โครงการจำนำข้าวในรัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ถือเป็นบาดแผลใหญ่ของรัฐบาลเพื่อไทยที่ตามหลอกหลอนถึงปัจจุบัน เพราะโครงการดังกล่าวเกิดการทุจริตจนทำให้รัฐเสียหายกว่า 8 แสนล้านบาท
ล่าสุดเมื่อวันที่ 6 พฤษภาคมที่ผ่านมารองนายกฯภูมิธรรม เวชยชัย นำกองทัพสื่อมวลชน ข้าราชการ และผู้ส่งออกลงพื้นที่ จ.สุรินทร์ ตรวจสอบข้าวโครงการจำนำในสมัยรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ภายในโกดังบริษัทพูนผลเทรดดิ้ง หลัง 4 โดยเป็นข้าวสารที่เก็บไว้ตั้งแต่วันที่ 14 มีนาคม 2557 ถึง 29 เมษายน 2557 มีปริมาณรวมทั้งสิ้น 9,567 ตัน หรือ 94,637 กระสอบ จาก 6 โรงสี ซึ่งก่อนหน้านี้ได้ระบายข้าวสารไปแล้ว 4 ครั้ง คงเหลือ 3,356 ตัน หรือ 32,879 กระสอบ
ทั้งนี้ในการตรวจสอบดังกล่าวรองนายกฯภูมิธรรมมีอีเวนท์ใหญ่ด้วยการนำข้าวที่เก็บอยู่ในโกดังมาหุงรับประทานร่วมกับเจ้าของโรงสี ผู้ส่งออก ผู้ว่าราชการจังหวัด และสื่อมวลชล เพื่อพิสูจน์ว่า ข้าวที่เก็บอยู่ในโกดัง 10 ปีสามารถรับประทานได้อย่างไร้ข้อสงสัย โดยนายภูมิธรรม ยืนยันว่า จากนี้ไปภายในหนึ่งสัปดาห์จะสามารถเปิดประมูลข้าวเพื่อนำเงินเข้ารัฐจ่ายคืนเจ้าของโกดัง ตามความเหมาะสม โดยจำนวนข้าวทั้งหมดในโกดังจังหวัดสุรินทร์มี 150,000 กระสอบ เป็นข้าวปี 56/57 โดยเป็นข้าวที่เก็บรักษาอย่างดีตามมาตรฐานด้วยการรมยาทุก 2 เดือน
แม้จะมีคำยืนยันจากนายภูมิธรรมว่า ข้าว 10 ปีในโครงการจำนำข้าวกินได้แน่อนน แต่เชื่อว่ายังมีประชาชนหลายคนสงสัยว่า ข้าว 10 ปี กินได้จริงหรือไม่ ซึ่งเรืองนี้มีคำตอบจาก ดร.สมพร อิศวิลานนท์ นักวิชาการอาวุโส สถาบันคลังสมองของชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านข้าวที่ให้ความเห็นไว้อย่างน่าสนใจว่า การกล่าวว่าข้าว 10 ปียังสามารถบริโภคได้อาจจะเป็นการพูดที่เร็วเกินไป เพราะต้องคำนึงถึงความปลอดภัยของผู้บริโภค หรือ food security เพราะตามปกติแล้วข้าวหอมมะลิจะสามารถเก็บได้ ประมาณ 3-4 ปี โดยข้าวเก่าจะมีราคาสูงกว่าข้าวใหม่ แต่ในกรณีข้าวที่ถูกเก็บไว้เป็น 10 ปี ในโครงการรับจำนำข้าวอาจเกิดจากข้าวผิดมาตรฐาน หรือข้าวไม่ได้มาตรฐานในยุคนั้น
สำหรับการเก็บข้าวที่ดี จะต้องมีการรมควันกันมอด และรักษาความชื้นให้ได้มาตรฐาน ก็จะทำให้อายุของข้าวอยู่ได้นานถึง 4-5 ปี แต่ถึงอย่างไร สีของข้าวสารก็จะมีความเหลืองมากขึ้น เนื่องจากโครงการรับจำนำข้าว มีการเก็บข้าวในลักษณะเป็นข้าวสาร ซึ่งถือเป็นจุดบอดของโครงการนี้ เพราะหากเก็บเป็นข้าวเปลือกจะสามารถทำให้ข้าวมีอายุได้ยาวนานมากกว่าเก็บเป็นข้าวสาร แต่ถึงอย่างไรหากเป็นข้าวเปลือกที่เก็บเอาไว้นาน เมื่อเข้าสู่โรงสีก็จะทำให้ข้าวสารที่ได้มีโอกาสหักได้สูงขึ้น การเก็บข้าวสารมีความยากมากกว่าการเก็บข้าวเปลือก เพราะหากรักษาความชื้นไม่ได้ การรมควันไม่ดี จะทำให้เกิดเชื้อรา
อย่างไรก็ตามสำหรับข้าวที่รองนายกฯภูมิธรรมได้ลงไปตรวจสอบคาดว่าเป็นข้าวหอมมะลิเก่า ซึ่งเจ้าของโกดังอาจเก็บไว้ในสภาพดี แต่อย่างไรก็ตามข้าวสารที่เก็บเอาไว้เป็นระยะเวลา 10 ปี ย่อมต้องเสื่อมคุณภาพลง ในทางกายภาพที่สังเกตได้ด้วยตาเปล่าคือเมล็ดข้าวสารจะมีสีเหลือง ซึ่งจะมี 2 ลักษณะคือเมล็ดข้าวยุ่ยและไม่ยุ่ย แต่ถ้าไม่ถึงกับเน่า เมล็ดข้าวไม่ยุ่ยก็สามารถนำมาปรับสภาพได้ แต่หากนำมาหุงบริโภค ข้าวที่เก็บมานาน 10 ปี อาจจะมีกลิ่นชื้นอับอยู่บ้าง ซึ่งการจะเก็บข้าวให้นานถึง 10 ปี จะต้องจัดเก็บในรูปแบบสุญญากาศ
ขณะเดียวกันในด้ายความปลอดภัยของผู้บริโภค ยังเป็นสิ่งที่ต้องคำนึงถึง เพราะหากจะนำมาบริโภคแล้ว ควรจะต้องมีการตรวจเพิ่มเติม เช่นการตรวจหาเชื้อรา อะฟลาท็อกซิน และยังต้องคำนึงถึงสารเคมีที่อาจตกค้างจากการรมยาป้องกันมอด ทุกๆ 4-6 เดือน เป็นระยะเวลานานถึง 10 ปีด้วย
นี่คือคำเฉลยให้คลายข้อข้องใจว่า ข้าวหอมมะลิ 10 ปีโครงการจำนำข้าวสามารถกินได้ แต่ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกระบวนการเก็บที่ได้มาตรฐานอย่างเข้มข้น โดยจะเห็นได้จากในยุค คสช.ได้มีการตรวจยึดข้าวมาประมาณ 18 ล้านตัน แต่พบว่ามีข้าวที่ได้มาตรฐานอยู่ไม่เกิน 3 ล้านตันเท่านั้น ดังนั้นข้าว 10 ปีจะกินได้หรือไม่อาจไม่ใช่ปัจจัยสำคัญ หากนำไปเปรียบเทียบกับความเสียหายที่เกิดขึ้นกับประเทศมากว่า 10 ปีเช่นกัน
#ชิมข้าว #โครงการจำนำข้าว #ภูมิธรรม #ยิ่งลักษณ์ #สมพรอิศวิลานนท์ #สุรินทร์ #อีเวนท์ใหญ่ #ชินวัตร #ท็อปนิวส์ #บกข่าวทีวี #โกดังข้าว