"คดีพรากผู้เยาว์" คืออะไร มีกี่ประเภท โทษเป็นอย่างไรบ้าง แล้วถ้าเด็กไม่เกิน 18 ปี ยินยอมหรือเต็มใจไปด้วย ต้องติดคุกหรือไม่
ข่าวที่น่าสนใจ
“คดีพรากผู้เยาว์” ?
พรากผู้เยาว์ คือ การพาหรือแยกเด็กหรือผู้เยาว์ ออกไปจากอำนาจปกครองดูแลของบิดามารดา ทำให้อำนาจปกครองดูแลของบิดามารดาถูกรบกวนหรือถูกกระทบกระเทือน โดยบิดามารดาไม่รู้เห็นยินยอมด้วย อันเป็นการล่วงละเมิดอำนาจปกครองของบิดามารดา
การพรากผู้เยาว์ถือเป็นความผิดทางอาญา ซึ่งมักจะเกี่ยวกับเรื่องเพศ โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์ที่ขึ้นสู่ชั้นศาลเป็นจำนวนมาก มักเป็นคดีพรากร่วมกับข้อหาข่มขืนกระทำชำเรา พาไปเพื่อการอนาจาร หรือพรากผู้เยาว์ไปเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์เต็มใจไปด้วย
โดยความผิดฐานพรากผู้เยาว์นั้น ถือเป็นความผิดที่ผู้กระทำได้กระทำต่อเสรีภาพของผู้เยาว์ ซึ่งเป็นความผิดอาญา ไม่สามารถยอมความได้ แม้ผู้เสียหายจะไม่ได้เป็นผู้ฟ้องหรือร้องทุกข์เอาผิดด้วยตัวเอง แต่เจ้าหน้าที่ของรัฐก็สามารถจับตัวผู้กระทำให้มารับโทษได้ ทั้งนี้ ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ถูกบัญญัติไว้ในประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 318 และ 319 ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันออกไป
มาตรา 317
- ผู้ใดโดยปราศจากเหตุอันสมควร พรากเด็กอายุยังไม่เกิน 15 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวเด็กซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น และถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 5 ปี ถึง 20 ปี และปรับตั้งแต่ 100,000 บาท ถึง 400,000 บาท
มาตรา 318
- ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น และถ้าความผิดตามมาตรานี้ได้กระทำเพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร ผู้กระทำต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 3 ปี ถึง 15 ปี และปรับตั้งแต่ 60,000 บาท ถึง 300,000 บาท
มาตรา 319
- ผู้ใดพรากผู้เยาว์อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี ไปเสียจากบิดามารดา ผู้ปกครอง หรือผู้ดูแล เพื่อหากำไร หรือเพื่อการอนาจาร โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย ต้องระวางโทษจำคุกตั้งแต่ 2 ปี ถึง 10 ปี และปรับตั้งแต่ 40,000 บาท ถึง 200,000 บาท ผู้ใดโดยทุจริต ซื้อ จำหน่าย หรือรับตัวผู้เยาว์ซึ่งถูกพรากตามวรรคแรก ต้องระวางโทษเช่นเดียวกับผู้พรากนั้น
สรุปความผิดฐานพรากผู้เยาว์ สามารถแบ่งออกได้เป็น 3 ประเภท คือ
- ความผิดฐานพรากเด็กอายุไม่เกิน 15 ปี
- ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์นั้นไม่เต็มใจไปด้วย
- ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ อายุกว่า 15 ปี แต่ยังไม่เกิน 18 ปี โดยผู้เยาว์นั้นเต็มใจไปด้วย นั่นเอง
“คดีพรากผู้เยาว์” คำว่า พราก แปลว่า?
สำหรับคำว่า พราก ตามมาตรา 317 318 และ 319 แปลว่า พาเอาไปเสีย ซึ่งต้องกระทบกระเทือนอำนาจปกครองของผู้ปกครองหรือผู้ดูแลเด็ก ผู้ปกครองของเด็ก ดูจากการใช้อำนาจปกครองตามความเป็นจริง ผู้ปกครองของเด็กไม่จำเป็นต้องเป็นพ่อแม่ที่ชอบด้วยกฎหมาย (ที่จดทะเบียนสมรสกัน) หรืออาจเป็นพ่อแม่บุญธรรม เด็กอาจอยู่อาศัยกับปู่ย่าตายาย ลุงป้าน้าอา ขณะที่ถูกพรากก็ได้ โดยไม่จำกัดวิธีพรากหรือระยะทางว่า เด็กถูกพาไปห่างไกลจากผู้ปกครองมากน้อยเพียงใด ขอเป็นเพียงการกระทำที่กระทบต่ออำนาจปกครองก็เป็นความผิดฐานนี้ เด็กที่ถูกพรากไม่จำเป็นต้องอยู่กับผู้ปกครองตลอดเวลา เพราะกรณีเด็กหนีออกจากบ้านและถูกพาตัวไปนั้น ถ้าปรากฏว่า
ผู้ปกครองยังติดตามตัวเด็กถือว่ามีความหวงแหนกันอยู่ ถือว่าเด็กยังอยู่ในอำนาจปกครองของผู้ปกครอง อันจะถูกพรากได้ กลับกัน… หากพ่อแม่ผู้ปกครองทอดทิ้งเด็ก ตัดขาดเด็ก เลิกตามหาเด็กที่หายไปและเด็กถูกพาตัวไป คนพาไปก็ไม่ผิดฐานพรากผู้เยาว์ ผู้พรากต้องกระทำผิด โดยปราศจากเหตุอันสมควร
กล่าวคือ ไม่ได้รับความยินยอมหรือไม่ได้รับอนุญาตจากผู้ปกครองให้พาตัวเด็กไป ผู้กระทำนอกจากต้องรู้ว่า ตนพรากเด็กไปโดยไม่มีเหตุอันสมควรแล้ว ต้องรู้อายุของเด็กที่ตนพรากว่าอายุเท่าไรด้วย เพราะอายุเด็กที่พรากเป็นข้อเท็จจริงอันสำคัญที่จะถือว่าผู้กระทำมีเจตนาประสงค์ต่อผลหรือย่อมเล็งเห็นผลในความผิดฐานนี้
ยกตัวอย่าง กรณีที่เป็นการพาตัวเด็กไปโดยมีเหตุอันสมควร ไม่เป็นพรากผู้เยาว์ เช่น
- กรณีพ่อไม่ชอบด้วยกฎหมาย (ไม่ได้จดทะเบียนสมรสกับแม่ของเด็ก) ประสงค์จะพาตัวเด็กไปอุปการะเลี้ยงดู ไม่ถือเป็นการพาไปโดยไม่มีเหตุอันสมควร จึงไม่ผิดพรากผู้เยาว์
- ชายผู้ที่จะพาเด็กสาวไปเลี้ยงดูอยู่กินฉันสามีภริยา ถือว่ามีเหตุอันสมควรที่จะพาไป แต่ต้องปรากฏว่า ชายที่พาตัวไปขณะนั้น ไม่ได้จดทะเบียนสมรสหรือมีภรรยาอยู่ก่อนแล้ว เป็นต้น
เด็กเต็มใจก็เจอคุก?
จากรายละเอียด ความผิดฐานพรากผู้เยาว์ ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 317 318 และ 319 เท่ากับว่า เด็กที่อายุไม่เกิน 15 ปี และเด็กที่อายุเกิน 15 ปีแล้ว แต่ยังไม่เกิน 18 ปี หากถูกล่วงละเมิด ไม่ว่าจะยินยอมหรือไม่ก็ตาม ผู้ล่วงละเมิดจะถูกดำเนินคดีในข้อหา “พรากผู้เยาว์” ซึ่งแต่ละมาตราจะมีอัตราโทษและความรุนแรงที่ต่างกันออกไป แต่โดยสรุปก็คือ มีโทษทั้งปรับและจำคุกนั่นเอง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง