X

อิสราเอล “หมายหัวฆ่า”ผิดกฎหมายหรือไม่

อิสราเอล “หมายหัวฆ่า”ผิดกฎหมายหรือไม่

การตามไล่ล่าสังหารศัตรูคนแล้วคนเล่าตลอดสงครามกาซ่าเกือบ 10 เดือน ไม่ใช่เรื่องใหม่สำหรับอิสราเอล ประเทศแรก ๆ ที่ใช้วิธีการนี้ปกป้องตัวเองและชำระแค้น ขณะในทางกฎหมายก็ไม่มีคำตอบชัดเจนว่าทำได้หรือไม่

อิสราเอลมีประวัติยาวนานในการตามปลิดชีพศัตรู ที่เรียกกันว่า การสังหารอย่างมีเป้าหมาย หรือ targeted killings อิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำฝ่ายการเมืองของฮามาส ที่สิ้นชีพคาเกสต์เฮาส์ในเตหะราน เมืองหลวงอิหร่าน ก็เข้าข่ายเป็นการฆ่าอย่างมีเป้าหมาย ที่ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายของคณะกรรมการกาชาดสากล นิยามว่า เป็น “การใช้กำลังถึงแก่ความตายโดยเจตนาและไตร่ตรองไว้ก่อน โดยรัฐ หรือกองกำลังติดอาวุธต่อบุคคลที่อยู่นอกการควบคุมของผู้กระทำ” หรือพูดง่ายๆ ก็คือ การลอบสังหารโดยรัฐ นอกกระบวนการศาล หรือนอกสมรภูมินั่นเอง

แม้ไม่มีใครยอมรับว่าอยู่เบื้องหลัง แต่มีแนวโน้มสูงว่าจะเป็นใครไปไม่ได้นอกจากอิสราเอล ที่กำลังทำสงครามกวาดล้างฮามาสในกาซา และมีประวัติการสังหารแบบหมายหัวมาอย่างยาวนาน เท่า ๆ กับประวัติการปฏิเสธอยู่เบื้องหลังเป็นส่วนใหญ่

กองทัพอิสราเอลยอมรับโจมตีในกรุงเบรุต สังหารผู้บัญชาการฮิซบอลเลาะห์ แต่การลอบสังหารฮานีเยห์ในกรุงเตหะราน พลเรือเอกแดเนียล ฮาการี โฆษกกองทัพอิสราเอล บอกว่า “ไม่มีการโจมตีทางอากาศเพิ่มเติม ไม่มีการยิงมิสไซล์ หรือส่งโดรนอิสราเอลทั่วตะวันออกกลางในคืนนั้น” ซึ่งก็ไม่ได้หมายถึงการปฏิเสธแบบสิ้นเชิง เพราะไปสอดคล้องกับรายงานข่าวที่ว่า การตายของผู้นำฮามาสในอิหร่าน เกิดจากระเบิดที่นำเข้าไปซ่อนไว้หลายเดือน ก่อนกดปุ่มสังหารระยะไกล

การโจมตีนอกดินแดน ที่ต้องอาศัยการวางแผนแยบยล ก่อความเสี่ยงการทูตและความมั่นคงระดับสูง และการตอบโต้ล้างแค้นตามมา ย่อมจะต้องผ่านความเห็นชอบในระดับสูงสุดของรัฐบาลอย่างนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีความมั่นคง

หนังสือเชิงวิชาการชื่อ การฆ่าแบบมีเป้าหมายในกฎหมายระหว่างประเทศ หรือ Targeted Killing in International Law เขียนโดย นิลส์ เมลเซอร์ ซึ่งปัจจุบันเป็นศาสตราจารย์กฎหมาย ระบุว่า อิสราเอลน่าจะเป็นประเทศแรกในโลก ที่ยอมรับว่ามีนโยบายฆ่าแบบหมายหัวในปี 2543 โดยมองว่าเป็นนโยบายจัดการกับผู้ก่อการร้ายที่ตรงจุด และใช้อย่างเปิดเผยในช่วงอินติฟาดะ หรือ การลุกฮือของชาวปาเลสไตน์เพื่อต่อสู้กับการยึดครองดินแดนของอิสราเอล ครั้งที่สอง ในปีเดียวกันนั้น

ในช่วงนั้น อิสราเอลใช้ ฮ.ติดอาวุธ และกับระเบิด สังหารคนในดินแดนปาเลสไตน์ที่อิสราเอลอ้างว่าเป็นผู้ก่อการร้ายหลายคน “บีซาเลม” องค์กรสิทธิมนุษยชนอิสราเอล ระบุว่าภายในปี 2550 มีคนที่อิสราเอลล็อกเป้า ถูกฆ่าตาย 210 ราย พร้อมกับคนที่ไม่รู้อิโหน่อิเหน่ไปด้วยอีก 129 ราย

แต่อิสราเอลไม่ใช่ประเทศเดียวที่ทำเช่นนี้ สหรัฐอเมริกา รัสเซีย สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมนีและอังกฤษ ล้วนมีประวัติลอบสังหารศัตรู และบางครั้งก็เข้าไปปฏิบัติการในประเทศอื่น นักวิชาการกฎหมายระบุว่า การลอบสังหารโดยรัฐ เพิ่มขึ้นหลังเหตุวินาศกรรม 2544 รายที่โลกจดจำได้มากที่สุดก็น่าจะเป็นการส่งหน่วยรบพิเศษตามเก็บ อุสมา บิน ลาเด็น ที่สหรัฐกล่าวหาว่าเป็นผู้บงการเหตุวินาศกรรม 9/111 ที่ปากีสถาน ในปี 2554 และยังมีส่งโดรนตามเก็บเป้าหมายอีกหลายครั้งในซีเรียและเลบานอน

ในปี 2557 เดร์ ชปีเกล นิตยสารการเมืองในเยอรมนี รายงานว่า กองทัพเยอรมันมีบทบาทสำคัญในการลอบสังหารสมาชิกตาลีบันในอัฟกานิสถาน

กลุ่มสิทธิมนุษยชนและปาเลสไตน์ พยายามขัดขวางการฆ่าแบบหมายหัว ด้วยการยื่นฟ้องต่อศาลในปี 2545 และศาลสูงอิสราเอลใช้เวลาถึง 5 ปีกว่าจะออกคำตัดสินว่า รัฐบาลใช้การโจมตีเพื่อป้องกัน เป็นเหตุให้ผู้ก่อการร้ายเสียชีวิต แต่หลายครั้งที่การโจมตี ทำให้พลเรือนผู้บริสุทธิ์ได้รับอันตรายไปด้วยนั้น ผิดกฎหมายหรือไม่ขึ้นแล้วแต่กรณี ศาลระบุว่า ไม่อาจตัดสินได้ล่วงหน้าว่า การฆ่าแบบหมายหัวทุกกรณี ผิดกฎหมายระหว่างประเทศ และไม่สามารถตัดสินล่วงหน้าได้เช่นกันว่า การฆ่าแบบหมายหัวทุกครั้ง สามารถทำได้ตามกฎหมายระหว่างประเทศ

ผู้เชี่ยวชาญกฎหมายบอกว่า การลอบสังหารแบบนี้มีกฎหมายรองรับหรือไม่ ขึ้นอยู่กับการใช้กรอบกฎหมายใดประเมิน กฎหมายในประเทศ กฎหมายสงครามบางฉบับ หรือกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ

ถ้าเป็นกฎหมายมนุษยธรรมระหว่างประเทศ ที่บังคับใช้ในยามสงครามนั้น ไฟเขียวให้ใช้ความรุนแรงในบางกรณีระหว่างสู้รบได้ แต่ถึงอย่างนั้น การฆ่าแบบมีเป้าหมาย ยังถูกตั้งคำถามได้ หากเหยื่อไม่ได้มีส่วนร่วมกับความเป็นศัตรูโดยตรงในห้วงเวลาที่ถูกฆ่าตาย ขณะที่กลุ่มสิทธิมนุษยชน แย้งว่า การฆ่าลักษณะนี้ ผิดกฎหมายทุกฉบับ และแสดงความวิตกว่า กำลังกลายเป็นเรื่องปกติ เพราะรัฐบาลมองว่าเป็นเครื่องมือที่มีประโยชน์

#บก.ข่าวทีวี #หมายหัวฆ่า #อิสราเอล #สงคราม #อิหร่าน #สหรัฐ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น