“ดร.ปณิธาน” คาดอิสราเอล-อิหร่านไม่ถึงขั้นสงครามเต็มรูปแบบ หรือสงครามภูมิภาค คาดคงตอบโต้แบบนี้ไปอีกระยะจนกว่าจะพอใจ เผยยิวเริ่มไล่ล่าอิหร่านในซีเรียตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว แนะไทยแสดงท่าทีให้สองฝ่ายลดความรุนแรง Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
14 เม.ย.2567 รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร ผู้เชี่ยวชาญด้านความมั่นคงและการต่างประเทศ ให้สัมภาษณ์ทีมข่าวท็อปนิวส์ ถึงเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างอิสราเอลกับอิหร่าน สถานการณ์จะบานปลายหรือไม่ว่า โดยรศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า บานปลายระดับหนึ่ง แต่ว่าจะมากขนาดไหน เพราะ 1.การโจมตีอิสราเอลโดยตรงจากอิหร่านยังไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ซึ่งต้องดูว่าหลังจากนี้อิสราเอลจะโจมตีอย่างไร เนื่องจากรัฐมนตรีต่างประเทศของอิสราเอลยืนยันว่าจะต้องโจมตีกลับอิหร่าน 2.การโต้ตอบจะเป็นตัวบอกว่ามันจะบานปลายไปถึงไหน ถ้าสุดท้ายแล้วสองประเทศดีเข้าสู่สงครามเต็มูปแบบ มันจะวุ่นวายมาก
เพราะจะมีการเคลื่อนกำลังทางบก ทางเรือ อย่างไรก็ตามยังดูยากว่าสุดท้ายแล้วจะบานปลายไปสู่ระดับสงครามภูมิภาค และ 3.แนวรบตัวแทนอื่นๆ มันจะเริ่มปะทุขึ้นมามากขึ้นหรือไม่ เช่น แนวรบตัวแทนในซีเรีย ในเยเมน ในฉนวนกาซา ในที่ราบสูงโกลาน และพื้นที่ตะวันออกกลางอื่นๆ ดังนั้นสรุปแล้วต้องดูสถานการณ์การโต้ตอบตั้งแต่นี้ไป แต่โดยทั่วไปแล้วหลายฝ่ายก็ยังเชื่อว่าทั้งอิหร่านกับอิสราเอลยังไม่อยากจะทำสงครามเต็มรูปแบบจริงๆ แต่การโต้ตอบทางอากาศแบบนี้มันจะเกิดขึ้นไปอีกพักหนึ่ง มันคงหยุดยากแล้ว จนกว่าทั้ง 2 จะพอใจ หรือว่าจนกว่าจะเอาตรงนี้ไปผูกกับเรื่องข้อยุติในเรื่องฮามาส
ส่วนสาเหตุที่อิสราเอลยกระดับการโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวว่า มันมีที่มาที่ไปตั้งแต่ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้ว โดยอิสราเอลเริ่มโจมตีกองกำลังของอิหร่านในเลบานอนและในซีเรีย แต่ไม่ประกาศว่ามีการไล่ล่าสังหารคนเหล่านี้ ดังนั้นปฎิบัติการโจมตีสถานทูตอิหร่านในซีเรีย จึงเป็นการยกระดับจากปีที่แล้ว โดยกลุ่มนายพลของอิหร่านเสียชีวิตไปแล้วประมาณ 12-13 คน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของปฏิบัติการเพื่อชะลอความเข้มแข็งของอิหร่านในภูมิภาค ซึ่งเข้าไปจัดตั้งรัฐกันชนในซีเรีย อิสราเอลจึงต้องตัดกำลังตรงนี้
ส่วนหากสถานการณ์บานปลาย จีนจะเข้ามามีบทบาทในการสนับสนุนอิหร่านหรือไม่ รศ.ดร.ปณิธาน เชื่อว่าคงยากที่จะเปิดเผยตัวเอง เพราะถ้าดูรูปการณ์ของจีนในยุโรป ในสงครามยูเครนกับรัสเซีย ซึ่งตรงนั้นเข้มข้นกว่าเยอะ จีนก็ยังพยายามมีระยะห่างเนื่องด้วยมีผลประโยชน์ทางการค้า ตรงนี้จีนก็น่าจะใช้แนวเดียวกัน คือสนับสนุนอยู่เบื้องหลัง แล้วก็เปิดวงที่สหประชาชาติ คอยดูล็อบบี้หรือว่ากดดันแล้วใช้สิทธิ์ยับยั้งถ้าจำเป็น เพื่อไม่ให้เสียประโยชน์ แต่ว่ามันมีเรื่องหนึ่งที่อาจจะชัดเจนขึ้นคือ ในสมรภูมิยุโรปรัสเซียผลิตอาวุธได้เองเยอะ และมีเกาหลีเหนือที่สนับสนุนอาวุธ แต่กรณีอิหร่าน อิหร่านไม่ได้ผลิตอาวุธเยอะเท่ากับรัสเซีย อาวุธและขีปนาวุธกับโดรนส่วนใหญ่น่าจะมาจากจีน บางส่วนจะมาจากรัสเซียและเกาหลี ซึ่งจะทำให้จีนเปิดเผยตัวเองมาโดยปริยายจากอาวุธของอิหร่าน
ส่วนการบริหารสถานการณ์ของไทยจะต้องทำอย่างไร เพราะทั้งอิสราเอลและอิหร่านก็เป็นมิตรของไทย รศ.ดร.ปณิธาน เห็นว่า อันดับแรกก็คงต้องรอมติของสหประชาชาติ เพื่อใช้ช่องทางนั้นส่งสัญญาณในการดำเนินนโยบายในการกดดัน แต่ถ้าจะให้ดีก่อนสหประชาชาติมีความชัดเจน ไทยก็อาจจะแสดงความเป็นกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์โดยตรงก็ได้
แล้วเรียกร้องให้ทุกฝ่ายซึ่งเป็นเพื่อนเราทั้งนั้นลดความรุนแรง ส่งสัญญาณว่าเราไม่ได้เลือกข้าง อยากให้สองฝ่ายคุยกันด้วยดี ประเด็นที่ 2 ก็คือดูแนวโน้มที่สหประชาชาติและอาเซียนเคลื่อน ประเด็นที่ 3 ดูผลประโยชน์ของสองประเทศนี้ในประเทศไทยอย่างจริงจัง เพราะคนอิหร่านและอิสราเอลก็เข้ามาไทยเยอะ และมีผลประโยชน์ต่างๆ หากสถานการณ์มันบานปลาย เขาจะสั่งให้โจมตีผลประโยชน์ในประเทศต่างๆ แม้ปกติเขาไม่เลือกประเทศไทย เพราะไม่อยากผิดใจกับไทย แต่หากสถานการณ์มันผกผันจริงๆ มันก็ไม่แน่ มันประมาทไม่ได้ เพราะเคยทำมาแล้ว เช่น มีกลุ่มฮิซบอลเลาะห์เข้ามาพยายามลักลอบสังหารอิสราเอลหลายรอบ เป็นคดีความไม่รู้กี่ครั้ง ขึ้นถึงศาลฎีกาก็มีในกรณีฆ่าคนขับ แล้วเอารถไปไว้ที่สน.ลุมพินี
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น