2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ “กรมสมเด็จพระเทพฯ” ประชาชนพร้อมใจถวายพระพร ทรงพระเจริญ

2 เมษายน วันคล้ายวันพระราชสมภพ "กรมสมเด็จพระเทพฯ" ประชาชนพร้อมใจถวายพระพร ทรงพระเจริญ

กรมสมเด็จพระเทพฯ

สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จ พระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชสมภพ

เมื่อวันเสาร์ที่ 2 เมษายน 2498 ณ พระที่นั่งอัมพรสถาน พระราชวังดุสิต เป็นสมเด็จพระเจ้าลูกเธอพระองค์ที่ 3 ในพระบาท สมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร และสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ ในรัชกาลที่ 9 พระองค์ได้รับการถวายพระนามจากสมเด็จพระสังฆราชเจ้า กรมหลวงวชิรญาณวงศ์ ว่า สมเด็จพระเจ้าลูกเธอ เจ้าฟ้าสิรินธรเทพรัตนสุดา กิติวัฒนาดุลโสภาคย์ พร้อมทั้งประทานคำแปลว่า นางแก้ว อันหมายถึง หญิงผู้ประเสริฐ และมีพระนามที่ข้าราช  บริพารเรียกทั่วไปว่า ทูลกระหม่อมน้อย

 

 

 

 

 

 

เป็นพระโสทรกนิษฐภคินีในพระบาทสมเด็จพระวชิรเกล้าเจ้าอยู่หัว เป็นเจ้านายพระองค์แรกที่ได้รับสถาปนาพระอิสริยยศที่ “สยามบรมราชกุมารี” ปัจจุบันทรงดำรงตำแหน่งนายกสภาสถาบันเทคโนโลยีจิตรลดา และสถาบันการพยาบาลศรีสวรินทิรา สภากาชาดไทย ประธานกรรมการมูลนิธิหัวใจแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์

ข่าวที่น่าสนใจ

พระองค์มีพระปรีชาสามารถในหลายด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งทางด้านอักษรศาสตร์และดนตรีไทย ซึ่งพระองค์ได้นำมาใช้ในการอนุรักษ์ ส่งเสริม และให้การอุปถัมภ์ในด้านศิลปวัฒนธรรมของประเทศ จากพระราชกรณียกิจในด้านศิลปวัฒนธรรมนี้ พระองค์จึงได้รับการทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายพระสมัญญาว่า “เอกอัครราชูปถัมภกมรดกวัฒนธรรมไทย” และ “วิศิษฏศิลปิน” นอกจากนี้ พระองค์ยังทรงประกอบพระราชกรณียกิจ เช่น ด้านการศึกษา การพัฒนาสังคม โดยทรงมีโครงการในพระราชดำริส่วนพระองค์หลายหลากโครงการ ซึ่งโครงการในระยะเริ่มต้นนั้น มุ่งเน้นทางด้านการแก้ปัญหาการขาดสารอาหารของเด็กในท้องถิ่นทุรกันดาร และพัฒนามาสู่การให้ความสำคัญทางด้านการศึกษาเพื่อการพัฒนาราษฎร

 

 

 

 

นอกจากนี้ ยังมีพระอัจฉริยภาพในหลากหลายด้าน พระองค์ทรงมีความรู้ทางด้านภาษาบาลี ภาษาสันสกฤต และภาษาเขมร ทรงสามารถรับสั่งเป็นภาษาอังกฤษ ภาษาฝรั่งเศส และภาษาจีน และทรงกำลังศึกษาภาษาเยอรมันและภาษาละตินอีกด้วย ขณะที่ทรงพระเยาว์นั้น สมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ทรงสอนภาษาไทยแก่พระราชโอรสและพระราชธิดา โดยทรงอ่านวรรณคดีเรื่องต่าง ๆ พระราชทาน และทรงให้พระองค์ทรงคัดบทกลอนต่าง ๆ หลายตอน ทำให้พระองค์โปรดวิชาภาษาไทยตั้งแต่นั้นมา นอกจากนี้ ยังทรงสนพระทัยในภาษาอังกฤษและภาษาบาลีด้วย

 

 

 

เมื่อพระองค์ทรงเข้าเรียนที่โรงเรียนจิตรลดานั้น ทรงได้รับการถ่ายทอดความรู้ทางด้านภาษาทั้งภาษาไทย ภาษาบาลี ภาษาเขมร ภาษาอังกฤษ และภาษาฝรั่งเศส โดยภาษาไทยนั้น พระองค์ทรงเชี่ยวชาญทั้งด้านหลักภาษา วรรณคดี และศิลปะไทย เมื่อทรงจบชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น พระองค์พอรู้แน่ว่าอย่างไรก็คงไม่ได้เรียนแผนกวิทยาศาสตร์ จึงพยายามหัดเรียนภาษาบาลี อ่านเขียนอักษรขอม เนื่องจากในสมัยนั้น ผู้ที่จะเรียนภาษาไทยให้กว้างขวาง ลึกซึ้ง จะต้องเรียนทั้งภาษาบาลี สันสกฤต และเขมร ซึ่งภาษาบาลีนั้น เป็นภาษาที่พระองค์สนพระทัยตั้งแต่ทรงพระเยาว์ แต่ได้เริ่มเรียนอย่างจริงจังในระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย จนสามารถจำการแจกวิภัตติเบื้องต้นที่สำคัญได้ และเข้าพระทัยโครงสร้างและลักษณะทั่วไปของภาษาบาลีได้ นอกจากนี้ ยังทรงเลือกเรียนภาษาฝรั่งเศสแทนการเรียนเปียโน เนื่องจากมีพระราชประสงค์ที่จะอ่านหนังสือภาษาฝรั่งเศสที่มีอยู่ในตู้หนังสือมากกว่าการซ้อมเปียโน

เมื่อทรงเข้าศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย นั้น พระองค์ทรงเลือกเรียนสาขาประวัติศาสตร์เป็นวิชาเอก และวิชาภาษาไทย ภาษาบาลี และภาษาสันสกฤตเป็นวิชาโท ทำให้ทรงศึกษาวิชาภาษาไทยในระดับชั้นสูงและละเอียดลึกซึ้งยิ่งขึ้นทั้งด้านภาษาและวรรณคดี ส่วนภาษาบาลีและสันสกฤตนั้น ทรงศึกษาทั้งวิธีการแบบดั้งเดิมของไทย คือ แบบที่เรียนกันในพระอารามต่าง ๆ และแบบภาษาศาสตร์ซึ่งเป็นวิธีการตะวันตก ตั้งแต่ไวยากรณ์ขั้นพื้นฐานไปจนถึงขั้นสูง และเรียนตามวิธีการอินเดียโบราณเป็นพิเศษในระดับปริญญาโท ซึ่งรัฐบาลอินเดียได้ส่งศาสตราจารย์ ดร. สัตยพรต ศาสตรี มาถวายพระอักษรภาษาสันสกฤต โดยวิทยานิพนธ์ในระดับปริญญาโทของพระองค์ เรื่อง ทศบารมีในพุทธศาสนาเถรวาท นั้น ยังได้รับการยกย่องจากมหามกุฏราชวิทยาลัยว่า เป็นวิทยานิพนธ์ที่แสดงถึงพระปรีชาสามารถ ในภาษาบาลีพุทธวจนะเป็นพิเศษ

 

 

 

 

 

พระปรีชาสามารถทางด้านภาษาของพระองค์นั้นเป็นที่ประจักษ์ จึงได้รับการทูลเกล้าถวายปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ทางด้านภาษาจากมหาวิทยาลัยต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ เช่น มหาวิทยาลัยรามคำแหง มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ มหาวิทยาลัยมาลายา ประเทศมาเลเซีย มหาวิทยาลัยบักกิงแฮม สหราชอาณาจักร เป็นต้น

พระองค์ทรงเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านดนตรีไทยผู้หนึ่ง โดยทรงใช้เครื่องดนตรีไทยได้ทุกชนิด แต่ที่โปรดทรงอยู่ประจำ คือ ระนาด ซอ และฆ้องวง โดยเฉพาะระนาดเอก พระองค์ทรงเริ่มหัดดนตรีไทย ในขณะที่ทรงศึกษาอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนจิตรลดา โดยทรงเลือกหัดซอด้วงเป็นเครื่องดนตรีชิ้นแรก และได้ทรงดนตรีไทยในงานปิดภาคเรียนของโรงเรียน รวมทั้ง งานวันคืนสู่เหย้าร่วมกับวงดนตรีจิตรลดาของโรงเรียนจิตรลดาด้วย หลังจากที่ทรงเข้าศึกษาในระดับอุดมศึกษา ณ คณะอักษรศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พระองค์ทรงเข้าร่วมชมรมดนตรีไทยของสโมรสรนิสิตจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัยและคณะอักษรศาสตร์ โดยทรงเล่นซอด้วงเป็นหลัก และทรงเริ่มหัดเล่นเครื่องดนตรีไทยชิ้นอื่น ๆ ด้วย

 

 

 

พระองค์โปรดการอ่านหนังสือและการเขียนมาตั้งแต่ทรงพระเยาว์ รวมกับพระปรีชาสามารถทางด้านภาษาทั้งภาษาไทยและต่างประเทศ ร้อยแก้วและร้อยกรอง ดังนั้น จึงทรงพระราชนิพนธ์หนังสือประเภทต่าง ๆ ออกมามากกว่า 100 เล่ม ซึ่งมีหลายหลากประเภททั้งสารคดีท่องเที่ยวเมื่อเสด็จพระราชดำเนินเยือนต่างประเทศ เช่น เกล็ดหิมะในสายหมอก ทัศนะจากอินเดีย มนต์รักทะเลใต้ ประเภทวิชาการและประวัติศาสตร์ เช่น บันทึกเรื่องการปกครองของไทยสมัยอยุธยาและต้นรัตนโกสินทร์ กษัตริยานุสรณ์ หนังสือสำหรับเยาวชน เช่น แก้วจอมแก่น แก้วจอมซน หนังสือที่เกี่ยวข้องกับพระบรมวงศานุวงศ์ไทย เช่น สมเด็จแม่กับการศึกษา สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนีกับพระราชกรณียกิจพระราชจริยาวัตรด้านการศึกษา ประเภทพระราชนิพนธ์แปล เช่น หยกใสร่ายคำ ความคิดคำนึง เก็จแก้วประกายกวี และหนังสือทั่วไป เช่น นิทานเรื่องเกาะ (เรื่องนี้ไม่มีคติ) เรื่องของคนแขนหัก เป็นต้น และมีลักษณะการเขียนที่คล้ายคลึงกับพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว กล่าวคือ ในพระราชนิพนธ์เรื่องต่าง ๆ นอกจากจะแสดงพระอารมณ์ขันแล้ว ยังทรงแสดงการวิพากษ์ วิจารณ์ในแง่ต่าง ๆ เป็นการแสดงพระมติส่วนพระองค์

 

นอกจากพระนาม “สิรินธร” แล้ว พระองค์ยังทรงใช้นามปากกาในการพระราชนิพนธ์หนังสืออีก 4 พระนาม ได้แก่

 

“ก้อนหินก้อนกรวด” เป็นพระนามแฝงที่ทรงหมายถึง พระองค์และพระสหาย สามารถแยกได้เป็น ก้อนหิน หมายถึง พระองค์เอง ส่วนก้อนกรวด หมายถึง กุณฑิกา ไกรฤกษ์ พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เราตัวโตเลยใช้ว่า ก้อนหิน หวานตัวเล็ก เลยใช้ว่า ก้อนกรวด รวมกันจึงเป็น ก้อนหิน-ก้อนกรวด” นามปากกานี้ ทรงใช้ครั้งเดียวตอนประพันธ์บทความ “เรื่องจากเมืองอิสราเอล” เมื่อปี พ.ศ. 2520

 

 

“แว่นแก้ว” เป็นชื่อที่พระองค์ทรงตั้งขึ้นเอง ซึ่งพระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ชื่อแว่นแก้ว นี้ตั้งเอง เพราะตอนเด็ก ๆ ชื่อลูกแก้ว ตัวเองอยากชื่อแก้ว ทำไมถึงเปลี่ยนไปไม่รู้เหมือนกัน แล้วก็ชอบเพลงน้อยใจยา นางเอกชื่อ แว่นแก้ว” พระนามแฝง แว่นแก้วนี้ พระองค์เริ่มใช้เมื่อปี พ.ศ. 2521 เมื่อทรงพระราชนิพนธ์และทรงแปลเรื่องสำหรับเด็ก ได้แก่ แก้วจอมซน แก้วจอมแก่น และขบวนการนกกางเขน

 

 

“หนูน้อย” พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “เรามีชื่อเล่นที่เรียกกันในครอบครัวว่า น้อย เลยใช้นามแฝงว่า หนูน้อย” โดยพระองค์ทรงใช้เพียงครั้งเดียวในบทความเรื่อง “ป๋องที่รัก” ตีพิมพ์ในหนังสือ 25 ปีจิตรลดา เมื่อปี พ.ศ. 2523

 

 

 

และ “บันดาล” พระองค์มีรับสั่งถึงพระนามแฝงนี้ว่า “ใช้ว่า บันดาลเพราะคำนี้ผุดขึ้นมาในสมอง เลยใช้เป็นนามแฝง ไม่มีเหตุผลอะไรในการใช้ชื่อนี้เลย” ซึ่งพระองค์ทรงใช้ในงานแปลภาษาอังกฤษเป็นภาษาไทยที่ทรงทำให้สำนักเลขาธิการคณะกรรมการแห่งชาติ ว่าด้วยการศึกษา วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ กระทรวงศึกษาธิการ เมื่อปี พ.ศ. 2526

 

 

 

นอกจากนี้ ยังทรงพระราชนิพนธ์เพลงแป็นจำนวนมาก โดยบทเพลงที่ดังและนำมาขับร้องบ่อยครั้ง ได้แก่ เพลง ส้มตำ รวมทั้ง ยังทรงประพันธ์คำร้องในบทเพลงพระราชนิพนธ์ในพระบาทสมเด็จพระบรมชนกาธิเบศร มหาภูมิพลอดุลยเดชมหาราช บรมนาถบพิตร ได้แก่ เพลงรัก และเพลงเมนูไข่

 

 

 

โดยในโอกาสวันคล้ายวันพระราชสมภพสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา ฯ สยามบรมราชกุมารี ประชาชนชาวไทย ได้ร่วมกันทำบุญ ตักบาตร ทำกิจกรรมจิตอาสา เพื่อร่วมถวายพระพร ความจงรักภักดี อีกทั้งยังร่วมลงนามถวายพระพร ขอให้พระองค์ทรงพระเจริญ ยิ่งยืนนาน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

ทนายเผย "สามารถ" มีสภาพซูบผอม เครียด กังวลจะไม่ได้ประกันตัว
ระทึก "ลิฟต์ร้านขายอุปกรณ์แอร์" ย่านตลิ่งชัน ห่วงคล้องสลิงหัก ร่วงเสียชีวิต 1 เจ็บสาหัส 3 ราย
เมียนมายืนยันทำตามกฎหมายกรณียิงเรือประมงไทย
ยูเอ็นเตือนอียูอย่าคิดส่งทหารไปช่วยยูเครน
อุทยานจีน ‘จิ่วจ้ายโกว' ใต้ผืนพรมหิมะ
จิ๋วแต่แจ๋ว! จีนพัฒนา 'หุ่นยนต์แมลง' เคลื่อนที่ไวกว่าแมลงสาบ
รัสเซียเมินทรัมป์ขู่เก็บภาษีบริกส์ 100%
ชาวบ้านอึ้งพบชิ้นส่วน "กระดูกมนุษย์" เศษถ้วยชามดินเผา คาดอายุหลายร้อยปี
"คลัง" กระตุ้นผู้ผ่านเกณฑ์ ลงทะเบียน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" 8.7 แสนคน รีบยืนยันตัวตนรับสิทธิ ภายใน 26 ธ.ค.นี้
ครม.ไฟเขียว "โครงการบ้านเพื่อคนไทย" นำที่ดินการรถไฟฯ 700 ไร่ พัฒนาสร้างที่อยู่อาศัย

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น