X

ตุรกี ตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล

-อิสราเอลถูกโดดเดี่ยว! ตุรกีประกาศตัดสัมพันธ์ทางการค้าทั้งหมด จนกว่าอิสราเอลจะปล่อยให้สิ่งของบรรเทาทุกข์เข้าสู่กาซาได้อย่างสะดวก และไม่ถูกขัดขวาง
-สำนักข่าวต่างประเทศรายงานว่า กระทรวงพาณิชย์ตุรกีออกแถลงการณ์ประกาศว่า ตุรกีได้ยุติการค้าขายทั้งหมด ทุกชนิดและทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นการนำเข้าและส่งออกกับอิสราเอล จากเหตุผลเรื่องปฏิบัติการสู้รบในฉนวนกาซา พร้อมประกาศด้วยว่า มาตรการระงับการนำเข้าส่งออกสินค้าจากอิสราเอล จะมีผลบังคับใช้จนกว่าอิสราเอลจะยอมปล่อยให้ความช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมเข้าสู่กาซาโดยสะดวก เพียงพอและไม่มีการขัดขวาง
-ตุรกีเผยว่า มาตรการตอบโต้อิสราเอลครั้งนี้ ถือเป็นการตอบโต้ระยะที่สอง หลังจากที่ในเดือนที่แล้ว ตุรกีได้สั่งจำกัดการส่งออกสินค้าจำนวน 54 ประเภทไปยังอิสราเอล ไม่ว่าจะเป็นอลูมิเนียม, เหล็ก, ผลิตภัณฑ์ก่อสร้างและปุ๋ยเคมี ซึ่งทางอิสราเอลก็ตอบโต้ด้วยการตั้งกำแพงภาษีทันที
-ด้านนายอิสราเอล แค็ทซ์ รัฐมนตรีต่างประเทศอิสราเอลก็แถลงตอบโต้กลับและกล่าวหาประธานาธิบดีเรเจ็บ ทายยิบ แอร์โดอัน ของตุรกีว่า ทำตัวเป็นเผด็จการ และละเมิดข้อตกลงทางการค้ากับอิสราเอล พร้อมกันนี้ แค็ทซ์ยังได้มีคำสั่งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งแก้ปัญหาโดยทันที โดยให้รีบติดต่อและนำเข้าสินค้าจากประเทศอื่นๆทดแทนสินค้าจากตุรกี รวมทั้งให้จัดหาสินค้าที่ผลิตภายในประเทศ เพื่อป้องกันการขาดแคลนสินค้าที่จำเป็น ทั้งนี้ มูลค่าการค้าระหว่างอิสราเอลและตุรกีปีที่แล้ว อยู่ที่ประมาณ 7 พันล้านดอลล่าร์สหรัฐ หรือประมาณ 2 แสน 6 หมื่นล้านบาท
-ขณะที่กลุ่มฮามาสก็ได้ออกมากล่าวว่า ประกาศของตุรกีครั้งนี้นั้น คือความกล้าหาญและสะท้อนให้เห็นถึงการสนับสนุนสิทธิของชาวปาเลสไตน์ ทั้งนี้ ตุรกียังคงรักษาความสัมพันธ์กับผู้นำฮามาส และไม่ถือว่าฮามาสเป็นกลุ่มก่อการร้ายแต่อย่างใด โดยในเดือนเมษายน แอร์โดอันยังได้พบกับนายอิสมาอิล ฮานีเยห์ ผู้นำของกลุ่มฮามาสและบอกกับฮานีเยห์ว่า อิสราเอลจะต้องชดใช้ราคาของความโหดร้ายที่เกิดขึ้นกับชาวปาเลสไตน์อย่างแน่นอน ในสักวันหนึ่ง
-สำหรับรัฐบาลแอร์โดอันนั้น ประสบกับความพ่ายแพ้ในการเลือกตั้งท้องถิ่นเมื่อเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่ามกลางกระแสกดดันอย่างหนักจากชาวตุรกี ที่ต้องการให้รัฐบาล ตัดสัมพันธ์ทางการค้ากับอิสราเอล นอกจากนี้ แอร์โดอันยังถูกวิจารณ์ว่าทำตัวหลายมาตรฐาน โดยต่อหน้าก็ตำหนิประณามอิสราเอลแต่ก็ยังไม่ยุติความสัมพันธ์ทางการค้าเสียที และสำหรับการตัดสินใจครั้งนี้ แอร์โดอันได้บอกกับสมาคมธุรกิจในตุรกีว่า ตนคาดว่าจะเผชิญกับการตอบโต้จากประเทศตะวันตก แต่ตุรกีได้ตัดสินใจที่จะยืนเคียงข้างผู้ถูกกดขี่
-ตุรกีประกาศรับรองรัฐอิสราเอลในปี 2492 ภายใต้รัฐบาลของแอร์โดอัน แต่ความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ประเทศ เพิ่งจะมาดีต่อกันในช่วงไม่กี่ปีมานี้ โดยในปี 2565 ทั้ง 2 ประกาศว่าพวกเขาจะฟื้นฟูความสัมพันธ์ทางการทูตอย่างสมบูรณ์ แต่ความหวังก็ได้ถูกทำลายลง เมื่ออิสราเอลส่งกองทัพเข้าสู่กาซาหลังเหตุโจมตีวันที่ 7 ตุลาคม 2566
-ทั้งนี้ ความโดดเดี่ยวระหว่างประเทศของอิสราเอลเพิ่มมากขึ้น บางประเทศได้ลดระดับความสัมพันธ์ในขณะที่บางประเทศได้ตัดความสัมพันธ์ทั้งหมดออกไป พันธมิตรที่ใกล้ชิด เช่น สหรัฐ อังกฤษและเยอรมนี แม้จะยังคงสนับสนุนอิสราเอลอย่างแข็งขัน แต่ก็มีการวิพากษ์วิจารณ์ในหลายนโยบายของอิสราเอลอย่างเปิดเผยมากขึ้นเช่นกัน

#บกข่าวทีวี

อัปเดตรายการ TOPNEWS

ดู LIVE รายการ

เราใช้ คุ้กกี้ เพื่อให้ทุกคนได้ประสบการณ์การใช้งานที่ดียิ่งขึ้น