“นพดล” เคลื่อนวิสัยทัศน์นำอาเซียนสร้างสันติภาพเมียนมา หลังด้อมแดงเชียร์นั่งรมว.ต่างประเทศ Top News รายงาน
ข่าวที่น่าสนใจ
29 เม.ย.2567 นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎร ได้โพสต์ข้อความผ่านบัญชี x ระบุว่า นพดลกระตุ้นทุกฝ่ายเร่งผลักดันการสร้างสันติภาพในเมียนมา แก้ปัญหาที่ต้นเหตุ เสนอทรอยก้า พลัส ได้เวลาเปลี่ยนแนวคิดเป็นผลสัมฤทธิ์
นายนพดล ปัทมะ ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคเพื่อไทย ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการการต่างประเทศ (กมธ.) สภาผู้แทนราษฎรกล่าวถึงการสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อยและปัญหาผู้หนีภัยสงครามข้ามแดนมาไทยและปัญหาการสร้างสันติภาพในเมียนมาอย่างยั่งยืน ตลอดจนท่าทีของประเทศอาเซียนกลุ่มประเทศมหาอำนาจทางเศรษฐกิจชั้นนำจี 7 และท่าทีล่าสุดของกระทรวงการต่างประเทศไทยนั้น ตนเห็นว่าถ้าไม่แก้ไขปัญหาที่ต้นเหตุ เกาไม่ถูกที่คัน การสู้รบระหว่างรัฐบาลทหารเมียนมาและชนกลุ่มน้อยก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องและทุกฤดูแล้ง ก็จะมีผู้อพยพหนีภัยสงครามเข้ามาฝั่งไทยและการช่วยเหลือทางมนุษยธรรมก็จะเกิดขึ้นทุกปีต่อเนื่องไป นอกจากนั้น การแก้ปัญหาฝุ่นพีเอ็ม 2.5 ข้ามแดน ปัญหายาเสพติด ปัญหากลุ่มคอลเซ็นเตอร์ตามแนวชายแดนก็คงแก้ไขได้ยากขึ้น
นายนพดล กล่าวต่อว่า กมธ.การต่างประเทศเห็นว่าต้องแก้ไขปัญหาอย่างเป็นระบบ ต่อเนื่องและยั่งยืน แก้ปัญหาที่ต้นเหตุก็คือการสร้างสันติภาพในเมียนมาให้ได้ ซึ่งก็ต้องขอขอบคุณรัฐบาลที่ตั้งคณะกรรมการติดตามปัญหาพม่าขึ้น ซึ่ง กมธ. เสนอไปตั้งแต่ธันวาคมปีที่แล้วอย่างไรก็ตาม แก่นของปัญหาคือการที่ยังไม่มีสันติภาพอย่างยั่งยืนในเมียนมา โดยตนมีข้อเสนอดังนี้คือ
1. รีบจัดประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศอาเซียนเพื่อผลักดันและประเมินฉันทามติ 5 ข้อของอาเซียน และคิดหาเวทีหรือกลไกเพิ่มเติมที่จะขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพในเมียนมาให้จริงจังมากขึ้น
2. ไทยควรใช้โอกาสนี้เป็นหัวหอกในการผลักดันการสร้างสันติภาพในเมียนมา ทราบว่ากระทรวงการต่างประเทศใช้คำว่าทรอยก้า พลัส ซึ่งกมธ.การต่างประเทศเป็นคนแรกๆที่ใช้คำนี้ แต่ความหมายอาจจะแตกต่างกันบ้าง คือกมธ.เห็นว่าทรอยก้าพลัสนั้น ควรประกอบด้วยไทย ประธานอาเซียน จีน อินเดีย และอาจรวมบังคลาเทศซึ่งเป็นประเทศมีชายแดนติดกับเมียนมาเพื่อหารือแนวทางและคิดโรด แมป ในการสร้างสันติภาพในเมียนมา อย่างยั่งยืน
3. เมื่อกลุ่มทรอยก้า พลัส มีโรด แมป ในการสร้างสันติภาพที่ชัดเจนแล้ว ขั้นตอนต่อไปก็คือการจัดเวที พูดคุยกันกับกลุ่มต่างๆในเมียนมา เพราะการพูดคุยยุติปัญหาเท่านั้นที่จะลดการสูญเสียจากการสู้รบและปัญหาความไร้เสถียรภาพทางการเมืองในเมียนมา ซึ่งไม่ใช่ปัญหาภายในเท่านั้นแต่มีผลกระทบต่อประเทศเพื่อนบ้านและอาเซียนโดยรวม
“ตนคิดว่าไทยที่อยู่ในสถานะพิเศษ มีทั้งชายแดนติดเมียนมาและได้รับผลกระทบอย่างมากจากการสู้รบ ควรใช้โอกาสนี้ขับเคลื่อนการสร้างสันติภาพให้รวดเร็วและกระฉับกระเฉงมากขึ้นควรใช้นโยบายการต่างประเทศเชิงรุก และประสานทุกฝ่ายเพราะยิ่งปล่อยเวลาเนิ่นช้าไป ผู้ได้รับผลกระทบก็คือพลเรือนผู้บริสุทธิ์ ปัญหาเมียนมาควรยุติโดยการเจรจาทางการทูตอย่างครอบคลุมและสร้างสรรค์ได้เวลาที่ทุกฝ่ายจะเปลี่ยนแนวคิดและคำพูดไปเป็นการกระทำและผลสัมฤทธิ์ที่วัดผลได้ แม้จะยาก แต่ถ้ามีเจตจำนงทางการเมืองและการทูตจะสำเร็จได้“
ต่อมาได้มีกระแสในโลกโซเชียล วิพากษ์วิจารณ์ถึงเรื่องนี้ รวมทั้งการลาออกจากรัฐมนตรีต่างประเทศของนายปานปรีย์ ระบุว่า เอาท่านนพดล ปัทมะ มาทำได้มั้ย
แนะนำ เอา ท่าน นพดล ปัทมะ มาแทน ปานปรีย์ เถอะ ถ้าจะเรื่องมาก ขนาดนี้
หาคนใหม่เถอะค่ะยังมีคนเก่งๆไปพรรคอีกเยอะค่ะ
สนับสนุน คุณนพดล ปัทมะ ค่ะ
ข่าวที่เกี่ยวข้อง
ข่าวล่าสุด
เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น