X

อว. เตือน ดินสอพองปลอม อันตรายถึงชีวิต

รัฐมนตรี อว. ห่วงใยประชาชนช่วงเทศกาลสงกรานต์ แนะใช้ “ดินสอพอง” ที่มีมาตรฐาน เพื่อความปลอดภัย หลังตรวจพบกว่า ร้อยละ 42.6 เป็นดินสอพองปลอม เสี่ยงเกิดอันตรายถึงชีวิต

(10 เม.ย.) น.ส.ศุภมาส อิศรภักดี รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม หรือ อว. ได้ฝากความห่วงใยถึงประชาชนที่จะสนุกสนานกับกิจกรรมเทศกาลสงกรานต์ปี 2567 ที่จะมีขึ้นนี้ จนอาจลืมนึกถึงความปลอดภัย ทั้งนี้พบว่า หนึ่งในประเพณีนิยมนอกจากการสาดน้ำ คือ การประแป้งด้วย “ดินสอพอง” ซึ่งเป็นเอกลักษณ์จากภูมิปัญญาท้องถิ่นในการคลายร้อนของไทย ทางกระทรวง อว. เล็งเห็นถึงความสำคัญของการใช้ดินสอพองที่มีคุณภาพตามมาตรฐาน เพื่อให้มั่นใจถึงความปลอดภัยของผู้ใช้ทุกคน รัฐมนตรีว่าการกระทรวง อว. จึงได้มอบหมายให้กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) สำรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายในท้องตลาด และแนะนำวิธีการตรวจสอบ เพื่อให้มั่นใจว่า เป็นดินสอพองของแท้ ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพของประชาชน

ด้าน นายแพทย์รุ่งเรือง กิจผาติ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์บริการ เปิดเผยว่า “ดินสอพอง” เป็นหนึ่งในของใช้ที่อยู่กับคนไทยมาทุกยุคทุกสมัย โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ดินสอพองนับเป็นหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการคลายร้อน และสร้างความสนุกสนาน นอกจากทำให้ร่างกายเย็นสบายแล้ว การใช้ดินสอพองประหน้ายังสามารถป้องกันแดดได้ดีอีกด้วย แต่ผู้ใช้จะต้องมั่นใจว่า ดินสอพองที่ใช้นั้น เป็นของแท้ ที่ผลิตจากดินมาร์ล หรือปูนมาร์ล (Marl) ที่มีแคลเซียมคาร์บอเนตเป็นส่วนประกอบหลัก กรมวิทยาศาสตร์บริการ (วศ.) ได้ดำเนินการสุ่มตรวจคุณภาพของดินสอพองที่วางขายอยู่ในท้องตลาด พบว่า ยังมีดินสอพองปลอมถึงร้อยละ 42.6 ที่มียิปซัม หรือแคลเซียมซัลเฟตเป็นองค์ประกอบหลัก แทนดินสอพองของแท้ที่ผลิตจากปูนมาร์ล หรือแคลเซียมคาร์บอเนต

โดยฝุ่นยิปซัมนี้ ถ้าเข้าไปในระบบทางเดินหายใจ สามารถทำให้เกิดอาการภูมิแพ้ เจ็บคอ ระคายเคือง จมูกอักเสบ ปอดบวม และหายใจลำบากได้ หากสัมผัสกับผิว อาจทำให้เกิดการระคายเคือง คัน เป็นผื่น หรือ เป็นลมพิษได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับความไวของผิว ต่อสารเคมีของแต่ละบุคคล โดยประชาชนสามารถตรวจสอบได้ด้วยตนเอง ด้วยการใช้น้ำมะนาว หรือน้ำส้มสายชู หยดลงในดินสอพอง หากเกิดฟองฟู่ แสดงว่าเป็นดินสอพองแท้ แต่หากไม่เกิดปฏิกิริยาใด ๆ แสดงว่าเป็นดินสอพองปลอม

ขณะเดียวกัน ห้องปฏิบัติการของกรมวิทยาศาสตร์บริการ ยังได้ตรวจพบว่า ดินสอพองที่สุ่มมาจำนวนร้อยละ 48 มีจำนวนแบคทีเรีย ยีสต์ และรา มากกว่า 1,000 โคโลนีต่อตัวอย่าง 1 กรัม เกินกว่าเกณฑ์ที่กำหนดไว้ในมาตรฐานผลิตภัณฑ์ชุมชน ดินสอพองแปรรูป (มผช.453-2560) อีกทั้งพบเชื้อที่ก่อให้เกิดโรคทางผิวหนัง Clostridium spp. และเชื้อที่ก่อโรคอาหารเป็นพิษ Staphylococcus aureus หากเชื้อโรคเข้าสู่ร่างกาย อาจทำให้เกิดอาการเจ็บป่วย คลื่นไส้ อาเจียน วิงเวียน ติดเชื้อได้ ในกรณีที่เข้าสู่ร่างกายในปริมาณมาก อาจทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด และติดเชื้อในเนื้อเยื่ออ่อน ซึ่งอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ โดยเฉพาะในผู้ที่มีปัญหาสุขภาพ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคเบาหวาน และ มีแผล รวมถึงผู้ป่วยที่มีปัญหาภูมิคุ้มกันผิดปกติ

นอกจากนี้ ดินสอพองที่ขายในท้องตลาดมีเป็นจำนวนมาก ซึ่งไม่สามารถตรวจสอบได้ทั้งหมดว่า เป็นดินสอพองของแท้ที่มีคุณภาพ และมีความปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน ดังนั้นประชาชนควรระมัดระวังเป็นพิเศษ หากจำเป็นต้องใช้ดินสอพองเล่นสงกรานต์ ควรระวังอย่าให้เข้าจมูกหรือปาก หรือหากมีบาดแผลที่ผิวหนังควรหลีกเลี่ยงดินสอพอง และขอความร่วมมือผู้ประกอบการคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค ควรมั่นใจว่าดินสอพองที่จะจำหน่ายให้ประชาชนต้องเป็นของแท้และมีคุณภาพตามที่มาตรฐานกำหนดเท่านั้น

พร้อมแนะนำประชาชน ในการสังเกตบรรจุภัณฑ์ที่ห่อหุ้มผลิตภัณฑ์ว่า อยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดีหรือไม่ หากเป็นแบบซอง หรือแบบกระปุกพลาสติก ก็ควรเลือกบรรจุภัณฑ์ที่ปิดสนิท สะอาด ไม่ชำรุด หรือฉีกขาด พร้อมกับอย่าลืมตรวจสอบฉลากด้วยว่า มีส่วนประกอบ ชื่อแหล่งที่ผลิต และเครื่องหมายการค้า ที่ได้รับการรับรองมาตรฐานจาก อย. หรือ เครื่องหมาย OTOP ที่รับรองมาตรฐานว่า เป็นผลิตภัณฑ์ชุมชน (มผช.)

อัปเดตรายการ TOPNEWS

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น