Top news รายงาน วันที่ 17 พ.ค.67 ที่กระทรวงยุติธรรม ถนนแจ้งวัฒนะ กทม. นายสหการณ์ เพ็ชรนรินทร์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ กล่าวว่า จากขั้นตอนที่ได้รับรายงานมานั้น ขั้นตอนแรกพบว่าบุ้งและตะวันตื่นตั้งแต่เวลาประมาณ 03.00 น. และมีการพูดคุยกันจากนั้นตะวันไปเข้าห้องน้ำ แล้วกลับมาถามบุ้งที่ขณะนั้นนอนอยู่ที่เตียงผู้ป่วยว่ายังปวดท้องอยู่หรือไม่ และเจ้าหน้าที่ได้เข้ามาตรวจสภาพร่างกายตามปกติทุกวันทั้งการตรวจวัดความดัน ออกซิเจน การเต้นของหัวใจ ตรวจเสร็จแล้วก็มาตรวจตะวันต่อ หลังจากนั้นประมาณ 1 นาที หรือเวลาประมาณ 06.00 น. บุ้งได้ลุกขึ้นนั่ง และปรากฏว่ามีอาการวูบ จากนั้นเจ้าหน้าที่ อาสาสมัครสาธารณสุขเรือนจำ (อสรจ.)จำนวน 4 คน ก็ได้ยกบุ้งทั้งที่นอนไปรักษาที่ห้องไอซียู และทำCPR มีการตรวจวัดชีพจร ให้กลูโคลส ฉีดอะดรีนารีนเพื่อกระตุ้นหัวใจโดยมีแพทย์เป็นผู้ฉีด มีการทำCPR ตลอดเวลาต่อเนื่องจนกระทั่งนำตัวส่งแพทย์ที่โรงพยาบาลธรรมศาสตร์ ระหว่างนั้นมีการประเมินสภาวะร่างกายโดยการจับชีพจรแต่ไม่สามารถจับสัญญาณการเต้นของหัวใจได้ แต่สัญญาณชีพที่ตรวจวัดได้ครั้งสุดท้ายคือ 90 ครั้ง/นาที จนกระทั่งเวลาประมาณ 11.00 น. ทางโรงพยาบาลธรรมศาสตร์จึงแจ้งว่า เสียชีวิตอย่างสงบ
ส่วนกรณีที่มีการตั้งข้อสงสัยว่า บุ้ง ได้เสียชีวิตระหว่างนำตัวส่งโรงพยาบาลธรรมศาสตร์หรือไม่นั้น นายสหการกล่าว ว่าจะต้องไปตรวจสอบเพิ่มเติมแต่คิดว่าอยู่ระหว่างการยื้อชีวิตให้ได้มากที่สุด แต่ไม่ได้บอกว่าสิ้นชีพไปแล้ว ยืนยันว่าไม่ได้ส่งตัวช้าเพราะหลังเกิดเหตุได้ประสานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์โดยทันที แต่ระหว่างนั้นมีขั้นตอนที่ต้องดำเนินการหลายอย่าง ย้ำว่าได้พยายามสุดความสามารถแล้ว แต่เนื่องจากเหตุการณ์ครั้งนี้เกิดขึ้นอย่างฉับพลัน และไม่มีอาการที่บ่งชี้มาก่อนว่าจะเกิดภาวะฉุกเฉินที่ส่งผลต่อชีวิต ซึ่งได้ตรวจสอบรายงานทางการแพทย์มาแล้วทุกอย่างเป็นไปตามมาตรฐานทางการแพทย์ ห้องกู้ชีพของทัณฑสถานและการรักษาของทัณฑสถานโรงพยาบาลราชทัณฑ์มีความพร้อมในระดับมาตรฐานของสถานพยาบาลชั้นทุติยภูมิโดยทั่วไป แต่หลังจากนี้จะต้องมีการตรวจสอบว่ามีสาร และอุปกรณ์ที่จำเป็นต่อการกู้ชีพเพียงพอหรือไม่