X

ด.ญ.สหรัฐฯ ละเมอเดินหลงป่า-โดรนช่วยชีวิต ปลอดภัย

ด.ญ.สหรัฐฯ ละเมอเดินหลงป่า-โดรนช่วยชีวิตปลอดภัย

เรื่องราวน่าสนใจจากสหรัฐฯ สะท้อนความสำคัญของเทคโนโลยีโดรน ในการกู้ภัยและช่วยชีวิต เด็กหญิง 10 ขวบ ละเมอเดินออกจากบ้านกลางดึก คนหลายร้อยช่วยกันตามหาไม่เจอ กระทั่งได้โดรนถ่ายภาพจับความร้อน พบเด็กนอนคุดคู้ในป่าในอีกหนึ่งวันเต็มๆ

เด็กหญิงเพย์ตัน เซนทิกเนิน (Peyton Saintignan) หายตัวไป หลังจากละเมอเดินออกไปนอกบ้าน ที่เมืองดับเบอร์รี รัฐลุยเซียนา เวลาประมาณ 4 ทุ่ม ของวันที่ 14 กันยายน ตอนที่สำนักงานนายอำเภอเขตเวบสเตอร์ ซึ่งรับผิดชอบพื้นที่ ได้รับแจ้งเหตุนั้น ครอบครัวและเพื่อนบ้านช่วยกันออกตามหาเด็กประมาณ 1 ชั่วโมงแล้ว ก่อนที่สำนักงานนายอำเภอ ตำรวจลุยเซียนา และอาสาสมัครหลายร้อยคน กระจายกันออกตามหา

กล้องดักถ่ายภาพสัตว์ที่พรานล่ากวางติดตั้งไว้ในป่าลึก จับภาพเด็กหญิงขณะกำลังเดินอยู่ในเช้าวันต่อมา และเป็นเบาะแสเดียวที่คณะค้นหาเพย์ตันใช้ติดตามร่องรอย แต่ยังไม่เจอ

กระทั่ง จอช โคลเบอร์ จากบริษัท “โดรน เมเนจเมนต์ เซอร์วิสเซส” ในรัฐอาร์คันซอส์ ทราบข่าวว่า มีคนจำนวนมากกำลังช่วยกันตามหาเด็กหญิงคนหนึ่ง จึงเสนอตัวช่วย เขาเดินทาง 64 กิโลเมตรจากบ้าน ไปถึงที่นั่นในวันที่ 15 กันยายน พร้อมกับโดรนที่มีความสามารถถ่ายภาพความร้อน ( thermal image) จากบริษัทของเขาเอง

หลังจากติดตั้งอุปกรณ์ต่าง ๆ รวมถึงจอทีวีขนาดใหญ่เรียบร้อยแล้ว ก็ส่งโดรนขึ้นบิน ภายในเวลา 20 นาทีเท่านั้น โดรนจับภาพเด็กหญิงเพย์ตัน นอนคุดคู้อยู่บนพื้นป่า เวลาประมาณ 5 ทุ่มของวันที่ 15 ก.ย.
กล้องโฟกัสไปที่เด็ก ขณะผู้ควบคุมโดรนและคนอื่น ๆ ลุ้นกันใจจดจ่อ ระหว่างรอให้กู้ภัยในป่า มุ่งไปยังจุดที่พบเพย์ตัน เพราะตอนนั้นเด็กหญิงนอนไม่กระดุกกระดิกเลยกระทั่งค่อย ๆ ยกศีรษะขึ้นเมื่อถูกปลุก เรียกเสียงเฮจากทีมกู้ภัยระยะไกล พากันตะโกนว่า เด็กตื่นแล้ว เด็กยังมีชีวิตอยู่

คลิปจากโดรน แสดงให้เห็นถึงตอนที่เพื่อนของพ่อเด็กที่ช่วยตามหา เดินไปปลุก ก่อนพากลับบ้าน

ขณะพบตัว เพย์ตันอยู่ห่างจากบ้านเป็นระยะทางกว่า 1.5 ไมล์ หรือประมาณ 2.4 กิโลเมตร และห่างจากกล้องดักถ่ายภาพสัตว์ที่จับภาพของเธอได้ 275 เมตร

นายอำเภอพาร์คเกอร์ กล่าวว่า เป็นปาฏิหาริย์อย่างแท้จริง ที่เด็กหญิงไม่ได้รับอันตราย นอกจากยุงกัด ขณะที่บริษัท โดรน เมเนจเมนต์ เซอร์วิสเซส โพสต์เฟซบุ๊กว่า รู้สึกยินดีที่ได้มีส่วนช่วยค้นหาและช่วยชีวิต ประสบการณ์ครั้งนี้ย้ำเตือนอย่างทรงพลังว่า เทคโนโลยีสำคัญแค่ไหนในสถานการณ์วิกฤติ

ครอบครัวของเพย์ตัน บอกตำรวจว่า ลูกสาวเคยละเมอเดิน แต่ไม่เคยถึงขั้น เดินออกไปนอกบ้านมาก่อน

การละเมอเดิน / sleepwalking หรือชื่อทางการ ซอนแนมบิวลิซึ่ม (somnambulism) ยังไม่รู้แน่ชัดว่า สาเหตุเกิดจากอะไร แต่นักวิจัยเชื่อว่า พันธุกรรมอาจมีส่วนอย่างสำคัญ

หากพ่อหรือแม่มีประวัติละเมอเดิน มีโอกาส 47% ที่ลูกจะมีอาการเดียวกัน หากพ่อและแม่มีประวัติด้วยกันทั้งคู่ โอกาสจะเพิ่มเป็น 62% การละเมอเดินมักเกิดขึ้น 1 ถึง 2 ชั่วโมงหลังนอนหลับ เด็กจะมีอาการนี้มากกว่าผู้ใหญ่ แต่ส่วนใหญ่จะหายไปเองเมื่อโตเป็นวัยรุ่น นอกจากพันธุกรรมที่เชื่อมโยงกับกรณีส่วนใหญ่ อาจมีปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น ความเครียด นอนน้อย การนอนแบบหลับๆตื่นๆ โรคเกี่ยวกับสมอง และการใช้ยารักษาอาการหลับยากบางชนิด

#บก.ข่าวทีวี

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น