ขณะที่ทั่วทั้งโลกกำลังจับตาปฏิบัติการภาคพื้นดินของอิสราเอลในเมืองราฟาห์ โดยอ้างว่าเป็นฐานที่มั่นสุดท้ายของฮามาส ที่อิสราเอลจะต้องเข้าไปถอนรากถอนโคนและพาตัวประกันกลับบ้าน จึงจะบรรลุเป้าหมายแห่งชัยชนะ และเริ่มปฏิบัติการบุกราฟาห์ในวงจำกัด แต่อีกด้าน อิสราเอลต้องส่งรถถังกลับเข้าไปในหลายพื้นที่ของกาซ่า และเปิดฉากถล่มเดือดอีกครั้ง เพื่อกวาดล้างกองกำลังฝั่งตรงข้าม หลังจากอิสราเอลไม่เคยเสนอแผนบริหารปกครองกาซ่าหลังสงคราม กาซ่าจึงไร้รัฐบาล ฮามาสจึงอาศัยสุญญากาศความมั่นคง กลับมารวมตัวกันใหม่
เมื่อวันอาทิตย์ (12 พฤษภาคม ) กองทัพอิสราเอลถล่มอย่างหนักในค่ายผู้ลี้ภัย “จาบาเลีย” และอีกหลายพื้นที่ทางเหนือของฉนวนกาซ่า ที่ถูกทำลายจนย่อยยับอยู่แล้ว และเจ้าหน้าที่ยูเอ็น บอกว่า ผู้คนที่นั่นกำลังเผชิญภาวะอดอยาก อิสราเอลประกาศให้ชาวปาเลสไตน์หลายหมื่นคน อพยพจากจาบาเลียไปยังพื้นที่ใกล้เคียง
อับเดล คารีม รัดวาน ชาวปาเลสไตน์วัย 48 ปีจากจาบาเลีย กล่าวว่า คืนวันเสาร์ เป็นคืนที่สาหัสมาก ชาวบ้านได้ยินเสียงถล่มหนักหน่วงและแทบไม่หยุดพักตั้งแต่เที่ยง
จาบาเลีย เป็นหนึ่งในค่ายผู้ลี้ภัยใหญ่ที่สุดจากทั้งหมด 8 แห่งในฉนวนกาซ่า มีชาวปาเลสไตน์อาศัยอยู่กว่า 1 แสนคน ส่วนใหญ่เป็นลูกหลานของชาวปาเลสไตน์ ที่เคยถูกขับออกจากเมืองและหมู่บ้านที่กลายเป็นของอิสราเอล หลังสงครามอาหรับ-อิสราเอลในปี 1948 ซึ่งนำไปสู่การก่อตั้งรัฐอิสราเอลในปัจจุบัน
นอกจากนี้ อิสราเอลยังโจมตีเขต อัล ไซตุน (Al-Zeitoun ) ทางตะวันออกของ กาซา ซิตี้ จุดที่ทหารอิสราเอลปะทะกับกลุ่มติดอาวุธปาเลสไตน์มานานกว่า 1 สัปดาห์ และที่เขต อัล ซาบรา ชาวบ้านรายงานว่า มีบ้านและตึกที่พักอาศัยถูกระเบิดทำลายหลายแห่ง
พลเรือเอก แดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล กล่าวว่า ทหารอิสราเอลปฏิบัติการในทุกส่วนของฉนวนกาซ่า ทั้งในพื้นที่ที่ยังไม่เคยเข้าไป และพื้นที่ที่เคยมีปฏิบัติการแล้ว นอกเหนือจาก จาบาเลีย และอัล ไซตุน ทหารอิสราเอลยังกวาดล้างกลุ่มติดอาวุธ ใน เบอิต ลาฮียา และ เบอิต ฮานูน ใกล้ชายแดนทางเหนือของกาซาที่ติดกับอิสราเอล ซึ่งเคยถูกถล่มหนักหน่วงในช่วงต้นของสงคราม
พื้นที่ส่วนใหญ่เหล่านี้ กองทัพอิสราเอล เคยอ้างว่า สามารถคุมได้แล้วเมื่อหลายเดือนก่อน
เบน คาสพิต คอลัมนิสต์อิสราเอล แสดงความเห็นผ่านหนังสือพิมพ์ มาอารีฟ ว่า เวลานี้ กองทัพต้องกลับเข้าไปใน จาบาเลีย เป็นครั้งที่สอง และ อัล ไซทูน เป็นครั้งที่สาม และก็คงจะเข้า ๆ ออก ๆ ต่อไป ระบอบฮามาสไม่อาจถูกทำลายโดยไม่เตรียมทางเลือกอื่นไว้รองรับ และว่าคนที่จะปกครองกาซ่าหลังสงครามก็คือชาวกาซา โดยมีแรงสนับสนุนและช่วยเหลือจากภายนอก เหมือนกับสงครามอเมริกันในอิรักและอัฟกานิสถาน