัน มีการปลอมแปลงเอกสาร สำแดงเท็จเป็นโพลิเมอร์ อาหารทะเลแช่แข็ง ปลาแซลมอน เป็นต้น ยังจับมือใครดมไม่ได้ แม้แต่ข้าราชการที่สมรู้ร่วมปิดตาเปิดทางให้ของผิดกฎหมายเข้ามาก็สอบสวนได้แต่ “ปลาซิว ปลาสร้อย” เสียเวลาและเสียโอกาสในการดำเนินคดีกับผู้สั่งการ ที่สำคัญ DSI ควรประสานงานกับกรมศุลกากร ให้มอบเอกสารนำเข้าจำนวนดังกล่าวมาเพื่อให้นำไปดำเนินการสอบสวนตามขั้นตอนจะได้ทราบที่อยู่ของหมูเถื่อนเหล่านั้นออกไป “กบดาน” ที่ห้องเย็นไหน และใครเป็นผู้นำเข้า แต่จนถึงวันนี้ คนวงใน ให้ข้อมูลว่า กรมศุลกากร ยังไม่ส่งมอบเอกสารนำเข้าเหล่านั้นให้ DSI การดำเนินการสอบสวนจึงไม่ได้ไปต่อ

หากถาม DSI ว่า คดีหมูเถื่อน “จะจบลงอย่างไรและเมื่อไหร่” โดยเฉพาะคนเลี้ยงหมูคงอยากเห็นกระบวนการยุติธรรมลงดาบกับผู้กระทำผิดที่สมควรแก่โทษ สำคัญอย่างยิ่งหมูเถื่อนต้องหมดไปจากประเทศไทย เพราะเป็นปัจจัยหลักทำให้เกิดปัญหาเนื้อหมูล้นตลาด (Over Supply) บิดเบือนกลไกตลาด กดราคาตกต่ำนานกว่า 12 เดือน ผู้เลี้ยงหมูต้องออกจากอาชีพจำนวนมากโดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อย เพราะไม่สามารถแบกขาดทุนสะสมได้ต่อไป ประกอบกับความเสียหายทางเศรษฐกิจ รัฐสูญเสียรายได้และงบประมาณในการแก้ปัญหา ซึ่งคนผิดควรเป็นผู้ชดใช้ความสูญเสียทั้งหมด

ความคืบหน้าอย่างรวดเร็วช่วงที่ผ่านมา โดยเฉพาะคดีหมูเถื่อน 161 ตู้ ต้องให้เครดิตกับนายกรัฐมนตรี เศรษฐา ทวีสิน ที่ทั้งกระทุ้ง กระแทก กดดัน การทำงานของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง จนข้าราชการนั่งไม่ติด ต้องทำงานแบบวิ่ง 100 เมตร ทำผลงานกันสุดลิ่ม แต่ก็ยังช้าไม่ทันใจคนสั่ง จนต้องโยกย้ายข้าราชการระดับสูง กลายเป็นกระแสครึกโครม แต่ช่วงนี้หมูเถื่อนเป็น “ม้านอกสายตา” เพราะราคาตกต่ำดีต่อปากท้องผู้บริโภค รัฐบาลจึงหันไปทำเรื่องอื่น แต่ราคายิ่งตกต่ำมากเท่าไร คือ “หายนะ” ของคนเลี้ยงหมู จึงอยากขอให้ท่านนายกฯ ช่วยปลุกการทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง โดยเฉพาะกรมศุลกากรให้ส่งมอบเอกสารให้ DSI ทันที เพื่อเดินหน้าคดีทั้งหมด ขณะเดียวกัน DSI อย่าด่วนชิงส่งคดีให้หน่วยงานอื่นแต่ขอให้ทำคดีด้วยตัวเองให้เต็มประสิทธิภาพตามขั้นตอน เพื่อจับคนรายให้ได้คามือ.

โดย อาบอรุณ ธรรมทาน นักวิชาการอิสระ

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

-

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น