“มนัส โกศล” เร่งตกผลึกร่างพรบ.คุ้มครองแรงงานมุ่งดูแลสิทธิลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ 5 แสนคน
- เผยแพร่ : 05/04/2024 17:52
กดติดตาม TOP NEWS
"มนัส โกศล" ระดมภาคีแรงงานเร่งตกผลึกร่างพรบ.คุ้มครองแรงงาน 2 ฉบับ มุ่งดูแลสิทธิลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ 5 แสนคน เตรียมจัดเวทีสาธารณะหาทางออก จ่อดึงเข้าประกันสังคม มาตรา 33 เพิ่มลาคลอด 180 วัน ปลดล็อกข้อกฎหมายให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกับข้าราชการทั่วไป วางเป้าหมายทำคลอดให้ทัน ส.ค. - ก.ย.นี้
ทั้งนี้จะมีการประชุมอีก 2 ครั้งเพื่อลงลึกในรายมาตรา เพื่อให้ออกกฎหมายให้ได้ภายใน 90 วันหรือช่วงเดือน ส.ค. – ก.ย.นี้ สอดรับกับการทำงานของคณะทำงานโครงการฯ เตรียมจัดเวทีสาธารณะ นำเสนอข้อเสนอแนะ และอาจจะส่งตัวแทนเข้าไปนำเสนอความคิดเห็นในชั้นกรรมาธิการที่จะมีการลงลึกในรายละเอียดรายมาตรา สำหรับข้อเสนอเบื้องต้น อาทิ กองทุนประกันสังคม ควรแก้กฎหมายหรือระเบียบ ดึงแรงงานกลุ่มนี้เข้ามาตรา 33 หรือ กองทุนเงินทดแทน ดังนั้นกองทุนประกันสังคมควรทำข้อมูลมาสนับสนุน , ควรได้สิทธิลาคลอด 180 วัน โดยมีข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขสนับสนุน เพราะเห็นว่าแม่ควรให้นมบุตรอย่างน้อย 6 เดือน หรือ 180 วัน แต่ประเด็นที่ถกเถียงกันอยู่คือ 90 วันแรกได้รับค่าจ้างจากนายจ้างตามกฎหมายขณะนี้ แต่อีก 90 วัน อาจจะไม่ได้รับค่าจ้างจากนายจ้าง, ภาครัฐในฐานะนายจ้างต้องนำเสนอข้อมูลและแยกประเภทการใช้แรงงานที่เป็นลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ แต่ละกระทรวงทบวงกรมหรือองค์การปกครองส่วนท้องถิ่น มีอยู่จำนวนเท่าไรและกี่ประเภท และ แหล่งที่มางบประมาณเพื่อมาดูแลสิทธิสวัสดิการแรงงานกลุ่มนี้หากต้องเข้าระบบประกันสังคมมาตรา 33 เป็นต้น
สำหรับสิทธิแรงงานในกลุ่มลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ อาจแบ่งได้ 2 กลุ่ม คือ หน่วยงานภาครัฐทำสัญญาจ้างโดยตรงเป็นรายบุคคล กับ จ้างผ่านบริษัทนายหน้าที่เป็นนิติบุคคล ซึ่งอาจจะมีปัญหาหักค่าหัวคิว อย่างไรก็ตามประเภทงานแต่ละแบบแตกต่างกัน เช่น พนักงานขับรถประจำตำแหน่ง , พนักงานทำความสะอาด , เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย (รปภ.) หรือ งานที่ต้องใช้ความเชี่ยวชาญ งานลักษณะพิเศษ การนิยมลูกจ้าง หรือระยะเวลาทำงานปกติและทำงานล่วงเวลา (โอที) จึงเป็นเหตุให้กรมบัญชีกลาง กระทรวงการคลัง ออกระเบียบการจ้างเหมาบริการแตกต่างและไม่เหมือนกันในแต่ละหน่วยงาน จนบางระเบียบไปกระทบสิทธิการจ้างของลูกจ้างเหมาบริการภาครัฐ แต่ลูกจ้างไม่สามารถร้องเรียนหรือฟ้องร้องได้เพราะนายจ้าง คือ ภาครัฐ จึงเป็นที่มาของการขับเคลื่อนเพื่อดูแลสิทธิกฎหมายและสุขภาพของแรงงานกลุ่มนี้ ดังนั้นควรมีที่ปรึกษาจากสำนักงานกฤษฎีกามาให้ความคิดเห็นเพื่อปลดล็อกระบบหรือระเบียบราชการที่ต้องไม่ไปกระทบสิทธิลูกจ้างรับเหมาบริการภาครัฐ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง