"เห็ดขี้ควาย" หรือ เห็ดวิเศษ คืออะไร หนุ่มสถาปัตย์เพาะขาย 2 ปี โกยเงินหลายแสนบาท แต่เดี๋ยวก่อน ใครที่คิดจะทำตาม เช็คให้รู้แล้วเลี่ยงไม่ต้องไปเสี่ยงคุก
ข่าวที่น่าสนใจ
หนุ่มสถาปัตย์โดนรวบ?
สืบนครบาล จับกุม หนุ่มสถาปัตย์ลักลอบผลิต “เห็ดขี้ควาย” โพสต์จำหน่ายทางออนไลน์ให้แก่ประชาชนทั่วไป โดยพฤติการณ์ในการกระทำความผิดคือ เมื่อประมาณ 2 ปี ที่ผ่านมา ผู้ต้องหา ได้พบเห็นข้อมูลเกี่ยวกับเห็ด ขี้ควาย หรือ เห็ดเมา ผ่านสื่อออนไลน์ต่าง ๆ ได้แก่ เฟซบุ๊ก, X หรือ ทวิตเตอร์ และทางเว็บไซต์ต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้อง จึงทราบว่าสามารถนำเห็ด ขี้ควาย มาใช้ทำให้เกิดความเคลิบเคลิ้ม มึนเมา เป็นประโยชน์ในทางอาชีพของตน และสามารถจำหน่ายสร้างรายได้ จึงได้สั่งแบบเชื้อเห็ด พร้อมอุปกรณ์มาเพาะขาย เริ่มต้นจากเพาะในสภาพอากาศทั่วไป และต่อมาได้ศึกษาเพิ่มเติมทราบว่าสามารถสร้างผลผลิตได้เพิ่มเติมหากเพาะในสภาพอากาศเย็น
จึงได้ซื้ออุปกรณ์และเช่าห้องทำสภาพแวดล้อมให้เหมาะในการเพาะเห็ด ขี้ควาย ดำเนินการเพาะขายให้แก่บุคคลทั่วไปเพื่อนำไปเสพทำให้เกิดอาการมึนเมา หลอนประสาท หรือมีอาการอื่น ๆ เพิ่มเติมตามแต่ละบุคคล โดยได้ทำการขายมาแล้วหลายครั้ง ประกาศขายผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ X หรือ ทวิตเตอร์ ส่งโดยวิธีการผ่านบริษัทขนส่งเอกชน ในแต่ละครั้งจะได้รับผลตอบแทนในการส่งครั้งละประมาณ 1,000 บาท รวมมูลค่ากำไรที่ทำการจำหน่ายหลายแสนบาท
“เห็ดขี้ควาย” ?
เห็ด ขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ เป็นเห็ดพิษ ซึ่งขึ้นอยู่ตามกองมูลควายแห้ง สีของเห็ดจะมีสีเหลืองซีด คล้ายสีฟางแห้ง บนหัวของร่ม จะมีสีน้ำตาลเข้มจนถึงสีดำบริเวณก้าน (Stalk) บริเวณใกล้ตัวร่มจะมีแผ่นเนื้อเยื่อบาง ๆ สีขาว แผ่ขยายออกรอบก้าน แผ่นนี้มีลักษณะคล้ายวงแหวน
เห็ด ขี้ควาย มีขึ้นอยู่ทั่วไปในแทบทุกภาคของประเทศไทย ลักษณะของเห็ดที่สมบูรณ์และโตเต็มที่ ตรงบริเวณหมวกจะมีเส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 6.5 – 8.8 ซม. ความสูงของลำต้นประมาณ 5.5 – 8 ซม. เส้นผ่านศูนย์กลาง ประมาณ 0.8 – 1.0 ซม.
ข้อมูลจาก กองควบคุมวัตถุเสพติด พบว่า มีผู้นำไปเสพทั้งรูปแบบสดและแห้ง บางครั้งนำมาปรุงเป็นเมนูอาหารหรือเครื่องดื่ม เช่น ไข่เจียวเห็ด และเห็ดปั่นผสมเหล้า หรือค็อกเทล สำหรับใช้เสพ ในกลุ่มนักท่องเที่ยวบางกลุ่ม อย่างไรก็ตาม คนทั่วไปมักทราบและรู้ว่าเห็ดชนิดนี้ เป็นเห็ดพิษ รับประทานแล้วจะมึนเมา จึงไม่มีการนำมารับประทาน
เมื่อบริโภคเข้าไปจะทำให้มีอาการเมา เคลิบเคลิ้ม เนื่องจากสาร ไซโลไซบิน (psilocybine) และ ไซโลซิน (psilocine) มีฤทธิ์ต่อระบบประสาทอย่างรุนแรง ทำให้เกิดอาการคลื่นไส้ อาเจียน ประสาทหลอน เห็นภาพแสงสีต่าง ๆ ลวงตา เช่น เห็นแมงมุมหรือสัตว์ประหลาดลงไปในท้อง รู้สึกมีเข็มมาทิ่มแทงตามตัว ได้ยินเสียงฟ้าร้อง ฟ้าผ่า สับสน ไม่สามารถลำดับทิศทางได้ มีความคิดและอารมณ์เปลี่ยนแปลง มีอาการคล้ายผู้ที่เสพ LSD คนที่ใช้มานาน ๆ จะเพลินต่อความรู้สึกต่าง ๆ ร่างกายจะเกิดการต้านยา ต้องเพิ่มขนาดการเสพขึ้นเรื่อย ๆ
รู้แล้วเลี่ยงไม่เสี่ยงคุก?
ตามข้อมูลอ้างอิงจาก พระราชบัญญัติ ให้ใช้ประมวลกฎหมายยาเสพติด พ.ศ. 2564 ประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 มาตรา 93 มาตรา 104 มาตรา 148 มาตรา 162 ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
เห็ด ขี้ควาย พืชเห็ด ขี้ควาย หรือ เห็ดวิเศษ ดอกเห็ด ก้านเห็ด สปอร์ของเห็ด จัดเป็นยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 ตามประมวลกฎหมายยาเสพติด มาตรา 29 ประกอบประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ระบุชื่อยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 พ.ศ. 2565
ผู้ใดผลิต นำเข้า ส่งออก จำหน่าย หรือมีไว้ในครอบครอง ซึ่งยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี และปรับไม่เกิน 500,00 บาท ทั้งนี้ ตามมาตรา 93 ประกอบมาตรา 148 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
และผู้ใดเสพยาเสพติดให้โทษในประเภท 5 หากฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 20,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ทั้งนี้ ตามมาตรา 104 ประกอบมาตรา 162 แห่งประมวลกฎหมายยาเสพติด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง