กสทช.สุดวุ่น “กมธ.วุฒิ-สภาผู้บริโภค” ชี้ “นพ.สรณ” ขาดคุณสมบัตินั่งประธาน

กสทช.สุดวุ่น "กมธ.วุฒิ-สภาผู้บริโภค" ชี้ "นพ.สรณ" ขาดคุณสมบัตินั่งประธาน

กสทช.สุดวุ่น “กมธ.วุฒิ-สภาผู้บริโภค” ชี้ “นพ.สรณ” ขาดคุณสมบัตินั่งประธาน

ถือเป็นประเด็นใหญ่ ที่เกิดขึ้นในหน่วยงานสำคัญอย่าง สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ หรือ กสทช. และเป็นความขัดแย้งอย่างหนักระหว่าง ประธานกสทช. คณะกรรมการกสทช. รวมถึง รองเลขาธิการ กสทช.ถึงขั้นยื่นคำร้อง วุฒิสภาขอให้มีการตรวจสอบข้อกฎหมาย

หลังจากเมื่อวันที่ 28 ก.ย. 2566 ดร.ภูมิสิษฐ์ มหาเวสน์ศิริ รองเลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ได้ทำหนังสือร้องประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้ตรวจสอบคุณสมบัติ ศ.คลินิก นพ. สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธานกรรมการ กสทช. ว่า มีลักษณะต้องห้าม ตามมาตรา 7ข (12) และกระทำการอันเป็นการฝ่าฝืน ตามมาตรา 8 และมาตรา 18 รวมทั้งมิได้ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา ตามมาตรา 26 แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 และที่แก้ไขเพิ่มเติมหรือไม่

นพ.สรณ

ข่าวที่น่าสนใจ

พร้อมทั้งยื่นหลักฐานเอกสาร ประกอบการพิจารณา แสดงใจความสำคัญว่า รายงานประจำปีของธนาคารกรุงเทพ (BBL) เมื่อเดือน มี.ค. 2565 แสดงรายชื่อกรรมการของบริษัท มีชื่อ นายแพทย์ สรณ นั่งเป็นกรรมการ ทั้ง ๆ ที่เป็น นายแพทย์สรณ ได้รับคัดเลือกจากวุฒิสภาให้เป็นกรรมการ กสทช. ตั้งแต่เมื่อวันที่ 20 ธ.ค.2564

อีกทั้งจากการตรวจสอบพบว่า นายแพทย์ สรณ เป็นกรรมการ BBL ตั้งแต่ 26 ส.ค.2562 และมีข้อมูลลาออก เมื่อวันที่ 14 ม.ค.2565 แต่โดยหลักเกณฑ์ ผู้ได้รับคัดเลือกจาก สว.ให้เป็นประธาน กสทช.จะต้องลาออกจากตำแหน่งอื่นก่อน ไม่เกิน 15 วัน ตามที่กฎหมายกำหนด อีกทั้งต่อมา นายแพทย์ สรณ ยังได้รับการเสนอชื่อในที่ประชุมผู้ถือหุ้นสามัญประจำปี BBL ครั้งที่ 29 วันที่ 12 เม.ย.2565 ให้กลับเป็นกรรมการ BBL อีกครั้ง ตลอดจนขณะดำรงตำแหน่งประธานกสทช. ยังมีชื่อ นายแพทย์ สรณ เป็นแพทย์สาขาวิชาโรคหัวใจ คณะแพทย์ศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี อีกด้วย

 

ต่อมา คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา ซึ่งมี พล.อ.อนันตพร กาญจนรัตน์ ประธาน กมธ. ได้มีการประชุมครั้งที่ 42/2566 เมื่อวันที่ 12 ธ.ค.66 มีมติรับเรื่องดังกล่าวไว้พิจารณา พร้อมมอบหมายคณะอนุกรรมาธิการพิจารณากฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร และการโทรคมนาคม ดำเนินการแสวงหาข้อเท็จจริง รวบรวมข้อมูลเบื้องต้น โดยมีกรอบระยะเวลาดำเนินการภายใน 60 วัน

 

ล่าสุด “ท็อปนิวส์” ตรวจสอบเพิ่มเติมความคืบหน้ากรณีดังกล่าว พบว่า ว่า เมื่อวันทื่ 7 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา ดร.ภูมิศิษฐ์ ได้ทำหนังสือ ถึง นายพรเพชร วิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อสอบถามความคืบหน้าการตรวจสอบคุณสมบัติของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ประธาน กสทช. เพื่อเร่งรัดให้ประธานวุฒิสภา ส่งผลพิจารณาตรวจสอบการขาดคุณสมบัติของ นพ.สรณ ไปยัง นายกรัฐมนตรีโดยเร็วที่สุด

รวมถึงส่งผลการพิจารณาดังกล่าวให้กับสำนักงาน กสทช. ซึ่งเป็นหน่วยงานสังกัดโดยตรง เนื่องจากเป็นผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากการปฏิบัติหน้าที่ของ ประธาน กสทช. ที่ขาดคุณสมบัติในการเป็น กสทช. ตั้งแต่แรกเริ่ม

หลังจาก เมื่อวันที่ 7 พ.ค. 2567 คณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา (กมธ.) ได้มีมติเกี่ยวกับการตรวจสอบคุณสมบัติ นพ.สรณ ออกมาแล้ว โดยชี้ว่า นพ.สรณ เป็นแพทย์ตรวจรักษาที่โรงพยาบาลรามาธิบดี และเห็นว่า ความสัมพันธ์ระหว่าง นพ.สรณ กับโรงพยาบาลรามาธิบดี มีลักษณะเป็น “พนักงานหรือลูกจ้าง” จึงถือว่ามีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย

ซึ่งตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ กำหนดกรรมการต้องมีคุณสมบัติและไม่มีลักษณะต้องห้าม โดยต้องไม่เป็นหรือเคยเป็นกรรมการ ผู้จัดการ ผู้บริหาร ที่ปรึกษา พนักงาน ผู้ถือหุ้น หรือหุ้นส่วน ในบริษัทหรือห้างหุ้นส่วนหรือนิติบุคคลอื่นใดบรรดาที่ประกอบธุรกิจด้านกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ หรือกิจการโทรคมนาคม ในระยะเวลา 1 ปี ก่อนได้รับการคัดเลือก และต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ รัฐวิสาหกิจหรือ ราชการส่วนท้องถิ่นและไม่เป็นกรรมการหรือที่ปรึกษาของรัฐวิสาหกิจหรือ หน่วยงานของรัฐ รวมถึงระบุให้ประธานกรรมการ รองประธานกรรมการ และกรรมการ ปฏิบัติหน้าที่เต็มเวลา

และเมื่อวันที่ 27 พ.ค. 2567 กมธ.ไอซีที ได้ส่งรายงานผลการพิจารณาและลงมติสรุปว่า นพ.สรณ เป็นผู้ที่ขาดคุณสมบัติและมีลักษณะต้องห้ามตามกฎหมาย ตามพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ. 2553 มาตรา 7 ข. (12) มาตรา 8 มาตรา 18 มาตรา 20 และมาตรา 26 ไปยังประธานวุฒิสภาแล้ว เพื่อให้ประธานวุฒิสภานำเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูล เพื่อมีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยหน้าที่และอำนาจตามกฎหมาย แต่กลับไม่มีการดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แต่อย่างใด

 

ขณะที่ข้อมูลของ “สภาองค์กรของผู้บริโภค” ระบุว่า ตาม พ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 มาตรา 8 (2) ระบุว่า “ต้องไม่เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานของรัฐ… และผู้ที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช. ต้องแสดงหลักฐานว่าได้ลาออกจากการเป็นลูกจ้างหรือพนักงานของหน่วยงานรัฐ ภายใน 15 วัน ตามมาตรา 18 ของ พ.ร.บ. กสทช.

ดังนั้นกรณีของ นพ.สรณ ที่ได้รับการคัดเลือกเลือกเป็นกรรมการ กสทช.เมื่อ วันที่ 20 ธ.ค. 2564 หากนับระยะเวลา 15 วัน จะครบกำหนดวันที่ 4 ม.ค. 2565 นพ.สรณ จึงควรจะมีหลักฐานที่แสดงว่าได้ลาออกภายในวันดังกล่าวแล้วหรือไ ม่ แต่หลักฐานแสดงออกมาว่านพ.สรณ ได้ลาออกวันที่ 8 ม.ค. 2565 ซึ่งประเด็นนี้หากมีการตีความและนับวันหยุดเข้าไปด้วยอาจจะสามารถตีความเป็นวันที่ดังกล่าวได้เช่นเดียวกัน ทั้งนี้ หากการแสดงหลักฐานการลาออกไม่เป็นไปตามกฎหมายในมาตรา 18 ถือว่าไม่เคยได้รับเลือกให้เป็นกรรมการมาตั้งแต่แรก ทำให้ขั้นตอนอาจไม่ชอบด้วยกฎหมายก่อนที่จะโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่งกรรมการ กสทช.

 

ส่วนประเด็นการเป็นแพทย์ค่าตอบแทนรายชั่วโมงของ นพ.สรณ นั้นถือว่า นพ.สรณ เป็นลูกจ้างของมหาวิทยาลัยมหิดลใช่หรือไม่นั้น พจนานุกรมฉบับราชบัณฑิตยสถาน พ.ศ. 2542 ให้ความหมายของคำว่าลูกจ้างว่า “ผู้รับจ้างทำการงานผู้ซึ่งตกลงทำงานให้นายจ้างโดยได้รับค่าจ้าง ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร โดยมิคำนึงถึงว่าจะมีการทำสัญญาจ้างเป็นลายลักษณ์อักษรหรือไม่ หรือได้รับค่าตอบแทนเป็นค่าจ้าง สินจ้าง หรือค่าตอบแทนในลักษณะที่เป็นทรัพย์สินอย่างอื่น”

นอกจากนี้สภาองค์กรของผู้บริโภค ยังออกหนังสือเรียกร้องให้สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ดำเนินการเรียกหลักฐานจากมหาวิทยาลัยมหิดล ที่แสดงถึงสถานะการเป็น “ลูกจ้างรายชั่วโมง” ที่ได้รับผลตอบแทนของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ก่อนและหลังการได้รับการสรรหาเป็นกรรมการ กสทช. ซึ่งเป็นคุณสมบัติต้องห้ามตามมาตรา 8 (2) ของ พ.ร.บ. องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุ โทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 เพื่อนำเสนอต่อนายกรัฐมนตรีดำเนินการเพื่อยุติหน้าที่ของนพ.สรณ หยุดปฏิบัติหน้าที่ในฐานะกรรมการและประธานกรรมการ กสทช. โดยทันที

 

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 11 มิ.ย. 2567 ที่ผ่านมา มีรายงานข่าวว่า นพ.สรณ ได้ทำหนังสือถึง นายพรเพชร พิชิตชลชัย ประธานวุฒิสภา เพื่อขอให้พิจารณายับยั้งและตรวจสอบ การใช้อำนาจของประธานกรรมาธิการและคณะกรรมาธิการการเทคโนโลยีสารสนเทศ การสื่อสาร และการโทรคมนาคม วุฒิสภา โดยให้เหตุผลว่า กมธ.ไม่มีอำนาจทางกฎหมายในการตรวจสอบคุณสมบัติบุคคล มีลักษณะปฏิบัติหน้าที่เสมือนเป็นศาล หรือเจ้าพนักงานตามประมวลกฎหมายอาญา พร้อมตั้งข้อสังเกตว่า การดำเนินการครั้งนี้เป็นไปด้วยอคติและไม่มีความบริสุทธิ์ยุติธรรม

“กมธ.สรุปเอาเองโดยไม่มีอำนาจหน้าที่แล้วเสนอให้ประธานวุฒิสภา นำกราบเรียนต่อนายกรัฐมนตรี ให้นำความกราบบังคมทูลเพื่อให้มีพระบรมราชโองการให้พ้นจากตำแหน่ง โดยไม่มีกระบวนการตรวจสอบตามขั้นตอนอย่างถูกต้องตามกฎหมาย และจะเป็นการนำความเท็จขึ้นกราบบังคมทูล อันจะก่อให้เกิดความเสียหายร้ายแรงจนมิอาจจะแก้ไขได้”

 

นพ.สรณ ในฐานะประธาน กสทช. ยืนยันด้วยว่า เมื่อพิจารณาข้อบังคับการประชุมวุฒิสภา พ.ศ.2562 ข้อ 78 วรรคสอง (17) ที่กำหนดอำนาจและหน้าที่ กมธ.แล้ว ไม่ได้กำหนดเรื่องการตรวจสอบบุคคลหรือคุณสมบัติของบุคคลแต่ประการใด ดังนั้น การรับเรื่องจาก ผศ.ดร.ภูมิศิษฐ์ จึงเป็นการจงใจขยายอำนาจหน้าที่ตนเอง และก้าวล่วงอำนาจหน้าที่ของกมธ.วิสามัญกิจการวุฒิสภา

ส่วนในประเด็นที่อ้างว่า นพ.สรณ ยังคงประกอบวิชาชีพแพทย์ที่ รพ.รามาธิบดีนั้น ข้อเท็จจริงคือ ศาสตราจารย์คลินิก นพ.สรณ ไม่มีสถานะเป็นพนักงานหรือลูกจ้างของโรงพยาบาลรามาฯ ตั้งแต่วันที่เข้ารับตำแหน่ง กสทช. นอกจากนี้ ยังได้ประกาศลาออกจากทุกตำแหน่งและเลิกประกอบอาชีพหรือวิชาชีพอิสระอื่นที่มีส่วนได้เสียหรือมีประโยชน์ขัดแย้งไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมกับการปฏิบัติหน้าที่กสทช.

ประธานกสทช. ยังชี้แจงกรณีที่รายงานของ กมธ.อ้างว่า ได้ยินยอมให้แต่งตั้งเป็นกรรมการธนาคารกรุงเทพ ทั้งที่ความจริงคือได้ปฏิเสธการรับตำแหน่งและไม่เคยปฏิบัติงานเป็นกรรมการของธนาคารกรุงเทพแต่อย่างใด แต่ กมธ.จงใจที่จะบิดเบือนสรุปกล่าวหาว่ากระทำผิดฝ่าฝืนมาตรา 18 ขององค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ฯ พ.ศ.2553 ซึ่งความจริงแล้วตำแหน่งกรรมการธนาคารก็ไม่อยู่ในเงื่อนไขต้องห้ามของกฎหมายอีกด้วย ดังนั้น จึงเห็นถึงเจตนาที่ไม่สุจริต มีอคติ บิดเบือนเพื่อยัดเยียดความผิดให้ประธาน กสทช.อย่างชัดเจน

และจนถึงขณะนี้ประเด็นปัญหา สถานะประธานกสทช. ของ นพ.สรณ บุญใบชัยพฤกษ์ ยังคงมีรายละเอียดให้ต้องพิจารณาดำเนินการว่าจะจบอย่างไร เพื่อทำให้การบริหารจัดการภายในกสทช.เป็นไปโดยความถูกต้องตามกระบวนการกฎหมาย และเนื่องจากภายในกสทช.ยังมีปมขัดแย้งระหว่าง ประธานกสทช. และ กรรมการกสทช. รวมถึงกับ ดร.ภูมิสิษฐ์ อีกหลายกรณี ท็อปนิวส์จึงจะได้นำรายละเอียดมาขยายความในโอกาสต่อไป เพื่อให้เกิดการแก้ดำเนินการแก้ไขภาพลักษณ์ที่เกิดขึ้นกับกสทช.โดยเร่งด่วน

 

ข่าวที่เกี่ยวข้อง

ข่าวล่าสุด

“เอกภพ” ได้ประกันตัว ปฏิเสธทุกข้อกล่าวหา ปมให้ข้อมูลเท็จดิไอคอน จ่อฟ้องกลับ
สามเชฟดังร่วมรังสรรค์เมนูเพื่อการกุศลทางการแพทย์
"ทนายบอสพอล" เผยเป็นไปตามคาด "เอก สายไหม" ถูกจับ จ่อดำเนินคดีหมิ่นประมาท เรียกค่าเสียหาย 100 ล้าน
ศาลออกหมายจับ 'เจ๊หนิง' พร้อมสามีและหลาน ร่วมกันแจ้งความเท็จ 'ภรรยาบิ๊กโจ๊ก'
อิสราเอลถล่มเลบานอนดับครึ่งร้อย
หมายจับ ICC กระทบอิสราเอลอย่างไร
เปิดวิสัยทัศน์ประธานเครือข่ายธุรกิจ Bizclub นครราชสีมาคนใหม่ “กิม ฐิติพรรณ จันทร์ประทักษ์”
เกาหลีใต้ชี้รัสเซียส่งระบบป้องกันภัยทางอากาศให้เกาหลีเหนือ
สหรัฐเมินไฮเปอร์โซนิครัสเซียลั่นไม่หยุดหนุนยูเครน
เมียเอเย่นต์ค้ายาบ้า ร้องถูกตร.รีด 5 แสน แลกปล่อยตัว พ่วงเรียกเก็บเงินรายเดือน

ดู LIVE รายการ

X

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น