“จุลพันธ์-เผ่าภูมิ”ผนึกเสียงโต้ฝ่ายค้าน วิจารณ์แจกเงินดิจิทัลพูดไม่ตรงจริง ยันรัฐจำเป็นคิดนอกกรอบ เหตุปท.ต้องการแรงกระตุ้นศก. – Top News รายงาน
เมื่อวันที่ 19 มิถุนายน 2567 ที่รัฐสภา ในการประชุมสภาผู้แทนราษฎรครั้งที่สอง สมัยวิสามัญเป็นพิเศษ เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) งบประมาณรายจ่ายประจำปีงบประมาณ 2568 นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง อภิปรายชี้แจง ว่า ตนเองติดตามประเด็น และรวบรวมบางส่วน ซึ่งจะหนักวาทกรรม แต่ก็รับได้ และนำไปแก้ไขปรับปรุงในจุดที่สามารถปรับแก้ได้ และสุดท้ายเป็นอำนาจหน้าที่ของสมาชิกแห่งนี้ ในการตั้งคณะกรรมธิการในการพิจารณาการปรับ ลดหรือเพิ่มในส่วนที่มีความเหมาะสม และจำเป็น เป็นสิทธิอันชอบของสภาแห่งนี้
นายจุลพันธ์ อภิปรายต่อว่า ตนเองได้มีการดูแลภารกิจโครงการเติมเงิน 10,000 บาท ผ่านดิจิทัล วอลเล็ต บางวาทกรรมอาจดูหนักไป ทั้งการคิดไปทำไป หรือเสียหน้าไม่ได้ ซึ่งเนื้อหาการเดินหน้าของโครงการไม่เป็นอย่างที่ท่านพูดมา เรื่องเสียหน้าไม่มีอยู่แล้ว วันนี้รัฐบาลนี้ไม่ใช่รัฐบาลของพรรคการเมืองใดพรรคการเมืองหนึ่ง แต่เป็นรัฐบาลของประชาชน ร่วมมือกันทำงาน มีความสม่ำเสมอกลมเกลียว และโครงการต่าง ๆ ก็เป็นที่เข้าใจ และตกลงร่วมกัน
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของมุมมองที่แตกต่างกันระหว่างผมกับท่านเท่านั้น ผมมองว่ากระบวนการในการสร้างการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ เพื่อให้มีเม็ดเงินเพียงพอในการแบ่งสันปันส่วน ระหว่างประชาชนจากการเจริญเติบโต สามารถทำได้ และควรต้องทำก่อน วันนี้เศรษฐกิจเติบโตอยู่ในระดับที่ต่ำ ไม่เป็นไปตามศักยภาพ ซึ่งเป็นมุมมองที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน รัฐบาลนี้เน้นเรื่องการกระตุ้นเศรษฐกิจ ต้องการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าไปในระบบเศรษฐกิจ เพื่อเติมน้ำในบ่อ ให้คนไทยหายใจหาคอได้ สามารถมีกำลังต่อยอด การบริโภค การลงทุน สำหรับอาชีพของเขา” นายจุลพันธ์ กล่าว
นายจุลพันธ์ กล่าวว่า เช่นเดียวกับคำว่า คิดไปทำไป ซึ่งต้องยอมรับความจริงว่า เรารับมรดกมาจากรัฐบาลก่อนหน้าด้วยสภาพเศรษฐกิจที่เป็นอยู่ ซึ่งนายพิชัย ชุณหวชิร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จะขึ้นมาอธิบายว่าสถานการณ์เศรษฐกิจปัจจุบันเป็นอย่างไร เรารับมรดกมาไม่ว่าจะเป็นหนี้สาธารณะหนี้ครัวเรือน 90 กว่าเปอร์เซ็นต์ ทั้งหมดนี้มาถึงมือเรา และเรามีหน้าที่ในการบริหารจัดการหน้าต่อไป
ส่วนคำว่าคิดไปทำไป ก็แย้งกับคำว่า เสียหน้าไม่ได้ เพราะตนเองเป็นคนดำเนินโครงการมาตั้งแต่ต้น การปรับเปลี่ยนแต่ละครั้ง ก็โดนว่า ทั้งเรื่องเกณฑ์การลดจำนวนคน เป็นข้อเสนอจากหน่วยงาน ซึ่งเราต้องรับฟัง บางอย่างเราต้องถอยเพื่อเดินหน้าอย่างแข็งแกร่ง ซึ่งสวัสดิการของผู้สูงอายุก็ไม่พร้อมในขณะนี้ ยังไม่สามารถทำได้ทันที เช่นเดียวกัน เราเข้าใจในข้อจำกัดสถานการณ์ที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการให้เหมาะสมที่สุด เพื่อที่จะเดินหน้าโครงการแต่ละโครงการ โดยใช้เม็ดเงินอย่างประหยัด คุ้มค่า และเกิดประโยชน์สูงสุด