ในการกล่าวสุนทรพจน์หลังสาบานตนในวันจันทร์ (20 พ.ค.) ประธานาธิบดีไล่ ชิง เต๋อ กล่าวว่า ยุคแห่งความรุ่งเรืองของประชาธิปไตยไต้หวัน มาถึงแล้ว พร้อมกล่าวแสดงความขอบคุณประชาชน ที่ไม่ยอมหวั่นไหวจากกองกำลังภายนอก แต่เลือกยืนหยัดปกป้องประชาธิปไตย
ผู้นำไต้หวัน ให้คำมั่นว่า รัฐบาลของเขาจะไม่ยอมจำนน และไม่ยั่วยุ จะรักษาสถานภาพที่เป็นอยู่ ซึ่งหมายถึงความสมดุลในการรักษาอธิปไตยไต้หวัน และไม่ประกาศเอกราชอย่างเป็นทางการ พร้อมกับเรียกร้องให้จีน ยุติการคุกคามข่มขู่ทางทหารและการเมืองต่อไต้หวัน ขอให้รัฐบาลปักกิ่ง แชร์ความรับผิดชอบต่อประชาคมโลกกับไต้หวัน ร่วมกันรักษาเสถียรภาพและสันติภาพในช่องแคบไต้หวัน ให้หลักประกันว่า โลกนี้จะปลอดจากความหวาดกลัวสงคราม
ในสายตาของปักกิ่ง ไล่ ชิง เต๋อ เป็นนักแบ่งแยกดินแดนอันตราย จากความเห็นเรื่องเอกราชไต้หวันในอดีต แม้เขาปรับท่าทีเป็นสายกลางแล้วในช่วงสองสามปีให้หลัง
รัฐบาลปักกิ่งยังไม่มีความเห็นเรื่องถ้อยแถลงของผู้นำไต้หวัน แต่วันเดียวกัน สื่อทางการ รายงานว่า จีนออกมาตรการแซงชั่นบริษัทสหรัฐ 3 แห่ง ฐานขายอาวุธให้กับไต้หวัน และก่อนหน้าวันสาบานตน จีนส่งเครื่องบินกับเรือรบเข้าใกล้ไต้หวันเกือบทุกวัน ขณะสำนักงานกิจการไต้หวันของจีน ระบุว่า เอกราชไต้หวัน และสันติภาพในช่องแคบ เหมือนน้ำกับน้ำมัน
เป็นที่คาดว่า ผู้นำใหม่ไต้หวันจะเพิ่มงบประมาณทหาร และกระชับสัมพันธ์แน่นแฟ้นกับสหรัฐ ในช่วง 4 ปีต่อจากนี้ เพื่อพยายามป้องปรามจีนบุกเกาะไต้หวัน ที่จีนถือเป็นส่วนหนึ่งของดินแดน
พิธีสาบานตนและการแสดงเฉลิมฉลอง จัดขึ้นที่ทำเนียบประธานาธิบดี ในกรุงไทเป โดยรองประธานาธิบดีหญิง เซียว บี คิม ทำพิธีสาบานตนด้วย ประมุขจาก 8 ประเทศ และตัวแทนจากประเทศต่างๆ 51 คน รวมถึงสหรัฐ ญี่ปุ่นและแคนาดา เข้าร่วมเป็นสักขีพยานและเพื่อแสดงความสนับสนุนประชาธิปไตยไต้หวัน
ปัจจุบัน มีเพียง 12 ประเทศเท่านั้น ที่รับรองไต้หวันอย่างเป็นทางการ ส่วนสหรัฐหันไปรับรองจีนในปี 2522 แต่ยังคงเป็นพันธมิตรสำคัญที่สุดและเป็นผู้จัดหาอาวุธรายใหญ่สุดของไต้หวัน
สิ่งท้าทายในบ้านประการหนึ่งสำหรับประธานาธิบดีไล่ คือการที่พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า หรือ DPP ของเขา สูญเสียเสียงส่วนใหญ่ในสภาผู้แทนราษฎรในการเลือกตั้งเมื่อเดือนมกราคม ทำให้เขาอาจประสบปัญหาในการผลักดันนโยบายต่าง ๆ