X

ไนจีเรีย เฝ้าระวังฝีดาษลิง ขั้นสุด

ไนจีเรีย เฝ้าระวังฝีดาษลิง ขั้นสุด

ไนจีเรีย เฝ้าระวังและเตือนภัยโรคฝีดาษลิงขั้นสูงสุด หลังตั้งแต่ต้นปีจนถึงตอนนี้ พบผู้ป่วยโรคนี้ไปแล้ว 39 ราย รวมถึงทางอนามัยโลก ประกาศให้โรคฝีดาษลิงเป็นภาวะฉุกเฉินในแอฟริกาแล้ว

จีเด อิดริส ผู้อำนวยการใหญ่ของศูนย์ควบคุมและป้องกันโรคแห่งไนจีเรีย (หรือ NCDC) ออกแถลงต่อผู้สื่อข่าวเกี่ยวกับการระบาดของโรคฝีดาษลิงในประเทศขณะนี้ว่า ในปีนี้ ประเทศไนจีเรียพบผู้ป่วยฝีดาษลิงที่จำนวน 39 ราย แต่ยังไม่มีรายงานของผู้เสียชีวิต โดยโรคฝีดาษลิงได้กลายเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุข ที่มีความน่ากังวลระดับนานาชาติแล้ว NCDC กำลังเพิ่มความเข้มงวดในการเฝ้าระวังทั่วประเทศไนจีเรีย เพื่อตรวจจับและตอบสนองต่อการป่วยใหม่ๆ อย่างรวดเร็ว โดยตามแนวทางนี้ สนามบินนานาชาติที่กำหนด 5 แห่ง ท่าเรือสำคัญบางแห่ง การข้ามพรมแดนได้รับการยกระดับให้อยู่ในระดับการเฝ้าระวังสูงสุด แบบฟอร์มการแจ้งข้อมูลได้ถูกแจกจ่ายไปยังสายการบินต่างๆ ที่มีการระบาดของโรคฝีดาษลิงอย่างต่อเนื่อง ในช่วง 90 วันที่ผ่านมา

อิดริส ระบุต่อว่า ทางการกำลังแจกจ่ายเครื่องมือวินิจฉัยโรคให้กับเมืองต่างๆ รวมถึงยังได้ออก คำแนะนำสาธารณะ เกี่ยวกับวิธีป้องกันการแพร่กระจายของไวรัสฝีดาษลิง รวมถึงการจำกัดการสัมผัสกับสัตว์ เช่น หนูและลิงด้วย นอกจากนี้ NCDC ยังพิจารณาการฉีดวัคซีนให้กับกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้วย เนื่องจากไนจีเรียคาดว่า จะได้รับวัคซีนใหม่ประมาณ 1 หมื่นโดส ที่เพิ่งได้รับการอนุมัติให้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน ทั้งนี้ เราจะมีการประชุมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเช่น กระทรวงสิ่งแวดล้อมและเกษตรกรรม เพื่อขอการสนับสนุนและประสานงานร่วมกันต่อไป

ด้านมูฮัมหมัด อาลี พาเต้ รัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุขของไนจีเรีย กล่าวว่า ขณะนี้ไนจีเรียกำหนดให้ผู้เดินทางทุกคนต้องกรอกแบบฟอร์มสุขภาพออนไลน์ก่อนเดินทางมาถึง เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด ขณะที่โอเดียโนเซน เอเฮียคาเมน ซึ่งเป็นหัวหน้ากลุ่มงานด้านเทคนิคโรคฝีดาษลิงของไนจีเรีย ได้ให้สัมภาษณ์กับสถานีวิทยุกระจายเสียงท้องถิ่นระบุว่า จนถึงขณะนี้ ไนจีเรียพบเพียงกรณีของเชื้อสายพันธุ์ที่ยังไม่รุนแรงเท่านั้น โดยไนจีเรียพบผู้ป่วยโรคดังกล่าวรายแรกในปี 1971 (พ.ศ. 2514) และมีการยืนยันว่ามีผู้ป่วยทุกปี นับตั้งแต่ปี 2017 (พ.ศ. 2560)

ทั้งนี้ ทางองค์การอนามัยโลก (หรือ WHO) ได้ออกมาประกาศว่า การระบาดของโรคฝีดาษลิงในแอฟริกา ถือเป็นภาวะฉุกเฉินด้านสาธารณสุขระดับโลกแล้ว ด้วยจำนวนผู้ป่วยที่เพิ่มขึ้นในสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก และการแพร่กระจายไปยังประเทศใกล้เคียง องค์การอนามัยโลกได้เรียกประชุมผู้เชี่ยวชาญ เพื่อศึกษาการระบาด ซึ่งดร. เทดรอส อัดฮานอม เกเบรเยซุส ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก ได้กล่าวหลังการประชุมว่า องค์การอนามัยโลกมุ่งมั่นที่จะประสานงานการตอบสนองทั่วโลก โดยทำงานอย่างใกล้ชิดกับแต่ละประเทศที่ได้รับผลกระทบ และใช้ประโยชน์จากการมีอยู่ขององ์กรในพื้นที่ เพื่อป้องกันการแพร่ระบาด รักษาผู้ติดเชื้อ และช่วยชีวิตผู้คน

สำหรับโรคฝีดาษลิงนั้น เกิดจากไวรัสที่แพร่กระจายสู่มนุษย์โดยสัตว์ที่ติดเชื้อ และยังสามารถแพร่จากคนสู่คนได้ โดยการสัมผัสทางกายภาพแบบใกล้ชิดอีกด้วย โรคนี้ทำให้เกิดอาการไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ และมีรอยตุ่มขนาดใหญ่คล้ายฝีที่ผิวหนัง นักวิเคราะห์ด้านสุขภาพกล่าวว่า เชื้อสายพันธุ์ใหม่นี้สร้างความวิตกและจำเป็นต้องมีการตอบสนองระหว่างประเทศ ที่ประสานงานกันเพื่อควบคุมไม่ให้แพร่ระบาดได้

#บกข่าวทีวี

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น