"อาหารเป็นพิษ" เกิดจากอะไร โรคฮิตหน้าร้อน อร่อยปาก ลำบากกาย เมนูอะไร ที่กินแล้วเสี่ยง 3 อาการรุนแรง อาจเกิดภาวะช็อก อันตรายถึงชีวิต ต้องรีบพบแพทย์
ข่าวที่น่าสนใจ
สงสัย “อาหารเป็นพิษ” ?
อาการของอาหาร เป็นพิษ จะไม่ได้แค่ท้องเสียเพียงอย่างเดียว แต่บางคนจะวิงเวียนศีรษะและอาเจียนร่วมด้วย มักเกิดขึ้นทันทีหลังรับประทานอาหาร หรือในช่วง 4 – 30 ชั่วโมงแรกหลังจากรับประทานอาหารมื้อนั้น ส่วนอาการอาหาร เป็นพิษ อื่น ๆ อาทิ มีไข้ ปวดศีรษะ คลื่นไส้ ปวดท้อง ถ่ายอุจจาระบ่อย เกินวันละ 3 ครั้ง ปวดเมื่อยตามเนื้อตัว มีอาการสูญเสียน้ำ เช่น เหนื่อยง่าย อ่อนเพลีย และกระหายน้ำ เป็นต้น
แต่หากมีอาการดังต่อไปนี้ คือ
- ท้องเสียถ่ายเป็นน้ำหรือเป็นมูกเลือด มักจะมีอาการไข้สูง อ่อนเพลีย
- อาเจียน ติดต่อกันไม่หยุด หรือมีเลือดออกระหว่างอาเจียน
- หนังตาตก กล้ามเนื้ออ่อนแรง หายใจลำบาก
ควรรีบพบแพทย์ให้เร็วที่สุด ไม่ต้องรอให้หยุดถ่ายเอง
ซึ่งภาวะแทรกซ้อนของอาหาร เป็นพิษ อาจทำให้เกิดภาวะขาดน้ำและเกลือแร่จากการถ่ายท้องและการอาเจียน หรืออาจทำให้ผู้ป่วยบางรายรับประทานอาหารไม่ได้ ซึ่งอาจทำให้ร่างกายเกิดภาวะช็อกและเป็นอันตรายต่อชีวิต โดยเฉพาะในเด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หรือผู้มีโรคประจำตัวเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ และ โรคเบาหวาน เป็นต้น
นอกจากนี้ เชื้อโรคบางชนิดยังก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่ออวัยวะอื่น ๆ เช่น เชื้ออีโคไลชนิดรุนแรง (Shiga Toxin-Producing E. Coli) ที่ทำให้เม็ดเลือดแดงแตก และ ไตวาย ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้เช่นกัน
วิธีการดูแลตนเอง?
โดยทั่วไป “อาหารเป็นพิษ” เป็นภาวะไม่รุนแรง และสามารถหายได้เอง ภายใน 24 – 48 ชั่วโมง ด้วยการรักษาตามอาการ ดังนี้
- ดื่มน้ำเกลือแร่ (ORS) เพื่อป้องกันภาวะขาดน้ำและเกลือแร่ และรับประทานยาแก้คลื่นไส้ ทั้งนี้ ห้ามจิบเกลือแร่สำหรับนักกีฬา
- งดอาหารเผ็ด – เปรี้ยวจัด อาหารประเภทนม ผลไม้ อาหารสุก ๆ ดิบ ๆ อาหารหมักดอง
- รับประทานอาหารปรุงสุก ทานอาหารเหลว ย่อยง่าย
- ดื่มน้ำสะอาดมาก ๆ พักผ่อนให้มากขึ้น งดการทำกิจกรรมหนัก
เมนูเสี่ยงอาหาร เป็นพิษ?
- อย่างไรก็ดี การเลือกทาน สามารถช่วยป้องกัน อาหาร เป็นพิษ ได้ โดยเมนูที่กินแล้วอาจมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาหาร เป็นพิษ ได้แก่
- อาหารที่มีกะทิ เช่น แกงต่าง ๆ ขนมหวานที่ใส่กะทิ หรือราดน้ำกะทิ ซึ่งเป็นเมนูที่เสียง่ายทั้งนั้น
- ส้มตำ และยำต่าง ๆ บางร้านอาจใช้ปลาร้าไม่ได้มาตรฐาน ถั่วลิสงขึ้นรา กุ้งแห้งใส่สี ก็อาจทำให้ผู้รับประทานเกิดอาการอาหาร เป็นพิษ ได้
- ขนมจีนน้ำยาต่าง ๆ เส้นขนมจีนทำมาจากแป้ง และบูดง่าย รวมถึงน้ำยากะทิก็เก็บได้ไม่นาน ผักเครื่องเคียงที่ทานสด ๆ ก็อาจจะล้างไม่สะอาดพอ
- อาหารทะเล ควรเลือกสด ๆ และปรุงให้สุก หากพบมีกลิ่นเหม็นคาว หรือสีผิดปกติไป ไม่ควรรับประทานเด็ดขาด
- สลัด การทานผักสด ๆ มีโอกาสได้รับเชื้อโรคที่ติดมาจากขนส่งหรือภาชนะที่ใส่ ดังนั้น ควรล้างผักด้วยน้ำให้สะอาดก่อนรับประทานเสมอ
- น้ำและน้ำแข็ง กระบวนการทำน้ำแข็งบางครั้ง อาจไม่สะอาด มีผงหรือเศษฝุ่นต่าง ๆ ติดอยู่ในก้อนน้ำแข็ง ทำให้เป็นอันตรายต่อลำไส้ และระคายเคืองต่อระบบทางเดินอาหารได้
ในช่วงที่อากาศร้อนแบบนี้ การรับประทานอาหารควรยึดหลัก สุก ร้อน สะอาด หลีกเลี่ยงอาหารที่เสียง่าย หรือไม่สุก เพื่อป้องกันโรคติดต่อทางอาหารและน้ำ ซึ่งจะเป็นการป้องกันอาหาร เป็นพิษ ได้ ที่สำคัญควรล้างมือก่อนและหลังรับประทานให้เป็นนิสัย และล้างมือให้สะอาดหลังสัมผัสสิ่งสกปรกและเชื้อโรคจากแหล่งต่าง ๆ รอบตัว เช่น จับราวบันได กดปุ่มลิฟต์ สัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยโรคต่าง ๆ ทุกครั้ง ก็จะดีที่สุด
ข่าวที่เกี่ยวข้อง