ผ่าเส้นทางเหล็ก "บิ๊กต่อ" โปรไฟล์ไม่เบาเติบโตแบบก้าวกระโดด ประสบการณ์โชกโชนบู๊บุ๋นครบเครื่อง เจ้าของฉายา “โรโบคอปสายบุญ” เกษียณ 30 ก.ย. 67 หากได้คืนเก้าอี้ "ผบ.ตร." ลงหลังเสืออย่างสวยงาม
ข่าวที่น่าสนใจ
ศึก2บิ๊กตำรวจต้องถึงมือ “อาจารย์วิษณุ” เข้ามาปิดจ็อบ
จากนั้นจึงแต่งตั้ง “บิ๊กต่าย” พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ เข้ามาเป็น ผบ.ตร. ขัดตาทัพไปพลางก่อน ระหว่างนี้จึงยืมมือคนนอกที่สังคมเชื่อถือศรัทธามาเป็นคณะกรรมการสอบสวนขึ้นตรง “นายกฯเศรษฐา” ประกอบด้วย “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” อดีตปลัดกระทรวงมหาดไทย เป็นประธาน ส่วนกรรมการ ได้แก่ พล.ต.อ.วินัย ทองสอง อดีตรองผบ.ตร.และ “ชาติพงษ์ จีระพันธุ์” อดีตรองอัยการสูงสุด ขีดเส้นตาย 60 วัน
แต่ดันปิดจ็อบไม่ลงขอต่อเวลาออกไปอีก 30 วัน
จนมาครบกำหนดเดทไลน์ ในวันที่ 19 มิถุนายนที่ผ่านมา แต่ระหว่างนี้ “นายกฯเศรษฐา” คว้าตัวที่ปรึกษาทางกฎหมายรัฐบาลคนใหม่ระดับเง็กเซียนฮ่องเต้แห่งวงการกฎหมายไทย นั้นคือ “วิษณุ เครืองาม” อดีตรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมายที่ทุกรัฐบาลต้องศิโรราบร้องขอให้มาช่วยงานเข้ามาดูแลปัญหานี้เป็นการเฉพาะ ถึงขนาด “ฉัตรชัย พรหมเลิศ” ในฐานะประธานชุดสอบข้อเท็จจริง ยังต้องหลีกทางให้ “อาจารย์วิษณุ” มหากูรูฝ่ายกฎหมายรัฐบาลเป็นคนแถลงข่าวปิดจ็อบศึก 2 บิ๊กตำรวจ
หากนับอายุราชการ “บิ๊กต่อ” จะเกษียณในวันที่ 30 กันยายนนี้ ดังนั้นถ้าได้หวนคืนเก้าอี้ “ผบ.ตร.” ถือว่าลงหลังเสืออย่างสวยงามโดยไม่โดนเสือกัด เจาะโปรไฟล์ “บิ๊กต่อ” ไม่ธรรมดา เกิดเมื่อวันที่ 27 มกราคม 2507 เป็นชาวจังหวัดเพชรบุรี จบการศึกษา ระดับมัธยมจากโรงเรียนโยธินบูรณะ ระดับปริญญาตรี คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นสิงห์แดง รุ่นที่ 38 และปริญญาโท ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต มหาวิทยาลัยศรีปทุม
เส้นทางสีกากี “บิ๊กต่อ” ติดยศไวราวติดเทอร์โบ
ก่อนเข้ารับราชการตำรวจเมื่อปี 2540 เคยผ่านประสบการณ์ทำงานกับบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งทำได้เพียงไม่กี่ปีก็ลาออกเพราะไม่ใช่แนวตัวเอง เพราะหัวใจใฝ่ฝันอยากเป็นตำรวจตั้งแต่วัยเด็ก จึงไปล่าฝัน ด้วยการเข้าอบรมหลักสูตรการฝึกอบรมผู้มีคุณวุฒิทางด้านนิติศาสตร์ รัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์ เพื่อบรรจุแต่งตั้งเป็นข้าราชการตำรวจชั้นสัญญาบัตร หรือ กอต. รุ่นที่ 4 ได้เข้ารับราชการตำรวจได้สมใจเมื่อปี 2540 ตำแหน่งแรกที่ได้รับเป็นถึง “รองสารวัตร” กองกำกับสายตรวจปฏิบัติการพิเศษ 191
ต่อมา 2 ปี ติดยศ “ร้อยตำรวจโท” เข้าเรียนที่โรงเรียนสืบสวนที่วิทยาลัยการตำรวจ และได้ดำรงตำแหน่งรองสารวัตร สังกัดกองปราบปราม เป็นหัวหน้าชุดสืบสวน แผนก 3 กอง 2 รถวิทยุ และรับราชการสังกัดกองปราบปรามเป็นเวลานานถึง 17 ปี จากนั้นได้ไปผงาดตำรวจท่องเที่ยว สังกัดกองกำกับการ 1
ก่อนย้ายไปกองกำกับการ 3 คุมเรื่องการปราบจลาจล ถัดมาได้คุมรถสายตรวจ กองกำกับการ 5 ในที่สุดได้ขึ้นแท่นเป็น รองผู้กำกับการปฏิบัติการพิเศษ หรือ หน่วยคอมมานโด ไม่หยุดเพียงเท่านั้น “บิ๊กต่อ” ไปฝึกวิทยายุทธในโรงเรียนผู้กำกับและได้เป็นผู้กำกับการกองปฏิบัติการพิเศษ กองปราบปราม ติดยศ พ.ต.อ. จนครบวาระของการเป็น ผู้กำกับคุมถวายความปลอดภัย
ไฮไลท์สุดก้าวขึ้นเป็น รองผู้บังคับการปราบปราม ก่อนได้รับตำแหน่งอันทรงเกียรติเป็น ผู้บังคับการตำรวจมหาดเล็กราชวัลลภรักษาพระองค์ 904 และไต่เต้ามาจนถึงตำแหน่ง รองผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง เป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง ผู้ช่วยผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ และรองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ
ทั้งนี้สื่อมวลชนตั้งฉายา “มือปราบสายธรรมะ” หรือ “โรโบคอปสายบุญ” เพราะมีภาพลักษณ์เป็นนายพลตำรวจที่ใช้หลักธรรมในการทำงานและเดินสายตระเวนปฏิบัติธรรมตามสถานที่สำคัญต่างๆจนเป็นภาพชินตา ในที่สุดความฝันก็เป็นจริงได้ขึ้นแท่นเป็น “ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ” ในวันที่ 27 กันยายน 2566 ในยุครัฐบาลเพื่อไทย ที่มี “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นประธาน ก.ตร.
นั้นคือเส้นทางเหล็ก “บิ๊กต่อ” ที่โรยด้วยกลีบกุหลาบก็ว่าได้ ก่อนจะมาสะดุดหัวทิ่ม ช่วงเปิดศึกกับ“บิ๊กโจ๊ก” ตัวเต็งชิงเก้าอี้ “ผบ.ตร.”เข้าตำราเสือ 2 ตัว ย่อมอยู่ถ้ำเดียวกันไม่ได้
หย่าศึก “บิ๊กต่อ-บิ๊กโจ๊ก” เพื่อรักษาองค์กรตำรวจคืนตำแหน่งทั้งคู่
ล่าสุดมีกระแสข่าวว่าได้กลับไปเป็น “ผบ.ตร” เป็นเอกสารหลุดแชร์ว่อนกันในโลกโซเซียล ระว่า ตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 106/2567 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2567 ให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. มาปฏิบัติราชการสำนักนายกรัฐมนตรี โดยไม่ขาดจากอัตราเงินเดือนทางสังกัดเดิม และให้ได้รับเงินเดือน เงินประจำตำแหน่ง เงินเพิ่มพิเศษ และสิทธิ ประโยชน์อื่นใดไม่ต่ำกว่าที่ได้รับอยู่เดิม โดยเบิกจ่ายจากสังกัดเดิม เพื่อให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติสามารถปฏิบัติหน้าที่อันเป็นภารกิจหลักและบริการประชาชนได้อย่างมีประปสิทธิภาพและรวดเร็ว และเพื่อประโยชน์แก่การตรวจสอบข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายตามคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 119/2567 ลงวันที่ 20 มี.ค. 2567 ทั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 20 มี.ค. 2567 เป็นต้นไป จนกว่าจะมีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นประการอื่นนั้น
โดยที่การตรวจสอบข้อเท็จจริงตามคำสั่งดังกล่าวเสร็จสิ้นและรายงานนายกรัฐมนตรีรับทราบแล้ว สรุปได้ข้อเท็จจริงพอจะดำเนินการตามกระบวนการปกติต่อไปได้ โดยส่งเรื่องไปให้สำนักงานตำรวจแห่งชาติดำเนินการตามอำนาจหน้าที่
ดังนั้น เพื่อให้ราชการตำรวจดำเนินการต่อไปโดยเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดองและรักษาองค์กรต่อไปได้ ตามที่มีคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 148/2567 ลงวันที่ 18 เม.ย. 2567 ให้ พล.ต.อ.สุรเชษฐ์ หักพาล รอง ผบ.ตร. กลับไปปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติอยู่ก่อนแล้ว จึงให้ พล.ต.อ.ต่อศักดิ์ สุขวิมล ผบ.ตร. กลับไปปฏิบัติราชการสำนักงานตำรวจแห่งชาติในตำแหน่งเดิม ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ข่าวที่เกี่ยวข้อง