-มาเลเซียเตรียมนำเสนอ “การทูตอุรังอุตัง” กระชับสัมพันธ์ประเทศนำเข้าน้ำมันปาล์ม เสนอให้ลิงอุรังอุตัง เป็นของขวัญ หวังประชาคมโลกคลายความวิตกผลกระทบจากการทำสวนปาล์มน้ำมัน
-นายโจฮารี อับดุล กานี รัฐมนตรีเกษตรกรรมและสินค้าโภคภัณฑ์มาเลเซีย กล่าวว่า ประเทศคู่ค้าน้ำมันปาล์มของมาเลเซีย มีความวิตกผลกระทบจากการทำสวนปาล์มน้ำมันต่อสภาพแวดล้อมมากขึ้นเรื่อยๆ แต่มาเลเซียก็สามารถพิสูจน์ให้โลกเห็นได้ถึงความมุ่งมั่นอนุรักษ์ความหลากหลายทางชีวภาพ และการรักษาสมดุลระหว่างการตอบสนองของความต้องการความมั่นคงทางอาหาร กับการปกป้องสภาพแวดล้อมอยู่เสมอ จึงมีแนวคิดที่จะใช้ “การทูตอุรังอุตัง” เหมือนกับจีนที่ประสบความสำเร็จในการใช้ การทูตแพนด้า ในหลากหลายมิติทั่วโลก
-โจฮารีกล่าวต่อว่า นี่เป็นยุทธศาสตร์การทูต ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประเทศคู่ค้าและความสัมพันธ์กับต่างประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งประเทศนำเข้ารายใหญ่อย่างสหภาพยุโรป อินเดีย และจีน โดยมาเลเซียในตอนนี้ ไม่สามารถใช้แนวทางตั้งรับในประเด็นน้ำมันปาล์มได้ แต่จำเป็นต้องแสดงให้ประเทศทั่วโลกรู้ว่า มาเลเซียคือผู้ผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืน
-นอกจากนี้ โจฮารียังเรียกร้องไปถึงบริษัทน้ำมันปาล์มรายใหญ่ ให้จับมือกับองค์กรนอกภาครัฐ ร่วมกันดูแลอนุรักษ์ และปลุกจิตสำนึกเกี่ยวกับสัตว์ป่าอันเป็นเอกลักษณ์ของมาเลเซีย ให้คู่ค้าทั่วโลกได้เห็น ซึ่งความคิดริเริ่มนี้จะเป็นตัวอย่างการทุ่มเทของมาเลเซีย ในการอนุรักษ์พันธุ์สัตว์ป่า และรับประกันความยั่งยืนของป่าไม้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน
-สำหรับแผนการนี้ของมาเลเซียมีขึ้น หลังจากสหภาพยุโรป เห็นชอบเมื่อปีที่แล้ว ห้ามนำเข้าสินค้าโภคภัณฑ์ที่เชื่อมโยงกับการตัดไม้ทำลายป่า จนกระทบไปถึงอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มด้วย ขณะที่มาเลเซีย ซึ่งเป็นผู้ผลิตน้ำมันปาล์มรายใหญ่อันดับสองของโลก รองจากอินโดนีเซีย มองว่า กฎหมายของอียูเป็นการเลือกปฏิบัติ และมีเป้าหมายเพื่อปกป้องตลาดน้ำมันพืชของอียูเองเท่านั้น
-ทั้งนี้ ทางเวบไซต์องค์กรอนุรักษ์ธรรมชาติ WWF ได้มีการระบุว่า ลิงอุรังอุตัง เป็นสัตว์ป่าใกล้สูญพันธุ์ โดยขณะนี้ เหลือประชากรอยู่บนเกาะบอร์เนียวไม่ถึง 1 แสน 5 พันตัว ซึ่งสำหรับวิธีการที่ใช้ลิงอุรังอุตังมาเป็นเครื่องมือทางการทูต และการอนุรักษ์สัตว์ป่านั้น แนวทางนี้ มีความคล้ายคลึงกับที่จีน เคยประสบความสำเร็จในการใช้แพนด้าเป็นทูตมาก่อนหน้านี้ โดยรัฐบาลจีนได้มอบแพนด้าเป็นของขวัญให้กับประเทศอื่นๆ มาตั้งแต่ปี 1984 เพื่อเป็นสัญลักษณ์ของมิตรภาพ ความปรารถนาดี และเพื่อกระชับความสัมพันธ์ทางการทูต
-ทั้งนี้ ในยุคปัจจุบัน จีนได้มอบแพนด้าเป็นของขวัญทางการทูตแก่ประเทศต่างๆ เช่น สหรัฐ ญี่ปุ่น สหราชอาณาจักร ฝรั่งเศส และเยอรมนี แต่ในช่วงไม่กี่ทศวรรษที่ผ่านมา แนวทางปฏิบัติได้เปลี่ยนจากการให้ของขวัญ เป็นการให้ยืมแพนด้าแทน นอกจากนี้ การทูตแพนด้ายังสามารถใช้เป็นแนวทางสำหรับจีน ในการส่งเสริมภาพลักษณ์ของตนในต่างประเทศ โดยเป็นการแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นในการอนุรักษ์สัตว์ป่า และยังสร้างความสัมพันธ์ที่แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น กับประเทศที่ได้รับแพนด้าด้วย เพราะในหลายกรณี การไปถึงของแพนด้าในประเทศหนึ่งๆ ได้ก่อให้เกิดความสนใจจากสาธารณชนอย่างมาก และต่อยอดไปสู่การแลกเปลี่ยนทางการท่องเที่ยวและวัฒนธรรมได้อีกด้วย ซึ่งก็ต้องมาจับตาดูกันว่า มาเลเซียจะสามารถประสบความสำเร็จกับการทูตอุรังอุตัง เหมือนอย่างที่จีนประสบความสำเร็จจากการทูตแพนด้ามาแล้ว ได้หรือไม่
#บก.ข่าวทีวี