ได้ติดตามคดี “หมูเถื่อน” มาตั้งแต่เริ่มเกิดปัญหาเมื่อปี 2565 ตลอดจนการตรวจค้นและจับกุมผู้เกี่ยวข้องจนถึงปัจจุบัน ได้เห็นความ “ย้วย” ของการดำเนินคดีอย่างต่อเนื่อง จนวันนี้ให้เป็นกังวลว่าที่สุดคดีนี้ อาจ “คว้าน้ำเหลว” คนผิดไม่ถูกลงโทษ คนที่ถูกลงโทษ คือ “แพะ” และคนที่ต้องรับโทษตัวจริง คือ เกษตรกรคนเลี้ยงหมู จากราคาที่ตกต่ำนานกว่า 1 ปี และประเทศไทยเกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจที่ประเมินกันเบื้องต้นไว้มากกว่า 50,000 ล้านบาท และความเสียหายอาจขยับถึง 1 แสนล้านบาทได้
ช่วงนี้กระแสจับกุม “หมูเถื่อน” ลดลงความร้อนแรงลง เพราะมีประเด็นทางการเมืองหลายเรื่องเข้ามาแทรก แต่ผู้เลี้ยงหมูยังคงทวงความยุติธรรมต่อเนื่อง เรียกร้องให้หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องและรับผิดชอบคดีนี้ ทั้งจากกรมศุลกากร กรมปศุสัตว์ กรมประมง และกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) แสดงความรับผิดชอบ และเปิดเผยความคืบหน้าของคดี โดยเฉพาะ DSI ซึ่งเป็นหน่วยงานรับดำเนินคดีกับผู้กระทำผิดในคดีนี้ทั้งหมด จะต้องสอบสวนอย่างเคร่งครัดด้วยความความโปรงใส มีการเปิดเผยข้อเท็จจริงของคดี เปิดหน้าผู้กระทำผิด และผลการสอบสวนให้สังคมตรวจสอบได้
เดือนมีนาคม ที่ผ่านมา DSI เปิดเผยความคืบหน้าของคดี “หมูเถื่อน” มีการแยกคดีออกเป็น 3 กลุ่ม คือ 1. คดีหมูเถื่อนตกค้างที่ท่าเรือแหลมฉบัง 161 ตู้ มีผู้ที่เกี่ยวข้องเป็นบริษัทนำเข้า 18 ราย จับกุมดำเนินคดี 10 บริษัท 10 ราย เป็นนายทุน ข้าราชการ และข้าราชการการเมือง ของกลางมากกว่า 4,500 ตัน เป็นต้น 2.คดีหมูเถื่อนเล็ดลอดสูตลาดกระจายตามห้องเย็น 2,385 ใบขน (ขยายผลจากคดีกลุ่มที่ 1) ของกลาง 60,000 ตัน มีการสอบสวนข้าราชการจากกรมต่างๆ ดังกล่าวข้างต้น รวมถึงเจ้าหน้าที่การท่เรือแห่งประเทศไทย มีการจับกุมนายทุน 2 ราย จาก 2 บริษัทนำเข้า คือ เว้ลท์ซี่ แอนด์ เฮ็ลธ์ซี ฟู้ด จำ และบริษัทศิขัณทิน จำกัด และ 3. คดีขาไก่สวมสิทธิ์ส่งออกไปจีน (ขยายผลจากกลุ่มที่ 2) ขาไก่นำเข้า 10,000 ตู้ ผู้ต้องหารวม 10 จับกุมแล้ว 10 ราย
จากข้อมูลที่ DSI เปิดเผย มีหมูเถื่อนไม่น้อยกว่า 60 ล้านกิโลกรัม (ที่จับกุมได้) ที่ลักลอบนำเข้าประเทศไทยช่วง 2 ปี ที่ผ่านมา หากมีตรวจสอบตามขั้นตอนของกฎหมายและหลักฐานเอกสารและความผิดที่เกิดขึ้นในประเทศจากคดีกลุ่มที่ 2 น่าจะได้หมูอีกหลายพันตัน ที่ทะลักเข้ามาในประเทศ และเป็นปัจจัยสำคัญที่ก่อปัญหาซัพพลายล้นตลาด (Over Supply) ที่เราไม่สามารถแยกแยะได้ว่าเป็นหมูของไทยเท่าไรและเป็นหมูเถื่อนเท่าไร แต่มีผลให้ราคาร่วงจากราคาสุกรมีชีวิตหน้าฟาร์มร่วงจากปลายปี 2565 เฉลี่ยเกือบ 100 บาทต่อกิโลกรัม จนถึงปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่ 62-68 บาทต่อกิโลกรัม ซึ่งเป็นราคาที่ดีขึ้นกว่าก่อนหน้านี้ซึ่งอาจต่ำกว่า 50 บาทได้ หากไม่มีโครงการลดลูกสุกรขุน นำไปทำหมูหัน และการส่งออกไปยังภูมิภาค เพื่อลดซัพพลายเข้าตลาด
นอกจากนี้ ยังคดีอีก 1 กลุ่ม ที่ไม่ได้กล่าวถึงเพราะเกิดก่อนการเข้ามารับทำคดีของ DSI คือ คดีบริษัท นาสาครห้องเย็นจำกัด บริษัทเอ็มเคห้องเย็น และคดีสถานีตำรวจอำเภอสะเดา จ.สงขลา ได้ของกลางรวม 236 ตัน และมีการสั่งยึดอายัดทรัพย์โดยสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ป.ป.ง.) มูลค่า 2.4 ล้านบาท
เมื่อเร็วๆ นี้ สมาคมผู้เลี้ยงสุกรแห่งชาติ รายงานว่า ผลของราคาหมูหน้าฟาร์มที่ตกต่ำยาวนาน ทำให้จำนวนผู้เลี้ยงของไทยลดลงอย่างมีนัยสำคัญจากมากกว่า 200,000 ราย เหลือประมาณ 50,000 ราย โดยเฉพาะเกษตรกรรายย่อยต้องยุติอาชีพ “คนเลี้ยงหมู” เพราะไม่สามารถฝ่าขาดทุนสะสมได้ และไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากธนาคาร เพื่อใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนต่อลมหายใจอาชีพได้ เพราะธนาคารก็มีความไม่มั่นใจว่าราคาหมูจะฟื้นตัวดีขึ้น จึงมีความเสี่ยงที่จะกลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (Non-Performing Loan : NPL) ซึ่งปัญหานี้เป็นอีก 1 ในข้อเรียกร้องของเกษตรกรต่อรัฐบาลที่ยังไม่ได้รับการตอบรับ
2 ปี ของการสอบสวนและพิจารณาคดี วันนี้ยังไม่มีการจับกุม “ผู้บงการ” แม้แต่คนเดียว แม้จับกุมได้ก็ได้รับการประกันตัวไปหลังสอบปากคำ ต่อเวลาการอยู่นอกคุกไปอีกบยาว ขณะที่คดียังสอบสวนไม่ถึงสุด ก็มีการส่งไปหน่วยงานอื่นรับช่วงต่อ เช่น ป.ป.ง. และคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งแต่ละหน่วยงานก็ต้องใช้เวลาในการสอบสวน “เสียเวลา” ไปอีก และล่าสุด DSI ยังเปิดแนวการสอบสวนอีก 1 ทาง ของคดีในกลุ่มที่ 2 ที่หมูเถื่อนเล็ดลอดระบาดสู่ตลาด ที่ความผิดเกิดขึ้นแล้วในประเทศไทย แต่มีความพยายามที่จะตีความว่าคดีนี้เกิดขึ้นจากบริษัทต้นทางในต่างประเทศ ซึ่งจะต้องตั้งต้นนับหนึ่งสอบสวนใหม่ เสียอีกเวลาไม่น้อยกว่า 1 ปี จึงหวังว่าคดีหมูเถื่อนจะไม่เจอ “ตอ” พอเรื่องซา แล้วก็ลืมๆกันไป./
สมสมัย หาญเมืองบน นักวิชาการอิสระ