"ฝนหลวง" ฝนเทียมน้ำมือมนุษย์ ถูกพุ่งเป้า ซ้ำเติมน้ำท่วม ยูเออี รวมถึงดูไบ แต่จะมองข้ามภาวะโลกรวนไปไม่ได้ เพราส่งสัญญาณมาก่อนแล้วในช่วง 2 - 3 ปีที่ผ่านมา
ข่าวที่น่าสนใจ
“ฝนหลวง” ฝนเทียมซ้ำน้ำท่วม?
ยูเออี เผชิญฝนตกหนักอย่างไม่เคยเจอมาก่อน เมื่อวันที่ 16 เมษายน โดยมีพื้นที่หนึ่งวัดปริมาณน้ำฝนได้กว่า 254 มิลลิเมตร เท่ากับค่าเฉลี่ยน้ำฝนที่ตกในเวลา 2 ปี ภาพสนามบินและสถานที่ต่าง ๆ ในดูไบ ศูนย์กลางการเงินและเศรษฐกิจของประเทศ จมอยู่ใต้น้ำ ที่แชร์ในโลกออนไลน์เป็นที่สนใจของคนทั่วโลก เพราะแทบไม่เคยเห็นประเทศในถิ่นทะเลทรายจะเจอน้ำท่วมหนักขนาดนี้ ขณะเดียวกัน ก็มีข่าวว่า ฝนถล่มครั้งนี้ไม่ใช่ธรรมชาติแปรปรวนอย่างเดียว แต่เกิดจากน้ำมือมนุษย์ นั่นก็คือการทำฝนเทียม
สำนักข่าว CNBC อ้างคำให้สัมภาษณ์ของ รองผู้อำนวยการกรมอุตุนิยมวิทยายูเออี ที่ยืนยันว่า ทางหน่วยงานไม่ได้ส่งนักบินขึ้นทำภารกิจเพาะเมฆในช่วงก่อนหน้า และระหว่างพายุฝนถล่มยูเออีเมื่อวันอังคาร เพราะหนึ่งในหลักการพื้นฐานของการทำฝนเทียมก็คือ ต้องมุ่งเป้าไปที่เมฆตั้งแต่ระยะแรก หากมีสถานการณ์พายุฝนฟ้าคะนองรุนแรง นั่นคือสายเกินไปที่จะทำฝนเทียม ยืนยันว่า พายุฝนครั้งนี้เป็นปรากฏการณ์ธรรมชาติ
ก่อนหน้านี้ สำนักข่าวบลูมเบิร์ก รายงานอ้าง นักอุตุนิยมวิทยา ที่บอกว่า ฝนถล่มเมื่อวันอังคาร ส่วนหนึ่งมาจากการทำฝนเทียม แต่ต่อมา เจ้าหน้าที่คนเดียวกันบอกใหม่ ว่า นักบิน 6 คน ขึ้นทำการบินเป็นภารกิจปกติ ไม่ได้ขึ้นไปทำฝนเทียม
ยูเออี ใช้ฝนเทียมแก้ปัญหาขาดแคลนน้ำมานานหลายปี โดยจะส่งเครื่องบินขึ้นทำภารกิจสร้างฝนเทียมปีละประมาณ 1 พันชั่วโมง
ด้าน นิตยสาร เนเจอร์ รายงานก่อนหน้านี้ว่า จากที่เคยมีภูมิอากาศแบบทะเลทรายและแล้งฝน ยูเออี เริ่มเผชิญกับภูมิอากาศเปลี่ยนไปมาระยะหนึ่งแล้ว เนื่องจากภาวะโลกรวน ไคลเมท เชนจ์ (Climate Change) หรือภูมิอากาศโลกเปลี่ยนแปลง ปริมาณน้ำฝนในยูเออีเพิ่มขึ้นในช่วง 2 – 3 ปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 15 – 30% ในหลายปีข้างหน้า
“ฝนหลวง” ?
โครงการ ฝน หลวง เป็นโครงการที่เกิดขึ้นจากพระราชดำริฯ ในหลวง รัชกาลที่ 9 เพื่อสร้างฝนเทียม สำหรับบรรเทาปัญหาความแห้งแล้ง และการขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและการเกษตร
จากการที่ทรงติดตามผลการทดลอง ควบคู่กับปฏิบัติการ และทรงวิเคราะห์วิจัย จากรายงานผลการปฏิบัติการประจำวัน และรายงานของคณะปฏิบัติการ ที่ทรงบัญชาการด้วยพระองค์ ประกอบกับที่ทรงสังเกตสภาพกาลอากาศ และปรากฏการณ์ต่าง ๆ ในท้องฟ้า ทั้งในช่วงที่มีปฏิบัติการทดลอง และไม่ปฏิบัติการอย่างใกล้ชิด รวมทั้งสนพระทัยศึกษาจากเอกสารวิชาการ จึงทรงสามารถพัฒนา กรรมวิธีการทำฝนจากเมฆอุ่น อย่างก้าวหน้ามาตามลำดับ จนทรงมั่นพระทัย จึงทรงสรุป ขั้นตอนกรรมวิธีในปี 2516 แล้วพระราชทานให้ใช้ เป็นหลักในการปฏิบัติการสืบเนื่องมา ซึ่งมี 3 ขั้นตอน ดังนี้
- ขั้นตอนที่ 1 : ก่อกวน โปรยโซเดียมคลอไรด์ (NaCl) หรือสารเคมีตามสูตรที่เหมาะสมในทิศเหนือลม เพื่อกระตุ้นให้เกิดกระบวนการก่อตัวของไอน้ำและความชื้นมารวมตัวกันเป็นกลุ่มก้อน
- ขั้นตอนที่ 2 : เลี้ยงให้อ้วน โปรยแคลเซียมคลอไรด์ (CaCl2) หรือสารเคมีตามสูตรที่เหมาะสม เพื่อดูดความชื้นและคายความร้อนออกมา ทำให้มวลเมฆก่อตัวใหญ่ขึ้น และมียอดเมฆสูงขึ้น
- ขั้นตอนที่ 3 : โจมตี เมื่อเมฆเคลื่อนที่เข้าสู่พื้นที่เป้าหมาย ให้ทำการโจมตีก้อนเมฆโดยใช้เครื่องบิน 2 ลำ ลำแรกบินที่ยอดเมฆเพื่อโปรยโซเดียมคลอไรด์ให้มวลเมฆเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ลำที่ 2 โปรยผงยูเรียบริเวณฐานเมฆเพื่อกระตุ้นให้เกิดการกลั่นตัวของเมฆกลายเป็นเม็ดฝน
ในทางปฏิบัติยังมีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายในการทำ ฝน หลวง ซึ่งแตกต่างกันตามวัตถุประสงค์และความเหมาะสมในการเลือกใช้สารเคมี แต่ทั้งหมดล้วนมีหลักการพื้นฐานคล้ายคลึงกันดังกล่าวข้างต้น
เทคโนโลยีและเทคนิคการทำฝนเทียมได้รับการพัฒนาอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2512 โดย ในหลวง รัชกาลที่ 9 ด้วยพระปรีชาสามารถและความรอบรู้ในการศึกษาและวิจัย ทำให้การทำฝนเทียมเป็นที่ยอมรับจากหลายประเทศทั่วโลก และทำให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางการสร้างฝนเทียมเขตร้อนในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้อีกด้วย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง