นายโจฮารี อับดุล กานี รัฐมนตรีเกษตรกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย กล่าวว่า ประเทศคู่ค้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย มีความวิตกผลกระทบจากการทำสวนปาล์มน้ำมันต่อสภาพแวดล้อม มากขึ้นเรื่อย ๆ แต่มาเลเซียสามารถพิสูจน์ให้โลกเห็นได้ ถึงความมุ่งมั่นอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และรักษาสมดุลระหว่างการตอบสนองความต้องการความมั่นคงทางอาหาร กับปกป้องสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ จึงมีแนวคิดที่จะใช้ “การทูตอุรังอุตัง” เหมือนกับจีนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ การทูตแพนดา หลากหลายมิติทั่วโลก
นายโจฮารี กล่าวว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์การทูต ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่ค้าและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศนำเข้ารายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป อินเดีย และจีน มาเลเซียไม่สามารถใช้แนวทางตั้งรับในประเด็นน้ำมันปาล์ม แต่จำเป็นต้องแสดงให้ประเทศทั่วโลกรู้ว่า มาเลเซียคือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
รัฐมนตรีเกษตรมาเลเซีย เรียกร้องบริษัทน้ำมันปาล์มรายใหญ่ จับมือกับองค์กรนอกภาครัฐ ร่วมกันดูแล อนุรักษ์ และปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับสัตว์ป่าอันเป็นเอกลักษณ์ของมาเลเซียให้คู่ค้าทั่วโลกได้เห็น ความคิดริเริ่มนี้จะเป็นตัวอย่างการทุ่มเทของมาเลเซีย ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และรับประกันความยั่งยืนของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
แผนการของมาเลเซีย มีขึ้นหลังจากสหภาพยุโรป เห็นชอบเมื่อปีที่แล้ว ห้ามนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า ซึ่งกระทบกับอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มด้วย ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากอินโดนีเซีย มองว่ากฎหมายของอียู เลือกปฏิบัติ และมีเป้าหมายปกป้องตลาดน้ำมันพืชของอียูเอง
เวบไซต์องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ WWF ระบุว่า ลิงอุรังอุตัง เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ เหลือประชากรบนเกาะบอร์เนียวไม่ถึง 1 แสน 5 พันตัว
ภาพ unsplash