X

ทรัมป์ สนใจ 2 ประเด็น ในแผนของเซเลนสกี

ทรัมป์ สนใจ 2 ประเด็น ในแผนของเซเลนสกี

สื่ออังกฤษเผย ทรัมป์อาจสนใจในแผนชัยชนะของเซเลนสกีอยู่ 2 ประเด็น และยูเครนก็อาจเสนอให้อำนาจในการคัดกรองการลงทุนในประเทศแก่ทรัมป์อีกด้วย

ไฟแนนเชียลไทมส์ สื่อของอังกฤษรายงานโดยอ้างข้อมูลจากแหล่งข่าว ที่เป็นเจ้าหน้าที่ยูเครนและยุโรปว่า พันธมิตรของยูเครนในยุโรปและสหรัฐฯ รวมถึงนักการเมืองรีพับลิกันที่มีอิทธิพล ได้ให้คำแนะนำแก่ประธานาธิบดีโวโลดิมีร์ เซเลนสกีของยูเครน เกี่ยวกับการกำหนดข้อเสนอที่ดีขึ้น เพื่อกระตุ้นความร่วมมือที่ใกล้ชิดระหว่างสหรัฐและยูเครน แทนที่จะให้สหรัฐตัดความช่วยเหลือสำคัญสำหรับยูเครนออกไป อย่างที่ยูเครนกำลังหวาดหวั่นอยู่ในขณะนี้ หลังโดนัล ทรัมป์ ชนะการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐ

ทั้งนี้ แผนกำหนดข้อเสนอดังกล่าว เกี่ยวข้องกับการพัฒนาแผนชัยชนะของยูเครน โดยจะมุ่งเป้าไปที่ทรัมป์โดยเฉพาะ ซึ่งก็ได้มีการนำแนวคิด 2 ประเด็นมาไว้ในแผนดังกล่าว ข้อเสนอเหล่านี้ถูกนำเสนอต่อทรัมป์ เมื่อเซเลนสกีพบกับเขาในนิวยอร์ก เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา โดยข้อเสนอแรกคือ จะแทนที่กองกำลังสหรัฐที่ประจำการอยู่ในยุโรป ด้วยกองกำลังยูเครน หลังความขัดแย้งสิ้นสุดลง

ขณะที่อีกข้อเสนอหนึ่งคือ การเข้าถึงแหล่งแร่ธาตุของยูเครนอย่างมีสิทธิพิเศษ ซึ่งแนวคิดของข้อเสนอนี้ เป็นการริเริ่มแนะนำจากลินด์เซย์ เกรแฮม วุฒิสมาชิกของพรรครีพับลิกัน ที่เสนอให้แบ่งปันทรัพยากรธรรมชาติของยูเครนกับพันธมิตรทางตะวันตก โดยเกรแฮมได้บอกว่า ยูเครนมีแร่ธาตุมูลค่านับล้านล้านดอลลาร์ ที่อาจส่งผลดีต่อเศรษฐกิจของสหรัฐ

นอกจากนี้ ผู้นำธุรกิจในยูเครนก็อยู่ในระหว่างการหารือกับรัฐบาล เกี่ยวกับการเสนออำนาจในการคัดกรองการลงทุน ให้กับทรัมป์ด้วย ซึ่งจะช่วยให้ทรัมป์สามารถเลือกผู้ที่สามารถทำธุรกิจในประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้ แหล่งข่าวได้เผยต่อว่า บุคคลหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับการวางแผน ได้อธิบายถึงแนวคิดนี้ว่าคือ “ABC – Anybody But China” (หรือหมายถึงใครก็ได้ ที่ไม่ใช่จีน)

ในเรื่องนี้อาจส่งผลดีต่อทรัมป์เป็นพิเศษ โดยอุตสาหกรรมของยูเครนที่ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีและวัสดุจากจีน เช่น อุตสาหกรรมโทรคมนาคมนั้น อาจหันไปหาซัพพลายเออร์จากสหรัฐแทน และดึงดูดการลงทุนจากตะวันตกได้มากขึ้น อย่างไรก็ดี แนวคิดนี้ยังอยู่ในช่วงเริ่มต้น แต่ผู้นำธุรกิจบางส่วนที่ใกล้ชิดกับสำนักประธานาธิบดีเชื่อว่า แนวคิดนี้อาจสามารถดึงดูดใจทรัมป์ได้

ในช่วงปลายเดือนกันยายน เซเลนสกีเดินทางเยือนสหรัฐเพื่อเสนอแผนยุติความขัดแย้ง ซึ่งการนำไปปฏิบัติก็จะขึ้นอยู่กับสหรัฐ โดยยูเครนอธิบายว่า แนวคิดของเซเลนสกีคือ การเพิ่มแรงกดดันต่อรัสเซีย โดยเฉพาะอย่างยิ่งผ่านการโจมตีด้วยอาวุธพิสัยไกล และผลักดันให้นาโตเชิญยูเครนมาเป็นสมาชิก รวมถึงเริ่มการเจรจาตามสูตรสันติภาพของยูเครน ซึ่งเซเลนสกีพยายามที่จะบังคับให้พันธมิตรในยุโรป ใช้แผนชัยชนะของเขาให้ได้ แต่แผนดังกล่าวยังไม่ได้รับการตอบรับอย่างที่ยูเครนคาดหวังแต่อย่างใดเลย

#บก.ข่าวทีวี

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น