X

1 ปี กกต. “เสือกระดาษ” ใบแดงปลิว 3 ใบ

วันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ถือเป็นวันครบรอบ 1 ปี การเลือกตั้ง สส.ทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 โดยในช่วง 1 ปีที่ผ่านมาการเมืองไทยมีเรื่องเกิดขึ้นมากมาย แต่ขณะเดียวกันวันที่ 14 พฤษภาคม 2567 ยังเป็นวันสำคัญ เพราะเป็นวัน ครบรอบ 1 ปีที่กฎหมายเลือกตั้งให้เวลา กกต. สามารถตรวจสอบ ส.ส. ได้ต่อเป็นระยะเวลา 1 ปีนับแต่วันเลือกตั้ง หากมีหลักฐานที่เชื่อได้ว่า “ว่าที่ ส.ส.” คนใด ได้รับเลือกตั้งมาโดยไม่สุจริต แต่อย่างไรก็ตามในรัฐธรรมนูญฉบับใหม่สามารถให้สิทธิ กกต.สามารถสอยบรรดาผู้สมัคร และ สส.ได้ต่อไปโดยไม่มีระยะเวลากำหนด

ทั้งนี้จากข้อมูลของ กกต.ที่แถลงอย่างเป็นทางการในเดือน พ.ย. 2566 หลังจากการเลือกตั้งผ่านไป 6 เดือนพบว่า การเลือกตั้งครั้งที่ผ่านมามีคำร้อง ความปรากฏข้อมูลเบาะแส จำนวน 365 เรื่อง แบ่งเป็น คำร้อง 283 เรื่อง ความปรากฏ 41 เรื่อง ข้อมูลเบาะแส 41 เรื่อง ดำเนินการเสร็จแล้ว 288 เรื่อง แยกเป็นการพิจารณา คำร้อง 240 เรื่อง สั่งไม่รับ 159 เรื่อง สั่งยุติเรื่อง 81 เรื่อง ส่วนการวินิจฉัยชี้ขาด 48 สำนวน ยกคำร้อง 43 สำนวน ดำเนินคดีอาญา 3 สำนวน ยื่นคำร้องต่อศาล 2 สำนวน และอยู่ระหว่างดำเนินการ 77 เรื่อง ซึ่งเรื่องนี้ทำให้กกต.ถูกโจมตีอย่างหนักว่ามีเรื่องร้องเรียนมากมายแต่กลับปล่อยผีทำตัวเกียร์ว่างโดยไม่ลงลงโทษผู้ที่ถูกร้องเรียนแม้แต่คนเดียว โดยตั้งแต่วันนั้นมาจนถึงระยะเวลาเวลา 1 ปี พบว่า กกต. ดำเนินการตรวจสอบการทุจริตการเลือกตั้งโดยแจกใบแดงแก่ผู้สมัคร และ สส. เพียง 3 คนเท่านั้น โดยเป็นผู้สมัครจากพรรคประชาธิปัตย์ 1 คน และเป็น สส.จากพรรคภูมิใจไทยอีก 2 คน ดังนี้

16 พ.ย. 2566 กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) ของ น.ส.เกศกานดา อินช่วย ผู้สมัคร สส.เขต 16 กทม. พรรคประชาธิปัตย์ โดยมีพฤติการณ์ความผิด ระหว่างวันที่ 17-19 เม.ย. 66 น.ส.เกศกานดา และพวกกระทำการจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่ น.ส.เกศกานดา โดยสัญญาจะให้เงินคนละ 500 บาท เหตุเกิดที่หมู่บ้านแห่งหนึ่ง ซ.หทัยราษฎร์ ถ.หทัยราษฎร์ แขวงบางชัน เขตคลองสามวา กรุงเทพมหานคร โดยถือเป็นการแจกใบแดงใบแรกหลังจากการเลือกตั้งวันที่ 14 พฤษภาคม 2566 ผ่านมา 6 เดือน

26 ธันวาคม 2566 กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) นางมุกดาวรรณ เลื่องสีนิล สส. นครศรีธรรมราช เขต 8 พรรคภูมิใจไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 พร้อมสั่งให้รับผิดค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ตามมาตรา 139 รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญา โดยนางมุกดาวรรณมีพฤติการณ์ถูกร้องคัดค้านเรื่องการแจกเงินไปลงคะแนนให้ตัวเองหัวละ 500 บาท รวมเป็นเงิน 25,000 บาท และเรื่องการแจกเงินให้ไปฟังการปราศรัย โดยการกระทำดังกล่าวถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง สส.นครศรีธรรมราช เขตเลือกตั้งที่ 8 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนางมุกดาวรรณ มิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

13 พฤษภาคม 2567 กกต.มีมติให้ยื่นคำร้องต่อศาลฎีกา เพื่อสั่งให้เพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง (ใบดำ) หรือเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง (ใบแดง) นายสุวรรณา กุมภิโร ส.ส.บึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 พรรคภูมิใจไทย และสั่งให้มีการเลือกตั้งใหม่แทนตำแหน่งที่ว่าง ตามพ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง สส. 2561 พร้อมสั่งให้รับผิดค่าใช้จ่ายสำหรับจัดการเลือกตั้งครั้งที่เป็นเหตุให้ศาลฎีกามีคำสั่งดังกล่าว ตามมาตรา 139 รวมทั้งให้ดำเนินคดีอาญา โดยนายสุวรรณา มีพฤติการณ์ และหลักฐานอันควรเชื่อได้ว่า ในวันที่ 16 เมษายน 2566 นายสุวรรณา สนับสนุน หรือรู้เห็นเป็นใจให้มีการนำรถแห่ติดตั้งเครื่องเสียง เครื่องดนตรี และเวทีเคลื่อนที่ ไปช่วยในงานบุญตบประทาย หรืองานบุญก่อเจดีย์ทรายวัดจอมมณีธร ต.หนองทุ่ม อ.เซกา จ.บึงกาฬ โดยเปิดดนตรีโฆษณาหาเสียงเลือกตั้งของนายสุวรรณา มีเนื้อเพลงประกอบดนตรีว่า “นายกหม่ำ เบอร์ 10 เบอร์ 10” อันเป็นการโฆษณาหาเสียงเลือกตั้ง ด้วยการจัดให้มีมหรสพ หรือการรื่นเริงต่าง ๆ เพื่อจูงใจให้ผู้มีสิทธิเลือกตั้งลงคะแนนให้แก่นายสุวรรณา ถือเป็นการฝ่าฝืนกฎหมายเลือกตั้ง เป็นเหตุให้ผลการเลือกตั้ง สส.บึงกาฬ เขตเลือกตั้งที่ 2 ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับนายสุวรรณา มิได้เป็นไปโดยสุจริต และเที่ยงธรรม

นี่คือผลงานและบทบาทของ กกต. ในการตรวจสอบเรื่องทุจริตเลือกตั้งตลอด 1 ปีเต็มที่ถูกกล่าวหามาตลอดว่าเป็น กกต.เสือกระดาษตลอดมา

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น